ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ฟรานเซส เฮาเกน” เป็นหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งได้มีโอกาสที่ผู้คนอีกจำนวนมากใฝ่ฝัน นั่นคือการได้ร่วมงานกับเฟซบุ๊ก หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และตลอดระยะเวลาที่เธอร่วมงานกับเฟซบุ๊ก “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” รู้ว่าเเธอคือหนึ่งในพนักงานของบริษัท แต่การปรากฏตัวต่อสังคมของเฮาเกนเมื่อไม่นานมานี้ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วัย 37 ปี ได้กล่าวประโยคทองว่า “เฟซบุ๊กเห็นแก่เงินมากกว่าคุณธรรม” คงทำให้ซัคเคอร์เบิร์กต้องจดจำหญิงสาวผู้นี้ไปอีกนาน

60 Minutes
ฟรานเซส เฮาเกน

เฮาเกนเข้าพบคณะอนุกรรมาธิการด้านการพาณิชย์ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภาสหรัฐ หลังเธอ “ทิ้งระเบิดลูกใหญ่” ใส่อดีตนายจ้าง ในรายการ “60 นาที” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เมื่อต้นเดือนนี้ โดยคำกล่าวส่วนใหญ่ของเฮาเกน เป็นการขยายความจากที่เธอให้สัมภาษณ์ในรายการ ในประเด็นของอินสตาแกรม เฮาเกนกล่าวว่า เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ที่เป็นเด็กสาว เนื่องจากส่งผลให้เกิดความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเฟซบุ๊กมีการวิจัยอย่างละเอียดในเรื่องนี้ เท่ากับว่าทราบถึงปัญหาดังกล่าวดี “แต่ไม่ทำอะไร”

C-SPAN

ขณะเดียวกัน เฮาเกนแสดง “หลักฐานแข็ง” เป็นเอกสารหลายพันหน้า ที่เฮาเกนยอมรับว่า เธอใช้เวลานานพอสมควร แอบถ่ายสำเนาเก็บไว้ ก่อนลาออกจากเฟซบุ๊ก หลังทำงานมานาน 2 ปี ตั้งแต่ปี 2562

นอกจากนี้ เฮาเกนกล่าวถึงการที่เฟซบุ๊ก “เล่นกับความคิดและการรับรู้” ของผู้ใช้ จึงออกแบบการมอบข้อมูลข่าวสารบนหน้าฟีดหลักของผู้ใช้งานแต่ละคน “ให้เกิดการเสพติดมากที่สุด” โดยเฉพาะในเรื่องทางการเมือง และประเด็นทางสังคมที่สามารถ “แบ่งฝ่ายและสร้างความแตกแยก” ตลอดจน “บ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย” เนื่องจากช่วยให้เพิ่มรายได้จากการโฆษณาให้แก่เฟซบุ๊ก และยังกล่าวถึง “ความไม่จริงจังและไม่จริงใจ” ของบริษัท ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ที่มีการพูดถึงมานานแล้วภายในบริษัท แต่เมื่อภายนอกตั้งคำถาม เฟซบุ๊ก “สร้างภาพลักษณ์ตรงกันข้าม” ที่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกลวงสังคม

แม้เฮาเกนกล่าวว่า เฟซบุ๊ก “มีศักยภาพ” ในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่บรรดาผู้บริหาร “ทำตัวเป็นองค์กรมืด” และกล่าวโดยตรงถึงนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) คนปัจจุบัน “ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน” และเรียกร้องซัคเคอร์เบิร์กให้ “รับผิดชอบ” โดยทิ้งท้ายว่า เฟซบุ๊ก “เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้” แต่ทิศทางทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของซัคเคอร์เบิร์ก “คนเดียวเท่านั้น”

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเปิดเผยในแวดวงการเมืองของสหรัฐ แต่การปรากฏตัวของเฮาเกนที่แคปิตอล ฮิลล์ ในครั้งนี้ แตกต่างจากการที่ผู้บริหารทุกคนของเฟซบุ๊ก รวมถึงซัคเคอร์เบิร์ก เคยเข้าพบคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพราะเฮาเกน “พูดทุกอย่างที่เห็น” และ “เป็นไปตามความเข้าใจของตัวเอง” เกี่ยวกับโครงสร้างของอาณาจักรเฟซบุ๊ก ที่เธอให้นิยามว่า “ล้มเหลวด้านศีลธรรม”

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าสิ่งที่เฮาเกนนำเสนอเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด คนที่รู้อยู่แก่ใจมากที่สุดนอกจากตัวเธอเอง แน่นอนว่าคือกลุ่มคนวงในของเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะบรรดาผู้บริหาร ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟซบุ๊ก “เต้นเป็นเจ้าเข้า” ดาหน้ากันออกมาตำหนิเฮาเกน ว่าเธอ “รู้ไม่จริง” และ “พูดในสิ่งที่ไม่รู้”

ด้านซัคเคอร์เบิร์กซึ่งถูกเฮาเกนกล่าวหาว่า “เป็นผู้นำองค์กรมืด” ออกมาแก้ต่างให้กับองค์กรด้วยตัวเอง ด้วยการโพสต์แถลงการณ์ความยาว 1,316 คำ สรุปใจความได้ว่า เฮาเกน “ใส่ร้ายป้ายสีองค์กร” และในขณะที่บริษัทเทคโนโลยี “สร้างประสบการณ์” ให้สอดคล้อง “กับความต้องการ” ของลูกค้าวัยรุ่น แต่ “ไม่เคยล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย” ของผู้ใช้งาน

การปรากฏตัวของเฮาเกนต่อคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสในครั้งนี้ คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ฉันใดฉันนั้น “วิบากกรรม” ครั้งนี้ ก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของเฟซบุ๊กเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตอนนี้สถานะของบริษัทเทคโนโลยีแบบเฟซบุ๊ก มีอิทธิพลอยู่ในระดับไม่ต่างจากบริษัทยา บริษัทยาสูบ และธนาคารขนาดใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 เฟซบุ๊กใช้เงินเกือบ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( เกือบ 675 ล้านบาท ) “เพื่อการล็อบบี้” เพิ่มขึ้น 17.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นเม็ดเงินสูงสุดในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดในอเมริกา.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES