‘ใครจะนึก’ ว่า ‘โดนฤทธิ์โรคนี้’

มาติดตามรายละเอียดไว้ก่อนดีกว่าโดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกในวัยที่ยังต้องเรียกว่า “ละอ่อน” เหมือนอย่าง “คุณสุภาริดา สิทธิสาร” ซึ่งตัดสินใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่ “ศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสุขุมวิท” หลังรู้สึกมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ไม่นาน จึงได้รับรู้ที่มาสาเหตุภาวะอาการ ได้เข้าสู่ขั้นตอนการตรวจด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์จนเดินหน้าสู่การบำบัดรักษาที่ส่งผลให้ “คุณสุภาริดา” ก้าวข้ามอันตรายจาก “มัจจุราชเงียบ-หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ได้ทันการณ์โดยไม่พลาดท่าเสียที และยินดีถ่ายทอดเรื่องราวให้ท่านผู้อ่าน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ได้ทราบทั่วกัน โดยระบุว่า…

คุณสุภาริดา สิทธิสาร

“…ตอนนั้นไม่ได้สังเกตตัวเองเลยค่ะว่าเป็นใจสั่น มันอาจนาน ๆ ที หรือเราไม่รู้สึกว่ามันแรงแต่คืนหนึ่งที่กำลังจะนอนแล้วรู้สึกแปลก ๆ คือหัวใจมันเต้นแบบตุ๊ก ๆ ๆ ๆ เหมือนกำลังจะขึ้นเวที เลยตัดสินใจมาฉุกเฉินเพราะเป็นคนไข้ที่นี่อยู่แล้วก็เลยรีบมาตรงนี้ พอมาปุ๊บก็เหมือนคุณหมอตรวจไม่เจอในตอนแรก…แต่ที่นี่มีศูนย์หัวใจอยู่แล้วก็เลยขอแอดมิดเลย และรุ่งขึ้นขอพบหมอเฉพาะทาง ก็มีคุณหมอฑิตถามาดู ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่เจอเหมือนกัน เพราะกินยาควบคุมการเต้นกับยานอนหลับไว้เมื่อช่วงกลางคืน สุดท้ายคุณหมอได้ติดเครื่องจับหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วก็เจอจริง ๆ ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นเต้นผิดจังหวะชนิด PVC แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหนัก เพราะมันไม่เป็นต่อเนื่องแต่เป็นช่วง ๆ แต่ก็มีข้อคิดตรงที่คุณหมอบอกว่าถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ ถ้าอายุเยอะขึ้นก็จะเหมือนคนที่เดินสะดุดทุกวันจนข้อเข่าเสื่อม ก็เลยตัดสินใจทำหัตถการ เพราะถ้าไม่ทำก็จะเป็นไปเรื่อย ๆ ไม่งั้นก็ต้องกินยาตลอดชีวิต ซึ่งด้วยไลฟ์สไตล์เรา ถ้าต้องกินยาตลอดไปคงไม่โอเค… พอทำหัตถการ แล้วนอน 1 คืนใน ICU ซึ่งห้ามขยับขา 7-8 ชั่วโมงป้องกันเลือดไหล ข้อห้ามอื่นมีแค่ 1 สัปดาห์แรกยังไม่ให้ออกกำลังกายเพื่อเลี่ยงผลกระทบกับแผลจากเข็มตอนทำหัตถการ หลังจากแผลไม่ได้มีปัญหา ก็ปกติ จริง ๆ พอครบ 7 วันแล้วคุณหมอบอกไปต่อยมวยได้เลยค่ะ…” 

‘หมดสิทธิ์จะพ้น’ การ ‘ตรวจจับ’

กรณีที่ผู้ป่วยสาววัย 25 ปีรายนี้เกิด “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ช่วงกลางคืน โดยตัดสินใจเข้ารับการตรวจที่ “ศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสุขุมวิท” ในคืนนั้น ซึ่งแม้อาการจะไม่ปรากฏให้ตรวจจับได้ แต่ “คุณสุภาริดา” ขอแอดมิดเพื่อรอตรวจรอบใหม่ในวันถัดไปเลย และรุ่งขึ้น “พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล” อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด รับหน้าที่ตรวจร่างกาย ซักประวัติ จึงช่วยให้ทราบว่ามีอาการนำมาก่อนเรื่อยมาแต่ยังไม่เคยปรึกษาแพทย์ จนรู้สึกผิดสังเกตชัดเจนและไม่ปล่อยไว้ ส่งผลให้ได้รับการตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ควบคู่กับ การตรวจติดตามสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่า “Holter monitor” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่มีการจัดเตรียมไว้ประจำ “ศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสุขุมวิท” โดย “คุณหมอฑิตถา” ได้อธิบายถึงเคสนี้ว่า…

ห้อง Cath Lab รพ.สุขุมวิท

“…ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดกับผู้ป่วยรายนี้เป็นผลจากหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควร ซึ่งสาเหตุอาจมีตั้งแต่ปัจจัยในตัวคนไข้เองที่อาจมีโครงสร้างหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรืออย่างที่ 2 คือเกิดจากโรคประจำตัว มีโรคประจำตัวซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความดัน เบาหวาน ไขมัน หรือโรคไทรอยด์ หรือภาวะเกลือแร่ผิดปกติ และสาเหตุที่ 3 อาจเป็นปัจจัยภายนอก เช่น กินยาบางชนิด สารคาเฟอีน แอมเฟตามีน ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน… ทั้งนี้การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้มี 2 อย่าง คือ ใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นจังหวะที่ปกติขึ้น แต่ว่ายาตัวนี้มีข้อจำกัดในคนไข้บางราย เช่น อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือมีผลข้างเคียง เช่น เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม ซึ่งจะต้องไปสู่ขั้นตอนที่ 2 ของการรักษา ก็คือ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง และหลังจากรักษาแล้วคนไข้ก็ไม่ต้องกลับมารับประทานยาอีก…”

พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล รพ.สุขุมวิท

“คุณหมอฑิตถา” ได้อธิบายเสริมไว้ว่า…ปัจจุบันนี้โรคหัวใจเกิดในคนไข้ที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นในกลุ่มของ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เต้นช้า เต้นเร็ว หรือ เต้นผิดจังหวะ โดยคุณหมอได้กล่าวถึง “อาการเตือน” ที่อาจเกิดนำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น… ใจหวิว…ใจสั่น…หัวใจเต้นพลิ้ว…รู้สึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง ซึ่งหากเกิดกับท่านใด ก็ได้ฝากคำแนะนำมาด้วยว่า… “…ขอให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นไว้ก่อน เพื่อจะได้ทราบว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซ่อนอยู่หรือไม่ จะมีโอกาสพ้นอันตรายได้มากทีเดียวค่ะ…”

‘เทคโนฯการแพทย์’ เพื่อ ‘สยบ’

ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญในการรักษาซึ่ง “หมอจอแก้ว” ขอเปรียบเปรยว่าคุณหมอผู้รักษาได้ใช้วิธี “หักดิบ” กับภาวะ “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ที่มารบกวนผู้ป่วยสาววัย 25 ปีรายนี้ เนื่องจากเป็นการใช้ “เทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์” ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าสามารถกำจัดต้นตอสาเหตุเพื่อปิดโอกาสในการกลับมาออกฤทธิ์เบียดเบียนผู้ป่วย โดย “นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา” อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ ในฐานะ “แพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสุขุมวิท” ให้ข้อมูลการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะนี้ โดยกล่าวว่า…

นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา รพ.สุขุมวิท

“…เวลาเราตรวจเจอภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สิ่งที่ทำคือเราจะประเมินความรุนแรง ซึ่งเบื้องต้นการประเมินเราดู 2 อย่าง อย่างแรกคือ ถ้าการเต้นผิดจังหวะเยอะพอสมควร สิ่งที่ตามมาคือหัวใจจะเริ่มมีปัญหา การบีบตัว การทำงานหัวใจจะเริ่มต่ำกว่ามาตรฐาน ก็คือพอเต้นผิดจังหวะเยอะ ๆ หัวใจเริ่มทำงานได้ลดลง อย่างที่ 2 คือ เราจะประเมิณว่าการเต้นผิดจังหวะในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแต่ละอย่างจะมีวิธีตรวจเพิ่มเติมแยกกันไป… เราก็ตรวจไปตามวิธีการ โดยดูโครงสร้างหัวใจก่อนด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง… การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยทั่วไปเรามีหลักคือ วิธีแรก กรณีเป็นน้อย นาน ๆ เจอที ปีหนึ่งเป็นสัก 1-2 ครั้ง ก็แนะนำให้สังเกตอาการไปก่อน วิธีที่ 2 คือการกินยา ยาหลายตัวสามารถกดการเต้นผิดจังหวะลงได้ ตัวที่ปล่อยสัญญาณผิดปกติจะทำงานลดลง… แต่ในบางราย 50% กินยาแล้วอาจไม่ได้ตอบสนองอะไร และสิ่งที่ควรรู้คือยาแต่ละตัวจะมีข้อดีข้อเสีย บางตัวกินแล้วอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หวิว ๆ เหมือนจะหน้ามืดเป็นลม ทำให้หลายรายกินยาแล้วไม่โอเค ยิ่งคนไข้กลุ่มอายุน้อยจะมีปัญหาที่เจออย่างหนึ่งคือกินยาแล้วชีพจรจะเต้นช้า ปัญหาที่เจอบ่อยมากคือนักกีฬา คนที่ออกกำลังกายหนัก การกินยาหัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย-เหนื่อยเร็วขึ้น จนหลายครั้งไม่สามารถทำกิจกรรมที่อยากทำได้ จึงมาถึงเรื่องของการรักษาวิธีสุดท้ายคือการ จี้ไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มนิยมใช้มากขึ้น…

หัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

การใช้วิธีจี้หัวใจด้วยไฟฟ้า มีโอกาสหายขาดสูงถึง 90% นะครับ หลักการนี้ก็คือเราจะใช้สายนำสัญญาณใส่เข้าไปในร่างกาย ปกติเราใส่ทางหลอดเลือดที่ขา พอสายนำสัญญาณเข้าไปถึงปุ๊บ เราก็จะหาตำแหน่งที่มันปล่อยสัญญาณผิดปกติ แล้วก็ทำการจี้ทำลายมันครับ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับคนไข้หัวใจเต้นผิดจังหวะที่ตัดสินใจไม่กินยา…หรือกินยาแล้วไม่ตอบสนอง…หรือกินยาแล้วเกิดปัญหา… ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มทำหัตถการเราจะแนะนำคนไข้ให้หยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 วัน โดยในบางราย หรือการใช้ยาบางตัว อาจต้องหยุดนานกว่านั้น และในวันที่นัดทำก็จะให้มาโรงพยาบาลซึ่งได้เตรียมความพร้อมในการนำคนไข้เข้าสู่ห้องสวนหัวใจเอาไว้แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีที่เราใช้จะเป็นการสร้างภาพ 3 มิติ ถือเป็นมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะช่วยให้แพทย์เห็นโครงสร้างของหัวใจได้ชัดเจนสำหรับการจะหาตำแหน่งที่ปล่อยสัญญาณผิดปกติ โดยหลังจากเราใส่สายไปหาตำแหน่งที่ต้องการแล้วก็จะเป็นกระบวนการจี้ ซึ่งหลักการคือจะเป็นการเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนที่ปลายสายเพื่อไปทำให้คุณสมบัติในการปล่อยสัญญาณผิดปกติหมดไปโดยไม่เกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อในจุดนั้น เพียงแต่อาจเกิดการอักเสบได้… หลังจากจี้เสร็จเรียบร้อยปกติแล้วจะรอดูว่ามันกลับมาเป็นซ้ำหรือเปล่า ถ้าในช่วง 10 นาทีมันกลับมาเป็นซ้ำส่วนใหญ่แล้วก็แนะนำให้จี้ซ้ำ ก็เป็นอันจบในแง่ของหัตถการ แล้วก็เอาสายออกและทำการห้ามเลือด ณ ตำแหน่งที่เราแทงเข็มเข้าไป เมื่อครบถ้วนกระบวนการแล้วก็ส่งไปสังเกตอาการใน ICU อย่างน้อยสัก 1 คืน เมื่อปกติดีก็กลับบ้านได้วันรุ่งขึ้นครับ…”

…เมื่อราว ๆ 30 ปีก่อนหน้านี้ยังไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์แบบนี้มาช่วยตรวจวินิจฉัย รวมถึงใช้ “สยบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ให้หมดฤทธิ์ได้เหมือนปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจผู้ป่วยในยุคก่อนที่จำเป็นต้องอาศัยยากินเพื่อกดอาการแล้วก็ตามมาด้วยผลข้างเคียงที่ก่อผลกระทบได้อีก…โดยเฉพาะผู้เจอปัญหาขณะที่อายุยังน้อย จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นโชคดีของคนยุคนี้ที่ได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยีการแพทย์” มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเลิศประเสริฐศรีกว่ายุคก่อน ๆ เป็นไหน ๆ ซึ่ง “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” จะนำมาเสนอให้ได้ทราบกันเป็นประจำครับ.  

หมอจอแก้ว