เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เพิ่งจะย้ำว่า “เป็นภัยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น!!“ แต่แล้วก็มีกรณีน่าเศร้าเกิดขึ้นอีก…สำหรับ “ภัยตู้กดน้ำดื่ม!!“…โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่บางจังหวัดทางใต้เกิดเหตุ “เด็กเสียชีวิตคาตู้กดน้ำ!!” ทั้งนี้ “ตู้กดน้ำดื่ม” รูปแบบต่าง ๆ ที่ยุคปัจจุบันมีการติดตั้งตามสถานที่ทั่วไป ทั้งในแบบที่เป็นการให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในแบบที่ต้องเสียเงินหรือต้องหยอดเหรียญจึงจะกดน้ำออกมาได้นั้น… “ช่วงหน้าฝนยิ่งต้องระวัง!!“…

อาจมีภัยจาก ไฟฟ้ารั่ว-ไฟฟ้าดูด“
และภัยจากการ มีเชื้อโรคปนเปื้อน“
ทั้ง 2 ภัยนี้ หน้าฝนเสี่ยงเกิดง่ายขึ้น“

เกี่ยวกับ “ภัยจากตู้กดน้ำดื่ม” นี้…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนเตือนว่า “ควรต้องระวังให้ดี” ไม่ควรมีกรณีน่าเศร้าเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เพราะสามารถป้องกันภัยได้ถ้าผู้เกี่ยวข้องไม่ประมาท ซึ่ง “ตู้กดน้ำดื่ม” หรือ “เครื่องกดน้ำดื่ม” ในภาพรวม ๆ นั้นก็ “มีกฎมาตรฐานควบคุม“กำหนดไว้ชัดเจน ในแง่ “ความปลอดภัย” ทั้งกรณีไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก รวมไปถึงกรณีการติดตั้งและใช้งานโดยไม่ให้เกิดอันตราย โดยเรื่องนี้ก็ได้เคยมีการตั้ง “ปุจฉา” เซ็งแซ่ หลังจากช่วงหนึ่งมีชาวโซเชียลโพสต์และแชร์ภาพ “สิ่งผิดปกติที่อยู่ในน้ำที่กดจากตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญ” บางตู้ ที่ “ชวนอี๋-ชวนคลื่นเหียน” ไม่น้อย!!… จนชาวโซเชียลตั้งคำถามถึง “มาตรฐานตู้กดน้ำดื่ม??” จนนำสู่ปุจฉาว่า “ตู้กดน้ำมีกฎควบคุมหรือไม่อย่างไร??”

ทั้งนี้ กับ “ปุจฉาพาให้คิด” ที่ผู้คนมีต่อ “ตู้กดน้ำ” ในเรื่อง “มาตรฐาน-คุณภาพ-กฎควบคุม” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ลองค้นหาข้อมูล-ได้สะท้อนไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุน่าเศร้าขึ้นอีก และช่วงหน้าฝนนี้ก็อาจเกิดภัยจากตู้กดน้ำดื่มได้ง่ายขึ้น วันนี้ ณ ที่นี้จึงจะสะท้อนข้อมูลเรื่องนี้อีก…โดยหวังให้ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ “ใส่ใจความปลอดภัยของผู้ใช้“

“ตู้กดน้ำดื่ม“ที่ต้องหยอดเหรียญจึงจะกดน้ำได้นั้น “มีการกำหนดกฎควบคุม” ไว้ชัดเจน เป็น “หลักเกณฑ์” ในการประกอบกิจการ โดยกฎ “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” มีการออกโดย สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีกฎ-หลักเกณฑ์-คู่มือปฏิบัติ ภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ออกมาเพื่อ คุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับบริการน้ำดื่มที่ปลอดภัย ซึ่งมี 6 ประเด็นหลัก คือ… 1.สถานที่ตั้ง, 2.คุณลักษณะตู้น้ำ, 3.แหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ, 4.การควบคุมคุณภาพน้ำ, 5.การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด, 6.การบันทึกและการรายงาน

อนึ่ง ในแต่ละประเด็นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ กล่าวคือ…สถานที่ตั้ง” ของ “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า… จะต้องอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 30 เมตร จากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย แหล่งขยะมูลฝอย ถัดมาคือ… พื้นที่ตั้งตู้น้ำจะต้องไม่เฉอะแฉะและไม่สกปรก, มีการควบคุมป้องกันการปนเปื้อน ที่รวมถึงจากแมลงและพาหะนำโรค ไม่ให้เข้าภายในตู้น้ำได้ ที่สำคัญ จะต้องตั้งอยู่สูงกว่าพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร รวมไปถึง…

ต้อง มีระบบป้องกันไฟรั่ว-ลัดวงจร“
ที่ หน้าฝนนี่ประเด็นนี้ยิ่งต้องใส่ใจ!!“

นอกจากนี้ “คุณลักษณะของตู้น้ำ” ในคู่มือปฏิบัติระบุไว้ว่า… ตัวตู้น้ำต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นสนิม ที่มีความทนทาน และง่ายต่อการทำความสะอาด, อุปกรณ์ที่สัมผัสน้ำต้องทำจากวัสดุที่ใช้กับอาหาร (Food Grade) เช่น ถังสำรองน้ำ ท่อน้ำ หัวจ่ายน้ำ และต้องไม่ทำให้น้ำมีกลิ่น รส และสี เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, หัวจ่ายน้ำต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร อีกทั้งตู้น้ำ ต้องไม่มีคราบสกปรกหรือตะไคร่น้ำ ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงกับอุปกรณ์ที่สัมผัสน้ำโดยตรง

ขณะที่ในส่วนของ “แหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ” มีการกำหนดไว้ว่า… แหล่งน้ำที่นำมาผลิตต้องเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี เช่น น้ำประปา น้ำบาดาล และ ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผลิตให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยไม่มีการปนเปื้อนของสิ่งแปลกปลอม และประเด็น “การควบคุมคุณภาพมาตรฐานน้ำบริโภค” ในคู่มือก็ระบุไว้ว่า… ต้องสุ่มตัวอย่างจากตู้เก็บน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำไปวิเคราะห์ ทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย, ต้องสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำตรวจสอบแบคทีเรียอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย

ต่อไปคือเรื่อง “การบำรุงรักษาและทำความสะอาด” ที่ระบุไว้ว่า… ควรทำความสะอาดทุกวัน กับจุดต่าง ๆ ของตู้ เช่น หัวจ่ายน้ำ ช่องระบายน้ำ พื้นผิวตู้ สถานที่ตั้ง, ควรล้างทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในตู้อย่างน้อยเดือนละครั้ง และ ควรเปลี่ยนไส้กรองน้ำตามระยะเวลา ซึ่งตู้น้ำดื่มเป็นระบบที่กรองผ่านเยื่อกรองเมมเบรน (Membrane) เมื่อผ่านการกรองจะมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคสะสมที่เยื่อกรอง จึงต้องถอดล้าง ถ้าปล่อยนาน ๆ เยื่อกรองจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ทำให้ฉีกขาด กรองสิ่งสกปรกไม่ได้ และอีกประเด็น… “การบันทึกและรายงาน” ผู้ประกอบการ ต้องแสดงข้อมูล-รายงานเป็นเอกสารให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “หลักเกณฑ์ตู้น้ำดื่ม“ ที่มีคู่มือระบุไว้ชัดเจนว่า“ต้องปลอดภัย“…ซึ่ง กับตู้กดน้ำที่ให้บริการโดยไม่เก็บเงินก็ควรต้องปฏิบัติแนวทางนี้ โดยเฉพาะในโรงเรียน เพื่อป้องกันภัย ที่อาจจะเกิดขึ้น…

“ภัยจากตู้กดน้ำดื่ม“ นั้น มีวิธีป้องกัน“
แต่เอาเข้าจริง ไม่รู้ใส่ใจกันแค่ไหน?“
“เหตุน่าเศร้า“ จึง ยังเกิดซ้ำ ๆ อยู่!!“.