“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามเรื่องนี้ในมุมนักอาชญาวิทยากับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์  พูตระกูล  รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต  เพื่อสะท้อนความเข้าใจ เหตุใด “แผนเดิม”แต่ยังมีเหยื่อ“หน้าใหม่” การใช้จังหวะหลอก ไปจนถึงข้อแนะนำ“เอาตัวรอด”

สื่อสารอย่างไร คนไม่รู้จักกลับเชื่อ

วิธีการพยายามพูดให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เป็นตำรวจ  เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)  หรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานยาเสพติด กระทั่งเริ่มจับ“น้ำเสียง”ได้ว่าเหยื่อ“เชื่อ”

จากนั้นมิจฉาชีพจะใช้วิธีต่อว่าพัวพันยาเสพติด หรือมีบัญชีต้องสงสัยเกี่ยวกับการฟอกเงิน  หากเริ่มฟังน้ำเสียงว่าเหยื่อเชื่อมากขึ้น จึงเริ่มเดินเรื่องตามบทต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงให้แนบเนียนขึ้น อย่างการใช้เทคโนโลยี AI หลอกให้แอดไลน์ (Line) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นชุดเจ้าหน้าที่ หรือการใช้  Deep Fake ช่วยขยับปาก เสมือนกับการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนนั้นจริงๆ ให้เหยื่อตายใจก่อนหลอกเงิน

“ไม้เด็ด”หลอกสำเร็จ       

สิ่งที่ทำให้มิจฉาชีพหลอกสำเร็จ ทั้งที่เหยื่อไม่เคยรู้จัก หลักๆมาจากการใช้หลัก“จิตวิทยา” เพราะหากวิเคราะห์ว่าคนที่ไม่เคยเจอหน้ากันแต่พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ผู้ที่เป็นเหยื่อสามารถจะหลงเชื่อและโอนเงินให้ในจำนวนมากได้ก็มาจาก “เสียงสนทนา” จิตวิทยาที่ใช้ก็คือการสร้างความ“หวาดกลัว” เช่น แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ดีเอสไอ ปปง.  ป.ป.ส. หรือบช.ปส. ด้วยโทนเสียงข่มขู่

สำหรับวิธีการเหล่านี้จะมีสคริปและมีการฝึก โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีทีมฝึก ทีมสอนการพูด รูปแบบทำงานจะเป็นขบวนการ และก็เรียนรู้จากเหตุว่าทำไมบางครั้งจึงสามารถหลอกเหยื่อได้ แต่บางครั้งหลอกไม่ได้ เพื่อพัฒนา

“แม้เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งแต่คนยังตกเป็นเหยื่อก็เพราะคนร้ายก็มีวิวัฒนาการ ขณะเดียวกันเหยื่อบางรายอาจไม่ได้ติดตามข่าวสารต่อเนื่องว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวง”

เทคนิคห่างสายมิจฉาชีพ      

อย่างแรกต้องตั้งสติ  หากสันนิษฐานว่าผู้ที่โทรมาอาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์  หรือเมื่อมีเบอร์เข้ามาเป็นเบอร์ที่ไม่ได้บันทึกรายชื่อไว้ หรือไม่ได้ทำธุรกิจติดต่อกับคนมากมาย  แนะนำว่าเบอร์แปลก“ไม่ต้องรับ”  แต่ให้ใช้วิธี“โทรกลับ” เนื่องจากเบอร์โทรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่จะโทรกลับไปไม่ติด  เพราะใช้วิธีโทรผ่านระบบ VOIP เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ทำให้เมื่อโทรกลับไปจึงไม่ติด

แต่หากเป็นกรณีรับสายไปแล้ว และมีการพูดคุยลักษณะแบบนี้  ให้ตั้งสติและสันนิษฐานว่าเบอร์ที่รับสายอยู่นั้นเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้“ตัดสายทิ้ง” และส่งเบอร์ให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือตรวจสอบ 

ต้นกำเนิดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-วัยเสี่ยงเป็นเหยื่อ   

หลักๆ ผู้ที่เข้าไปอยู่ในวงจรมักมาจาก 1.ถูกหลอกเข้าร่วมขบวนการ จากโพสต์รับสมัครคนทำงานด้านต่างๆ เช่น โพสต์ขายสินค้า  ต้องการคนทำงานรายได้ดี  ทำงานในห้องแอร์  ต้องการพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ แต่แท้จริงเป็นการหลอกไปรวมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ 2.สร้างแรงจูงใจเข้าร่วมขบวนการด้วยเงิน หรือ ค่าตอบแทน โดยระบุหากหลอกเหยื่อให้โอนเงินได้ จะได้ค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดเงินที่เหยื่อโอน ทำให้แรกๆอาจลัลงแต่เมื่อเห็นค่าตอบแทนทั้งรายวันรายเดือน และส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ก็ยอม ถูกนำไปฝึกพูด ฝึกใช้น้ำเสียง และมีสคริปต์

สำหรับช่วงวัยที่มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ ได้แก่  1. ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีจิตใจ เปราะบาง อ่อนไหว 2. ผู้หญิงเพราะเป็นเพศที่ส่วนใหญ่มีสภาพจิตใจอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว และ3.ผู้ที่อาจอยู่ในจังหวะอารมณ์ หรือสภาวะลำพัง อาจจะเป็นผู้ชายก็ได้  หรือคนที่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสาร อยู่เฉพาะหน้างานที่ทำ  มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารน้อยจึงไม่เท่าทัน

อย่าซ้ำเติม เน้นฮีลใจเหยื่อ

เมื่อมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดถูกหลอก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ 1.ต้องเข้าใจ เห็นใจ อย่าซ้ำเติม เช่นคำว่า  บอกแล้ว ทำไมไม่เชื่อ สิ่งนี้สำคัญาก เพราะจะยิ่งทำให้เหยื่อทุกข์ทรมาน 2. เน้นพูดคุย ใช้ชีวิตอยู่ด้วย ให้กำลังใจ ปลอบใจ และ3.บางกรณีอาจต้องให้แพทย์ได้วินิจฉัย และทานยา เพื่อลดความกังวล เพราะบางคนอาจเกิดภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ทิ้งท้ายรูปแบบการสอนและการคงอยู่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะยังมีอยู่ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เองก็มีการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมงาน หรือแก๊งอื่นที่ถูกจับว่ามาจากอะไร หรือบางครั้งก็ศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่หลอกอยู่ทุกวันว่าเหยื่อไม่หลงเชื่อเพราะอะไร และที่เหลือหลงเชื่อเพราะอะไร แน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการ คนร้ายก็มีการวิวัฒนาการตามเทคโนโลยีเช่นกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]