ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบ 24 ปีของปูติน หรือนับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่ปูตินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
รัสเซียถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของรัฐบาลเปียงยาง และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเพียงไม่กี่ประเทศของเกาหลีเหนือ โดยความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี สามารถย้อนหลังไปจนถึงการสถาปนาเกาหลีเหนือ ซึ่งปีนี้ครบรอบปีที่ 76
แม้รัสเซียหรือในยุคสงครามเย็นคือสหภาพโซเวียต เคยลดการมอบความสนับสนุนหลายด้านให้แก่เกาหลีเหนือลงไปบ้าง เนื่องจากมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ เมื่อปี 2533 และรัฐบาลเปียงยางได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534
ผู้นำรัสเซียกล่าวในช่วงหนึ่ง ของการเยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ว่ารัฐบาลมอสโกขอบคุณ “ความสนับสนุนที่ต่อเนื่องและมั่นคงอย่างเป็นระบบ” ของรัฐบาลเปียงยาง ที่มีต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัสเซีย รวมถึง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยูเครน และกล่าวถึง การลงนามร่วมกันใน “เอกสารพื้นฐานฉบับใหม่” เพื่อเป็นการวางรากฐานกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีในระยะยาว
ด้านผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือยกย่องว่า ความสัมพันธ์กับรัสเซีย “เข้าสู่ยุคสมัยใหม่” และมีแต่จะ “เบ่งบานมากยิ่งขึ้น” อีกทั้ง “ไม่สามารถเปรียบเทียบได้” กับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียต
การพบหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัสเซียและเกาหลีเหนือในครั้งนี้ เกิดต่อจากการที่คิมเยือนรัสเซีย เมื่อเดือนก.ย. ปีที่แล้ว และปูตินตอบรับคำเชิญของผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ว่าจะเดินทางเยือนกรุงเปียงยาง “เมื่อถึงช่วงเวลาเหมาะสม” และผู้นำรัสเซียกล่าวระหว่างการเยือนเกาหลีเหนือครั้งนี้ เชิญคิมให้เยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการด้วย
แน่นอนว่า การเยือนกรุงเปียงยางของปูตินได้รัยการจับตาอย่างใกล้ชิดจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐและเกาหลีใต้ ตลอดจนญี่ปุ่น และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียและเกาหลีเหนือลงนามร่วมกัน ในข้อตกลงว่าด้วย “การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ซึ่งทั้งสองประเทศกล่าวว่า คือข้อตกลง “ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง”
สาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าว คือการที่รัสเซียและเกาหลีเหนือ “มอบความสนับสนุนและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ในกรณีที่อีกฝ่าย “เผชิญกับการถูกคุกคามด้วยความก้าวร้าว” จากฝ่ายตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ
นอกจากนั้น ปูติน “ไม่ปฏิเสธ” เกี่ยวกับ “ความร่วมมือด้านเทคนิคทหาร” กับเกาหลีเหนือ และยืนยันว่า รัฐบาลมอสโกและรัฐบาลเปียงยางจะร่วมกันยืนหยัด ต่อต้าน “การใช้อำนาจบาตรใหญ่” ที่รวมถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐ และพันธมิตรตะวันตก โดยผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) “ควรทบทวน” มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีหนือ มีผลบังคับใช้ “ทันที” แทนข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศเคยลงนามร่วมกันแล้ว 3 ฉบับ เมื่อปี 2504 2543 และ 2544 โดยทั้งสองประเทศยืนยันว่า เนื้อหาทั้งหมดของข้อตกลง เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น ร่วมด้วยกฎหมายของทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือ
อนึ่ง มาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น ระบุว่า รัฐสมาชิกยูเอ็น “มีสิทธิอันชอบธรรม” ที่จะปกป้องตนเองอย่างครอบคลุม หากเผชิญกับอันตรายจากภัยคุกคามทางทหาร ซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจัยภายนอก
ด้านสำนักข่าวกลางเกาหลี ( เคซีเอ็นเอ ) เผยแพร่แถลงการณ์ของคิม ว่าข้อตกลงดังกล่าวกับรัสเซีย เกิดขึ้นด้วยเหตุผล “เพื่อการป้องกันตัว” อันจะนำไปสู่ “สันติภาพและเสถียรภาพ” ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค และอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญของการปฏิบัติตามข้อตกลง คือรัสเซียและเกาหลีเหหนือต้องไม่ลงนามในข้อตกลงลักษณะคล้ายคลึงกัน “กับประเทศอื่นใดอีก” เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองประเทศ
ขณะที่นายจอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ให้ความเห็นว่า “ความวิตกกังวล” ของรัฐบาลวอชิงตัน “ไม่ได้อยู่ที่การเดินทางไปเยือน” แต่คือการที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ “มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น” และ “จะส่งผลกระทบต่อชาวยูเครน เนื่องจากรัสเซียยังคงใช้อาวุธของเกาหลีเหนือในสมรภูมิ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าขั้วอำนาจฝ่ายไหนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการเยือนครั้งนี้ อย่าลืมว่า “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ในภูมิภาคแห่งนี้ คือ จีน เฝ้าดูทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น “อยู่เบื้องหลังอย่างเงียบเชียบ”
แม้รัฐบาลปักกิ่ง “ให้ความคุ้มครอง” แก่เกาหลีเหนือ ด้วยการใช้อำนาจวีโต้ในฐานะหนึ่งในสมาชิกถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถรอดจากการประณาม และความพยายามของฝ่ายตะวันตก ซึ่งต้องการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่เคยประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน แต่ “ความนิ่งสงบ” ของรัฐบาลปักกิ่ง ที่มีต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ เป็นสิ่งที่ทั้งรัฐบาลมอสโกและรัฐบาลเปียงยาง “ต้องระมัดระวัง”
จริงอยู่ที่ตอนนี้เกาหลีเหนือนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น ด้วยสัดส่วนราว 25% ของทั้งหมด แต่เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือมากกว่า 80% ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยจีน ขณะเดียวกัน ต่อให้ยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือพันธมิตรที่แน่นแฟ้น ก็ยังไม่มีหลักประกันชัดเจนว่า เกาหลีเหนือจะสามารถส่งมอบอาวุธให้กับรัสเซียได้อย่างตลอดรอดฝั่ง และแทบเป็นไปไม่ได้ ที่รัฐบาลมอสโกจะถ่ายทอดเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์และทางทหาร “ในระดับซับซ้อน” ให้แก่เกาหลีเหนือ
ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนเกิดสงครามในยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ “สนิทกันเพียงระดับหนึ่ง” ในช่วงที่ยังไม่มีปัญหากับตะวันตกมากขนาดนี้ รัฐบาลมอสโกเคยคว่ำบาตรรัฐบาลเปียงยางมาแล้ว และแสดงจุดยืนร่วมกับฝ่ายตะวันตก เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์
เดิมทีกำหนดการเยือนกรุงเปียงยางของปูติน คือระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. ทว่าผู้นำรัสเซีย “มาสาย” ภารกิจทั้งหมดจึงเหลือเพียงวันเดียว แน่นอนว่า หากเป็นการเยือนจีน ผู้นำรัสเซียย่อมมี “ความเกรงใจ” ต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่น้อย ยิ่งสะท้อนว่า ไม่ว่าทั้งสองประเทศจะกำหนด “บทบาทใหม่” ของการเป็นพันธมิตรมากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากปราศจากจีน รัสเซียและเกาหลีเหนือ “ลำบากทั้งคู่”
จริงอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือแนบแน่นมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่สงครามในยูเครนปะทุ แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้ทุกฝ่ายต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ “จะมีผลแค่ชั่วคราว” เฉพาะช่วงสงครามหรือไม่ รัฐบาลเปียงยางจะถูกทอดทิ้งเมื่อการสู้รบยุติหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ มีความเป็นไปได้ที่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ จะสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับจีน ประเทศซึ่งทุกฝ่ายทราบดีว่า คือผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน “ตัวจริง” ของรัฐบาลเปียงยาง
เหนือสิ่งอื่นใด ความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ “ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างแท้จริง” อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP