หากการเลือก สว.ในวันที่ 26 มิ.ย.เป็นไปอย่างราบรื่น วันนี้คอลัมน์ ตรวจการบ้าน เชิญพบกับ “เสรี สุวรรณภานนท์” รักษาการ สว. ที่จะมาบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงาน และความคาดหวังต่อสว.ชุดใหม่ในการขับเคลื่อนการเมืองไทยต่อไปในอนาคต ประชาชนจะฝากความหวังไว้ได้หรือไม่

โดย “สว.เสรี” เปิดประเด็นว่า ผลที่ออกมาก็จะเป็นตัวชี้ทิศทางของ สว.ชุดใหม่ ที่จะเข้าทำหน้าที่ต่อไป ว่าจะมีส่วนของซีกการเมือง หรือภาคประชาชนเข้ามาได้แค่ไหน  เพราะต้องยอมรับว่าคนที่เสนอตัวให้มาเลือกนั้น หลายคนก็มีประสบการณ์ทางการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองพรรคนั้นพรรคนี้ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองหลายฝ่าย ในขณะเดียวกันเราก็ยังมีกลุ่มภาคประชาชน ซึ่งมาจากกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมทางสังคม ทางการเมืองเป็นที่รู้จัก และยังมีส่วนของนักธุรกิจต่างๆ ที่สมัครมาในแต่ละสาขาอาชีพ ดังนั้นจำนวนหรือตัวบุคคลที่จะผ่านการลงคะแนนเลือกมาได้ 200 คนแรก กับอีก 100 คนสำรองนั้น ต้องดูว่าจะมาจากในส่วนไหน ตรงนี้จะทำให้เห็นได้ว่าภาพที่ออกมาต่อไปการทำงานของวุฒิสภาจะมีอิสระได้มากน้อยแค่ไหน

@ คิดอย่างไรกับการที่ 250 สว. ถูกมองเป็นสว.ลายพรางทายาทของอำนาจเก่าอนุรักษ์นิยมทำงานเพื่อคสช.

เรารู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าขณะที่เราเข้ามาในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ว่าให้ สว. 250 คน มาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล เมื่อเป็นไปตามบทเฉพาะกาล ทางการเมืองเองย่อมมีคนไม่เห็นด้วย และมีคนติฉินนินทา แต่เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งเรามาทำหน้าที่ก็ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ ทำหน้าที่โดยถูกต้องดีงาม เราจะไปปฏิเสธและไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นก็คงไม่ได้ แต่พฤติกรรมหรือการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะว่าไม่มีอะไรถูกต้องชอบธรรม 100 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าที่มาของ สว. 250 คนนั้นมาจากคณะปฏิวัติรัฐประหาร หรือที่เรียกว่า คสช. เขาเลือกมา เมื่อเขาเลือกมาเราก็เต็มใจจะมา เราจะรังเกียจทำไม แล้วเราก็ไม่ต้องไปห่วงอะไร เพราะว่ากติกาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าให้ คสช.เลือก ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่มาจากการทำประชามติ โดยประชาชนเห็นด้วย และที่ผ่านมาเราก็แสดงให้ประชาชนเห็นแล้วว่า เราก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วที่ทำได้

@ ประเมินการทำงานของ สว.ชุดนี้อย่างไร อะไรคือผลงานชิ้นโบว์แดง

คงประเมินออกมาเป็นคะแนนไม่ได้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ตัวเองว่าหน้าที่ของ สว. มีอะไร เราก็ทำเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สว.ก็ตั้งกระทู้ถาม มีการปรึกษาหารือถึงความเดือดร้อนของประชาชนไม่ต่างจาก สส.เหมือนกัน เพียงแต่ว่าการออกกฎหมายอาจจะน้อยหน่อย แต่ก็โทษ สว.ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายที่จะออกมานั้นต้องมาจากรัฐบาล หรือไม่ก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา หรืออาจจะมีกฎหมายที่มาจากการปฏิรูปที่เสนอกันไว้  แต่รวมๆ แล้วก็น่าเสียดายว่าเรามีเวลาเยอะแต่เราทำกฎหมายที่ได้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาบ้านเมืองจริงๆ น้อยไปหน่อย

นอกจากนั้นก็คืออำนาจหน้าที่ๆ อาจจะมีคนชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถือได้ว่าเราทำได้ดี ในรอบแรกนั้นเราเลือกพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี  ถ้าดูคู่เปรียบเทียบกันแล้ว ก็สมเหตุสมผลว่าพอไปแข่งกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เราไม่ได้พูดถึงว่าดีหรือไม่ดี แต่ดูถึงความเหมาะสมของการทำงานทำหน้าที่ ถือว่าเลือกได้ถูกต้องแล้ว หรือแม้ว่าในช่วงหลัง พอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาแข่งกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ได้คะแนน สว. “เศรษฐา”ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ เราดูที่ความเหมาะสม

ส่วนการปฏิรูปประเทศเราก็พยายามติดตามเร่งรัด แต่เหมือนตบมือข้างเดียว ข้าราชการก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไร หรือแม้แต่ตัวพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเองพอมาคนละขั้วกัน คนหนึ่งคิดมาก่อน อีกคนหนึ่งก็ไม่กล้าที่จะเอามาทำตามหรือให้เป็นแนวนโยบายของตัวเอง เพราะกลัวจะถูกหาว่าไปเลียนแบบ ไปลอกเลียนเขา หรือคิดเองไม่ได้ ไปๆ มา ๆ สิ่งดีงามที่เป็นประโยชน์ทั้งหลายเลยไม่ค่อยได้เอามาใช้ประโยชน์เท่าไร

แต่ประการสำคัญอันหนึ่งสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะดีมากๆ ก็คือมีการเสนอกฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และกระทบกับสถาบันฯ ในส่วนนี้เราก็เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการทำให้สถาบันฯ เป็นที่เสื่อมเสียหาย เราก็ต่อต้านคัดค้าน ไม่เห็นด้วย และปกป้องไม่ให้มีใครมาลบหลู่ ดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบัน  ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เรายืนหยัดมา ทำให้รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่พยายามจะแก้และไปกระทบกับสถาบันฯ ไม่สามารถจะทำได้สำเร็จ ถ้าไม่มี สว.ชุด 250 คน บ้านเมืองอาจจะถูกเปลี่ยนแปลง ไปในรูปแบบที่ทำให้เกิดปัญหากับความมั่นคงของชาติได้ อันนี้ผมคิดว่าผมก็ภูมิใจที่มาทำหน้าที่ตรงนี้

 @ อยากฝากอะไรถึง สว. ชุดใหม่

เมื่อเข้ามาแล้วคงต้องตั้งหลักในการจะทำงานตามหน้าที่ เมื่อมาจากสาขาอาชีพต่างๆ ก็เป็นคนที่มีความรู้เป็นที่ยอมรับมาระดับหนึ่ง ดังนั้นก็ต้องมาตั้งกรรมาธิการและชุดใหม่ก็คงต้องมาทบทวนดูข้อบังคับการประชุม สว. ว่าการจัดแบ่งงานเหมาะสม ควรต้องแก้ไขปรับปรุงแก้ไขอย่างไรหรือไม่ และต้องมาดูว่างานที่ สว.ชุดเดิมทำไว้ควรต้องทำต่อหรือไม่ เช่น สว.พบประชาชน เป็นการทำให้ สว.เห็นปัญหาของประชาชน  

อย่างไรก็ตามส่วนตัวสำหรับงานที่ สว.ชุดปัจจุบันทำเห็นปัญหาอยู่หลายจุดเหมือนกัน จุดหนึ่งก็คือการพิจารณางบประมาณในวุฒิสภา ของเราไปตั้งกรรมาธิการและทำงานซ้ำกับ สส. ซึ่งในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญให้ สว.พิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณแค่ 20 วัน  ซึ่ง สว.ต้องดูว่ากฎหมายที่ผ่านมาจาก สส.สมประโยชน์หรือไม่กับงบประมาณที่ตั้งกันไปหรือจะมีอะไรทักท้วงในร่างกฎหมาย  แต่เราไปทำควบคู่กันไปหมด พอส่งมา สว. ไม่พิจารณาแล้ว แต่ลงมติกันเลย ผมว่าอย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น สว.ชุดใหม่ต้องเอาเรื่องนี้ไปทบทวนและพิจารณาดูว่าจะแก้ไขปรับปรุงการทำงานอย่างไร

อีกประการคือตนยืนหยัดมาตลอดว่าการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินควรต้องประหยัด แต่ที่เห็นๆ ยกตัวอย่างได้ว่าไม่ว่าจะเป็น สส. สว. หน่วยงานราชการเอางบประมาณภาษีอากรของประชาชนไปดูงานต่างประเทศ ประชาชนไม่เห็นด้วย คุณต้องอย่าเอาเวลาที่ดูงานฉวยโอกาสไปเที่ยวด้วย เท่ากับว่าใช้งบประมาณหรือเรียกว่าผลาญเงินของแผ่นดิน โดยรวมๆ แล้วไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามถ้าประหยัดได้ก็ต้องประหยัด และอย่าให้ถูกครหาว่าเรามาหาประโยชน์จากเรื่องพวกนี้.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่