นายเจอร์รี เกา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของเอเซอร์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังบริษัทจับตาดูผู้เล่นรายอื่นในห่วงโซ่อุปทานฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีของไต้หวัน ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่น ๆ

“ห่วงโซ่อุปทานกำลังย้ายออกจากไต้หวันแล้ว และมันจะไปยังเวียดนาม, ไทย หรือที่อื่น ซึ่งเราจะดำเนินการตามแนวโน้มนี้ เพราะตราบใดที่เรายังเห็นความเสี่ยง เราก็จะเริ่มกระจายความเสี่ยง และหากมีอะไรผิดปกติ เราสามารถย้ายไปที่โรงงานในประเทศอื่น เช่น อินเดีย และอินโดนีเซียได้” เกา กล่าวเพิ่มเติม

บริษัท เอเซอร์ ซึ่งมีพนักงาน 7,725 คน และมีรายได้ 241,310 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 274,340 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว เป็นอีกหนึ่งผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวัน ที่ยอมรับในสิ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นการเคลื่อนย้ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทนที่จะเลือกขยายกิจการในเกาะ หรือในจีนแผ่นดินใหญ่

ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวัน ซึ่งมีมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.78 ล้านล้านบาท) จัดส่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, โทรศัพท์มือถือ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปทั่วโลก อีกทั้งไต้หวันยังมีบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

“ในแง่ของการผลิตคอมพิวเตอร์ เวียดนามและไทย เป็นสองประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า, โครงสร้างพื้นที่ฐานที่ดีขึ้น และตลาดภายในประเทศที่กำลังเติบโต แม้กระทั่งอินเดียก็มีความน่าดึงดูดเช่นกัน ด้วยกลุ่มบุคลากรขนาดใหญ่ ตลอดจนนโยบายจูงใจของรัฐบาล” น.ส.ซาเนชา หวง นักวิเคราะห์จาก “เทรนด์ฟอร์ซ” บริษัทวิจัยตลาดในกรุงไทเป กล่าว

อนึ่ง ภาคส่วนเทคโนโลยีของไต้หวัน เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับสหรัฐ ปะทุขึ้นเมื่อปี 2561

ปัจจุบัน กฎหมายสหรัฐจะแบนบริษัทไต้หวันที่ขาย “ชิ้นส่วนอ่อนไหว” ให้กับลูกค้าชาวอเมริกัน เหมือนอย่างที่ทำในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ก็กระจายการผลิตออกจากเกาะ เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อาจทำให้ลูกค้าจากต่างประเทศเข้าถึงชิ้นส่วนเหล่านั้นได้ยากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการบางรายกล่าวว่า ลูกค้าเหล่านี้อาจขอให้ซัพพลายเออร์ในไต้หวัน ย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และลดต้นทุนการขนส่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลสำรวจของศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ในปี 2565 พบว่า บริษัทไต้หวันที่เข้าร่วมการสำรวจ ในสัดส่วนมากกว่า 70% ระบุว่า ไต้หวันต้องลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากจีน โดยให้เหตุผลถึงความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน หรือความขัดแย้งข้ามช่องแคบไต้หวัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES