ความสัมพันธ์จีน-ไทยมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างในปีนี้ ปีหน้าถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย จะมีแนวโน้มอะไรใหม่ ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศบ้าง
จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ เป็นญาติที่ดี ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยสายเลือด และเป็นหุ้นส่วนที่ดี ซึ่งมีอนาคตร่วมกัน จีนและไทยติดต่อกันมานับพันปี ความร่วมมือฉันมิตรมีมาช้านานและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ ปี 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนไทย และได้พบปะหารือกับผู้นำของไทย และบรรลุฉันทามติหลายประการ ซึ่งจะเป็นการผลักดันความสัมพันธ์จีน-ไทย ก้าวสู่ยุคใหม่ของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา ความสัมพันธ์จีน-ไทยยังคงรักษาแนวโน้มการพัฒนาที่ดี และบรรลุความก้าวหน้าครั้งใหม่ที่สำคัญในหลายด้าน
ประการแรก มีการเยือนระหว่างกันของบุคคลระดับสูง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีนอีกครั้ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนหลายเมืองในจีน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงคมนาคมเยือนจีน
ขณะเดียวกัน นายหวัง อี้ กรรมการกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน และนายเสวี่ยเค่อหลายถี จาเค่อเอ่อร์ รองประธานคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน เยือนไทย ซึ่งการแลกเปลี่ยนระดับสูงทวิภาคีที่สำคัญเหล่านี้ ได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดี
ประการที่สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยเป็นเวลา 11 ปีติดต่อกัน การค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังคงรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวและการพัฒนา ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปจีนยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประมาณ 40% สินค้าเกษตรของไทยถูกส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะทุเรียนของไทย ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังประเทศจีนคิดเป็น 97% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปยังต่างประเทศ เรายินดีต้อนรับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดจีน นอกจากนี้ จีนยังกลายเป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทยเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย.ปีนี้ การลงทุนของจีนในไทยมีมูลค่าสูงถึง 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28,036.78 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 190% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทจีนได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญ ซึ่งมีความหมายสำคัญมากต่อการพัฒนาในอนาคตของไทย
ประการที่สาม การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านสังคม วัฒนธรรมมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 จีนและไทยยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน ระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.ปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยือนจีนสูงถึง 160,000 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19
ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยมีมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าพึงพอใจ ในเวลาเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนจำนวนมากและเกิดความสำเร็จใหม่ ๆ มากมายในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา กีฬา วัฒนธรรม และศิลปะ ยานอวกาศ “ฉางเอ๋อ 7” ที่จะส่งสู่อวกาศของจีนในปี 2569 จะบรรทุกเครื่องมือและอุปกรณ์ของไทย ไม่นานมานี้ ครูอาสาสมัครชาวจีนกว่า 800 คน เดินทางมายังไทย พวกเขาจะไปสอนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วไทย เพื่อช่วยงานสอนภาษาจีน ตามข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการของไทย
ประการที่สี่ ความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงมีไฮไลท์ใหม่ ๆ หลายประเด็น กองทัพจีนและไทยมีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่ดีมาตลอด ทั้งสองประเทศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามพรมแดน การฉ้อโกงทางออนไลน์ และร่วมกันปกป้องความมั่นคงของชาติและเสถียรภาพทางสังคม
หลังจีนช่วยเหลือไทยในการช่วยคนไทยมากกว่า 600 คนออกจากภาคเหนือของเมียนมา เมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ไทยช่วยเหลือจีน ในการช่วยคนจีนมากกว่า 800 คน ออกจากพื้นที่เมียวดี ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาเดียวกัน จีนและไทยมีการสื่อสารและการประสานงานที่ดีในประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาค และร่วมกันส่งเสริมการแก้ไขปัญหาเมียนมา ด้วยการส่งเสริมการเจรจาและการปรองดอง ไทยยึดมั่นในหลักการจีนเดียวในประเด็นไต้หวัน และสนับสนุนภารกิจที่รวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจีน ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจ และสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของอีกฝ่ายหนึ่ง
ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 75 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และวันคล้ายวันพระราชสมภพ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ทั้งสองประเทศจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีความสัมพันธ์จีน-ไทย เพื่อร่วมกันทบทวนอดีต มองไปในอนาคต และวางแผนความสัมพันธ์จีน-ไทยอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ขณะนี้ชาวจีนและชาวไทย และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพของทั้งสองประเทศต่างกระตือรือร้น ที่จะเฉลิมฉลองและรำลึกปีสำคัญนี้ ผมเชื่อว่าในอีกไม่นานจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมและความร่วมมือต่าง ๆ นำเสนอต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ
สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำคือ โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบศตวรรษ จีนและไทยควรทำงานร่วมกัน เพื่อให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของโลกอย่างชัดเจน เข้าใจผลประโยชน์พื้นฐานของประเทศ อย่าให้ท้องฟ้าไม่สดใส เพียงเพราะก้อนเมฆก้อนเดียว รักษาสิ่งที่ดีงามและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และปฏิบัติตามทิศทางความร่วมมือของผู้นำและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน กระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย และเขียนบทใหม่ของคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ภายใต้ยุคสมัยใหม่
ประการแรก เราต้องเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมือ งและสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน อธิปไตย ความมั่นคง และการพัฒนา ประการที่สอง เราต้องคว้าโอกาสดี ๆ จากความร่วมมือระดับภูมิภาคและโอกาสใหม่ ๆ จากการพัฒนาของจีนและไทย เสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างแข็งขัน และส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ประการที่สาม เราต้องกระชับการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างทั้งสองประเทศ และการสร้างรากฐานแห่งมิตรภาพระหว่างกัน ประการที่สี่ ร่วมกันปกป้องสันติภาพและความสงบสุขในภูมิภาค และป้องกันไม่ให้เกิดแนวคิดและพฤติกรรม เช่น แนวคิดสงครามเย็นและการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มก๊วน ร่วมกันรักษาความร่วมมือและการพัฒนาของทุกประเทศในภูมิภาคของเรา
โครงการรถไฟจีน-ไทยดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่ จะมีบทบาทอย่างไรหลังจากเปิดการเดินรถในอนาคต
รถไฟจีน-ไทยเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยลงทุนและได้รับความร่วมมือ และการผลักดันร่วมกันจากทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2560 ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เฟสแรกของโครงการจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะแล้วเสร็จในปี 2569 ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ ตอนนี้ตามข่าวไทยอาจเลื่อนไปปี 2571 จากแง่มุมนี้ ความคืบหน้าค่อนข้างจะล่าช้าอย่างที่หลายคนพูดกัน และฝ่ายไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นว่ากำลังเร่งดำเนินการแก้ไขอยู่
ฝ่ายจีนยินดีให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เฟสที่ 2 ของโครงการจากนครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างการวางแผน และเตรียมการก่อสร้าง
เมื่อไม่นานมานี้ จีนและไทยเพิ่งจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมความร่วมมือทางรถไฟจีน-ไทย ครั้งที่ 31 ในที่ประชุมทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเฟสที่ 2 ของโครงการ และหวังว่าภายใต้ความพยายามของทั้งสองฝ่าย เฟสที่ 2 ของโครงการรถไฟจีน-ไทย จะเริ่มก่อสร้างโดยเร็วที่สุด
การจะเชื่อมต่อรถไฟจีน-ไทยและรถไฟจีน-ลาวอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งทางรถไฟจากจีนมายังไทย และข้ามคาบสมุทรอินโดจีน หนึ่งในการเชื่อมโยงที่สำคัญคือ การเชื่อมต่อระหว่างหนองคายกับสถานีเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นสถานีหนึ่งของรถไฟจีน-ลาว ผมได้รับทราบว่า ฝ่ายไทยจะสร้างเส้นทางเชื่อมต่อช่วงนี้ก่อน เพื่อให้บทบาทการขนส่งของทางรถไฟจีน-ลาว สะท้อนให้เห็นได้โดยเร็วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จะทำจังหวัดหนองคายให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกไปสู่ลาวและจีน ซึ่งจีนก็สนับสนุนแนวคิดนี้ และจีนยินดีที่จะหารือ และร่วมมือกับไทยและลาว เพื่อส่งเสริมการก่อสร้างสายเชื่อมต่อเส้นนี้โดยเร็ว
เรารอคอยที่จะเห็นการรถไฟจีน-ไทยจะแล้วเสร็จในเร็ววัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความโดดเด่นในทำเลที่ตั้งในคาบสมุทรอินโดจีนจนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ทำให้เส้นทางคมนาคมขนส่งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในพัฒนาการขนส่งใหม่สำหรับการสัญจรของผู้คนและโลจิสติกส์ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นระเบียงความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาร่วมกันอีกด้วย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกประเทศในภูมิภาค
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงกดดันขาลง สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันขาลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ เศรษฐกิจของจีนประสบปัญหาบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังสามารถรักษาการฟื้นตัวอย่างมั่นคง และมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว เศรษฐกิจของจีนขยายตัว 5.2% ในปีที่แล้ว และ 5.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีอัตราเติบโตสูงในกลุ่มเศรษฐกิจหลักของโลก สถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักของจีนกำลังดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งได้เพิ่มการคาดการณ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้
การมองสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน เราจำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 9.4% เพื่อน ๆ จำนวนมากจึงคุ้นเคยกับการเห็นตัวเลขการเติบโตที่รวดเร็วของจีน แต่ในความเป็นจริง เมื่อสิบก่อน จีนก็ได้เสนอไว้ว่า จีนจะไม่แสวงหาอัตราสูงของการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกต่อไป และเน้นในคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอแนวคิดการพัฒนาใหม่ เน้นในการบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง และให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้าง “การผลิตที่มีคุณภาพใหม่” เมื่อสิบปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกิดใหม่ของจีนคิดเป็น 7.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และตอนนี้เกิน 13% แล้ว จะเห็นได้ว่าจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในการแสวงหา “การผลิตที่มีคุณภาพใหม่” และการพัฒนาด้วยนวัตกรรม
หากต้องการดูว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดูว่า จีนมีความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพสูงอย่างไร อัตราการเติบโต 5-6% ของเศรษฐกิจที่จีนรักษาไว้ในปัจจุบันนั้นเป็นอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนมีมูลค่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 664 ล้านล้านบาท) อัตราการเติบโต 5% จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมใปประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมดของประเทศขนาดกลางหนึ่งประเทศ
การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีการสนับสนุนทางเทคนิคที่แข็งแกร่ง มีระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ดังนั้น มีศักยภาพการพัฒนาสูง มีความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่ง มีอนาคตที่สดใส จีนเน้นการพัฒนาแบบเปิดกว้าง และยินดีแบ่งปันโอกาสและความสำเร็จของการพัฒนาและกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จีนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มานานกว่าสิบปีติดต่อกัน การพัฒนาของจีนจะนำโอกาสสำคัญมาสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ในด้านนี้ เรามีความเชื่อมั่นและความมั่นใจที่เพียงพอ ยินดีต้อนรับเพื่อนๆ ในแวดวงเศรษฐกิจของไทยที่มองเห็นโอกาสอย่างชัดเจน คว้าโอกาสนี้เพื่อประสบผลสำเร็จในธุรกิจ และผลักดันความร่วมมือฉันมิตรระหว่างจีนและไทย
สถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาคมีความซับซ้อนและปั่นป่วน และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคคาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทมากขึ้น ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับปัญหานี้
โลกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย แต่การพัฒนาอย่างสันติของเอเชียตะวันออกยังคงดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น บางคนจึงถือว่า เอเชียตะวันออกเป็นโอเอซิสที่หายากในโลกที่วุ่นวาย ซึ่งเนื่องด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกดำเนินตามนโยบายการพัฒนามาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกมาเป็นเวลานาน ยึดหลักการเคารพซึ่งกันและกันและความร่วมมือกันที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เนื่องด้วยอารยธรรมเอเชียตะวันออกยึดหลักการเข้าใจ และเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งต่างจากชาติตะวันตกที่เน้นความคิดที่แพ้และชนะ ผู้ชนะกินรวบ เนื่องด้วยภูมิภาคนี้ได้สร้างกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อาเซียน อันเป็นการสร้างหลักประกันในด้านกลไกที่มีประสิทธิผล สำหรับความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาค
ปัจจุบัน ในภูมิภาคนี้ได้เกิดสถานการณ์และประเด็นปัญหาใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรเฝ้าระวัง และให้ความสำคัญ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือมหาอำนาจนอกภูมิภาคกำลังกระตุ้น ให้เกิดการเผชิญหน้าและข้อพิพาทเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง และความจำเป็นในการรักษาอำนาจ ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาระดับภูมิภาคบางประเด็นเริ่มร้อนแรง และความขัดแย้งบางอย่างที่แต่เดิมสงบอยู่เริ่มแสดงสัญญาณที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีมือมืดเบื้องหลังของมหาอำนาจนอกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐจะติดตั้งระบบขีปนาวุธ “ไทฟอน” ในฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้ทั้งภูมิภาคอยู่ในระยะของขีปนาวุธ และอาจทำให้การแข่งขันทางอาวุธของภูมิภาครุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางประเทศในภูมิภาคถูกยุยง และมีการกระทำยั่วยุในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ในอาณาเขตและทางทะเล ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามใหม่ต่อสันติภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค เดิมทีกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคแห่งนี้ มีบทบาทเชิงบวกและมีประสิทธิภาพมากในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค ในปัจจุบันเกิดกลไกหรือกลุ่มก๊วนเล็ก ๆ เช่น “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” “จตุรภาคีว่าด้วยความมั่นคง (เดอะ ควอด)” และ “ความร่วมมือไตรภาคี ออคัส” เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายร้ายแรงต่อระเบียบความร่วมมือระดับภูมิภาค
ความมั่นคงและการพัฒนาของทุกประเทศในภูมิภาค แยกออกจากสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนี้ไม่ได้ ภูมิภาคนี้เป็นบ้านร่วมกันของทุกประเทศของเรา และเราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อรักษาบ้านหลังนี้ เราต้องนำภูมิปัญญาของอารยธรรมเอเชียตะวันออกเข้ามามีบทบาท ยึดมั่นในหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน ความร่วมมือและปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และร่วมกันต่อต้านแนวคิดของสงครามเย็น แนวความคิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มก๊วน ต่อต้านการกระทำใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาและก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อปกป้องโอเอซิสแห่งการพัฒนาอย่างสันติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ มีผลกระทบสำคัญต่อโลก การประชุมระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อปีที่แล้ว ได้รับความสนใจอย่างมาก ปัจจุบัน ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐ นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีการนำผลประโยชน์อันใหญ่หลวงมาสู่ประเทศและประชาชนทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกันก็แสดงบทบาทสร้างสรรค์ที่สำคัญต่อสันติภาพและการพัฒนาของโลก ความขัดแย้งและการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ในหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของสหรัฐ เกี่ยวกับการพัฒนาของจีน โดยเข้าใจผิดว่า การพัฒนาของจีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ และเป็นการกระทำที่ผิดที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์สกัดกั้นจีน
เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ประมุขแห่งรัฐของจีนและสหรัฐ พบกันที่เมืองซานฟรานซิสโก และบรรลุฉันทามติสำคัญหลายประการที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์ซานฟรานซิสโก” ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง ทั้งสองประเทศได้เริ่มต้นการเจรจาอีกครั้งในหลายสาขา แต่ในทางกลับกัน คำพูดและการกระทำของสหรัฐไม่สอดคล้องกับฉันทามติดังกล่าว ในด้านหนึ่ง สหรัฐอ้างว่า จะแสวงหาการเจรจาและความร่วมมือ แต่อีกด้านหนึ่ง ยังคงเล่นเกมผลรวมเป็นศูนย์ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มก๊วน การแบ่งแยกและการตัดขาดจากห่วงโซ่ และยังคงพยายามสกัดกั้นจีน
ทัศนคติและจุดยืนของเรา ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ มีความคงเส้นคงวานั่นคือยึดมั่นในหลักการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอ ได้แก่ การเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จีนไม่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาแทนที่สหรัฐในฐานะเจ้าโลก เราไม่มีความสนใจเช่นนั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่าเจ้าโลกไม่ใช่บทบาทอันทรงเกียรติในมุมมองของเรา เราหวังว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ จะกลับคืนสู่ทิศทางที่ถูกต้อง
จีนยินดีที่จะพัฒนาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับสหรัฐตามปกติ และยินดีที่จะเป็นหุ้นส่วนและเป็นมิตรกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ยอมรับอำนาจป่าเถื่อนและการกลั่นแกล้งใด ๆ อย่างเด็ดขาด และไม่เป็น “แพะรับบาป” ฝ่ายจีนยินดีที่ได้เห็นสหรัฐ มีความมั่นใจ เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรืองและพัฒนา และหวังว่าสหรัฐจะสามารถมองการพัฒนาของจีนในเชิงบวกได้เช่นกัน เราหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยังคงทำงานอย่างหนักต่อไป ในการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ซานฟรานซิสโก เพื่อให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ มีเสถียรภาพ พัฒนาให้ดีขึ้น และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง
นี่เป็นทางเลือกเดียวที่ถูกต้องสำหรับจีนและสหรัฐ และยังเป็นทางเลือกที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งผู้คนทั่วโลกคาดหวังให้จีนและสหรัฐเลือก มิฉะนั้น การปิดกั้นสิทธิอันชอบธรรมของจีนในการพัฒนาอย่างดื้อดันและพยายามขัดขวางการพัฒนาของจีนอย่างไร้เหตุผล ในท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นการทำร้ายผู้อื่นและไม่สร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ถือเป็นการยกหินขึ้นมาแต่กลับหล่นทับขาตัวเอง
ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับจีนและสหรัฐ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับอนาคตของภูมิภาคและโลก เราเข้าใจและเคารพนโยบายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่จะไม่เข้าข้างใด ๆ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ความยุติธรรมและความเป็นธรรมระหว่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากทุกประเทศในโลก สำหรับบุคคลใดที่ติดอยู่ในหล่มของความวิตกกังวล และไม่สามารถหลุดพ้นได้ ล้วนยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้คน เพื่อให้เขาฟื้นคืนสู่ความมีเหตุมีผลตามปกติ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
ขอขอบคุณ : สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย