จะจริง-ไม่จริงประการใด?? ก็ว่ากันไป… กับกรณีที่มีชาวโซเชียลระบุเกี่ยวกับ “เด็กคนดัง” คนหนึ่ง “ใช้เงินจ้างเพื่อนคุย??”… นัยว่าหลังตกเป็นประเด็นดราม่าทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ มีการระบุในทำนองที่ว่า…เด็กคนดังกล่าวไร้เพื่อนพูดคุยคบหา?? จนถึงขั้นต้องควักกระเป๋าเพื่อ “จ้างเพื่อนคุยด้วย??” ซึ่งจริง-ไม่จริงก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ชวนให้คิดถึงประเด็น ’มูลค่าความเป็นเพื่อน“ ที่ในภาพรวมทั่ว ๆ ไปในทางเศรษฐศาสตร์ก็สนใจศึกษา

มีการนำคำว่า “เพื่อน” มา ’ศึกษา”
ศึกษาถึง ’มูลค่าเพื่อน” ที่ ’น่าคิด”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการค้นหา “มูลค่าเพื่อน” ผ่าน “มุมเศรษฐศาสตร์” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้ครั้งหนึ่ง โดยที่เวลานั้นได้โฟกัสไปที่ “เพื่อนในวงการเมือง” หลังจากช่วงหนึ่งในแวดวงการเมืองไทยมีการใช้ “วาทกรรม” เกี่ยวกับ “มิตร” หรือ “เพื่อน” กันบ่อย ๆ…เพื่อให้ฟังดูดี จนคำว่า “มิตร” หรือ “เพื่อน” ที่ยึดโยงเรื่องการเมืองปรากฏให้สังคมไทยได้ยินกันเซ็งแซ่ อย่างไรก็ดี กรณี’เพื่อนในมุมเศรษฐศาสตร์“นั้น…ถึงวันนี้ก็มีบางกระแสที่ทำให้น่าพินิจกันอีก

เกี่ยวกับเรื่องนี้…ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลให้พินิจกันอีก… เรื่องนี้มีชุดข้อมูลบทความ “เรามีเพื่อนได้มากที่สุดกี่คน?” ที่เผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์ setthasat.com ที่ได้มีการฉายภาพไว้ ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีว่า…

ในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีการ ศึกษา “มูลค่าและจำนวน” ของ “เพื่อน” โดยนำหลักทฤษฎีชื่อ Dunbar’s Number” มาใช้ในการอธิบาย ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นวิธี “คำนวณจำนวนเพื่อนที่สมองส่วนหน้าของมนุษย์จะสามารถจำรายละเอียดได้” ที่พบว่า มนุษย์ 1 คน จะมีเพื่อนได้มากสุด 150 คนและได้มีการวิเคราะห์ ’ต้นทุน“กับ ’ผลได้“ในการรวมกลุ่มเพื่อนด้วย…

จากชุดข้อมูลในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้มีการระบุถึง “ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationships)” หรือ ’การคบเพื่อน“ ไว้ว่า… เนื่องจากความสัมพันธ์ เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ’การแลกเปลี่ยน“ และ ’การเกี่ยวข้องกัน“ ทางสังคม (Social Exchange and Affiliation) ของมนุษย์ โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการศึกษากันมาก ก็คือ… ขนาดของกลุ่ม (Group Size)” ที่ได้มีการศึกษาไว้ด้วยว่า “จำนวนคนที่มาอยู่รวมกลุ่มกันนั้นถูกกำหนดจากปัจจัยอะไรบ้าง?”…

กรณีขนาดของกลุ่มเพื่อน ในแหล่งข้อมูลเดิมยังได้อธิบายเสริมไว้ในมุมมานุษยวิทยาด้วยว่า… ขนาดของกลุ่มเพื่อนจะใหญ่หรือเล็ก (มีคนในกลุ่มมากหรือน้อย) ขึ้นกับความสมดุลของ ’ประโยชน์ที่จะได้รับ“ กับ ’ต้นทุน“ ของการรวมกลุ่ม (Cost-Benefit of Group
Living)
อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการช่วย ’ลดความเสี่ยง“ ในชีวิต และ ’เพิ่มโอกาส“ การมีชีวิตรอด จากการได้รับการปกป้องจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งขนาดกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ก็จะมีต้นทุนจากการแข่งขันของคนในกลุ่มเพิ่มขึ้น

’ความเสี่ยง-โอกาส-ต้นทุน-ประโยชน์“
’เพื่อนทางการเมือง“ ก็ ’ฉายภาพชัด“

อย่างไรก็ตาม “เพื่อนในเชิงศาสตร์” นั้น…ในแหล่งข้อมูลข้างต้นได้หยิบยกการศึกษาวิเคราะห์ของ Robin Dunbar นักมานุษยวิทยาและจิตวิทยา มาใช้อธิบายไว้ กล่าวคือ… สมองมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียด ทำให้ จำนวนเพื่อนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสมองส่วนหน้า โดยมีผลศึกษาพบว่า มนุษย์สามารถมีเพื่อนได้มากที่สุด 150 คน

และนอกจากนี้ การศึกษายังได้จำลองวงของการเข้าถึง เพื่อจะคำนวณหา ’จำนวนวงของกลุ่มเพื่อน“ เอาไว้ด้วย ซึ่งมนุษย์ 1 คน จะมีจำนวนวงกลุ่มเพื่อนได้หลายวง โดย วงแรกสุดจะเป็นวงเพื่อนที่สนิทที่สุด ที่จะมีอยู่ประมาณ 5 คน จากนั้นก็จะมีจำนวนของเพื่อนที่ขยายออกไปในอัตราส่วนราว ๆ 3 เท่าของจำนวนเพื่อนสนิทในวงแรกคือ 15-50-150 ตามลำดับ หรือที่เรียกว่า ’วง 5-15-50-150“ และกับ “จำนวนครั้งในการติดต่อกันของเพื่อน” ก็มีการศึกษา โดยพบว่า เพื่อนที่สนิทที่สุด 5 คนแรก จะมีอัตราการติดต่อกันอยู่ที่ประมาณ 0.37 ครั้งต่อคนต่อวัน ส่วน เพื่อนในวงเพื่อนลำดับถัดไป ในวงที่ 50 ถึง 150 จะมีการติดต่อกันน้อยมาก และถ้ามีเพื่อนในวงท้าย ๆ ที่ขยายออกไปอีก…ก็แทบจะไม่มีการติดต่อกัน

เมื่อโฟกัสที่ ’ต้นทุนในการคบกันของกลุ่มเพื่อน“ ก็มีการศึกษาพบว่า… กลุ่มเพื่อนจะมี 2 แบบ คือ “เพื่อนที่เข้าใจอารมณ์กันและกัน” กับ “เพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ” โดยแบบที่เข้าใจอารมณ์กันจะใช้ต้นทุนมากกว่า เพราะก่อนที่จะเข้าใจกันได้ก็ต้องอาศัยอะไร ๆ มากกว่า ทั้งแรง เวลา พลังงาน ในการทำความเข้าใจ มากกว่าแบบที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ

ในช่วงท้ายชุดข้อมูลบทความที่เผยแพร่ไว้ทาง setthasat.com ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… เนื่องเพราะ เวลาที่ต้องใช้ในการสร้างมิตรภาพก่อให้เกิดการ ’ได้อย่างเสียอย่าง“ ของคุณภาพและจำนวนเพื่อนอย่างชัดเจน ดังนั้น… พิจารณาที่ ’ต้นทุน“ และ ’ผลได้“ ร่วมกันเพื่อนที่เข้าใจกันจึงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนที่ร่วมงานกันเฉย ๆ

นี่ก็อีกส่วน…กรณี “เพื่อนในเชิงศาสตร์”

ทั้งนี้ กับกระแสร่ำลือเซ็งแซ่ที่มีคำว่า “เพื่อน” มาเกี่ยวข้องดังที่ระบุในตอนต้น…จะจริง? หรือไม่จริง? ก็ว่ากันไป… แต่ในแง่วิชาการ-ในมุมเศรษฐศาสตร์…ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับ “เพื่อน” อย่างจริงจัง กับมีทฤษฎีนำมาใช้วิเคราะห์อย่างชัดเจน…

’เพื่อน“ นั้น…ทั้ง ’มีคุณค่า-มีมูลค่า“
’ที่สำคัญ“ ก็คือการ ’เห็นค่า-ให้ค่า“
’มิใช่จ้าง“ มิใช่ ’ดังที่ร่ำลืออื้ออึง!!“.