นายเอริก ชาน อดีตนักเขียนโค้ดสำหรับดาวเทียมและหุ่นยนต์ ผันตัวมาก่อตั้งบริษัทจำหน่ายทุเรียน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้น จีนก็ได้สัมผัสกับรสชาติของผลไม้ที่มีกลิ่นแรงที่สุดในโลกชนิดนี้

เมื่อปี 2566 การส่งออกทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังจีน มีมูลค่า 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,000 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 เท่าจาก 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,262 ล้านบาท) ในปี 2560

ตามข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จีนเป็นผู้ซื้อทุเรียนส่งออกเกือบทั้งหมดของโลก โดยประเทศส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ ไทย ส่วนมาเลเซีย และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มผู้จำหน่ายทุเรียนอันดับต้น ๆ

ปัจจุบัน ธุรกิจทุเรียนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเกษตรกรปลูกทุเรียนบางคนกลายเป็นเศรษฐี ซึ่งพวกเขาต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นความต้องการทุเรียนในระดับสูงเหมือนกับจีนมาก่อน

การส่งออกทุเรียนที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวชี้วัดถึงอำนาจของผู้บริโภคชาวจีนในเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภูมิภาคทั้งหมดของเอเชีย ปรับโฉมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของจีน เช่น การเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนในเวียดนาม, ไทย และมาเลเซีย

ด้านรศ.ดร.นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการแถลงข่าว เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า จีนไม่ได้เป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่การลงทุนของจีน ยังไหลเข้าสู่ธุรกิจบรรจุและโลจิสติกส์ของไทยด้วย ซึ่งในตอนนี้ ผลประโยชน์ของจีนควบคุมธุรกิจธุรกิจค้าส่งและโลจิสติกส์ประมาณ 70% และบริษัทค้าส่งทุเรียนของไทย “อาจหายไปในอนาคตอันใกล้นี้”

หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ทุเรียนในกลุ่มผลไม้ เป็นเหมือนกับเห็ดทรัฟเฟิลในกลุ่มเห็ด ซึ่งมันกลายเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยทุเรียนลูกเดียว สามารถขายได้ในราคาตั้งแต่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 368 บาท) ถึงหลายร้อยดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ทุเรียน

ทว่าความต้องการของจีน ซึ่งดันราคาทุเรียนสูงขึ้นถึง 15 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า ทุเรียนเปลี่ยนจากผลไม้ที่เติบโตในป่าและในสวนผลไม้ของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ไปสู่สินค้าฟุ่มเฟือยที่ถูกจัดสรรไว้เพื่อการส่งออก

อนึ่ง อุปสงค์ทุเรียนที่สูงขึ้นในจีน กำลังกำหนดห่วงโซ่อุปทานทุเรียนแบบใหม่ ซึ่งแม้การจัดส่งทุเรียนด้วยรถบรรทุก ไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาค เช่น กรุงกัวลาลัมเปอร์, สิงคโปร์ หรือกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การขนส่งทุเรียนไปยังเมืองกว่างโจว, กรุงปักกิ่ง หรือที่อื่น ๆ ในจีน อาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากกลิ่นที่รุนแรงของทุเรียน มีความคล้ายคลึงกับกลิ่นแก๊สรั่ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มเกษตรกรพยายามแก้ปัญหาด้านการขนส่ง ด้วยการแช่แข็งทุเรียนก่อนจัดส่งไปยังจีน ซึ่งนอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว พวกเขาก็พยายามก้าวข้ามอุปสรรคอื่น ๆ เช่นกัน เพราะยังไงก็ตาม ความต้องการของจีน ทำให้ธุรกิจทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฟื่องฟูอย่างมาก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES