ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็เป็นประธานเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมออก 10 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้
1. ลดความรุนแรงและความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาอาการจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด
2. ลดจำนวนผู้เสพด้วยการบำบัดรักษาและต่อยอดการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร
3. ดำเนินนโยบายร่วมมือกับต่างประเทศเชิงรุกและเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน
4. ยกระดับการปราบปรามทำลายโครงสร้างเครือข่ายกลุ่มการค้ายาเสพติดระดับต่างๆ
5. ป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพติดรายใหม่
6. ปลุกประชาชนให้ตื่นและเข้าร่วมการแก้ไขปัญหายาเสพติด
7. สร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
8. กำหนดเป้าหมายและ KPI ลดปัญหายาเสพติดภายใน 4 ปีตามนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล
9. ขอความร่วมมือองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทั้งการคัดกรอง บำบัดฟื้นฟูแก่ผู้ขาดการบำบัด
10.บริหารจัดการที่เป็นเอกภาพในทุกระดับทั้งส่วนกลางและอีกหลายหน่วยงานต้องผนึกกำลังร่วมกันผ่านกลไกขับเคลื่อนของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ที่น่าสนใจมาตรการของรัฐบาลอยู่ในข้อที่ 5 คือการป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพติดรายใหม่ ซึ่งต้องยอมรับข้อเท็จจริงกันว่า ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยของประเทศไทย มีเด็กและเยาวชนเข้าไปข้องเกี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขาย โดยข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระบุด้วยว่า “เยาวชนอายุ 20-24 ปี เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 47.9 ลองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 44.3 ขณะที่กลุ่มอายุ 30-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.9 และอายุระหว่าง 15-19 ปี คิดเป็น 32.3” หากพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นชัดเจนว่าเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นสองกลุ่มอายุที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดมากที่สุด
ปัญหายาเสพติดจะแก้ไขได้ต้องอาศัยวิธีการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปราบปรามที่เข้มงวด ยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิด การบำบัดรักษาหรือการให้ความรู้กับสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา แต่สิ่งที่จะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมีความยั่งยืน ก็คือ “ลดจำนวนผู้เสพรายใหม่” ซึ่งต้องถอยหลังไปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจากสิ่งเสพติดที่จำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อซึ่งก็คือ “บุหรี่” และรวมถึงสิ่งเสพติดผิดกฎหมายแต่มีการลักลอบจำหน่ายกันเกลื่อนรอบสถาบันการศึกษา ซึ่งก็คือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะงานวิจัยทางการแพทย์หลากหลายประเทศก็ยืนยันตรงกันทั้งหมดว่า “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูบานแรกสู่ยาเสพติด” หากสมองของเด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งเสพติดเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมมีโอกาสพัฒนาไปใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งในประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ยท. ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกันพิสูจน์ข้อมูลนี้ด้วยแล้ว โดยเมื่อปี 2566 เก็บข้อมูลพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนต้องโทษคดียาเสพติด 300 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน พบเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5% หากจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้
พบว่า 80.7% เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก ในจำนวนนี้ 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย
สารระเหย 5.5% ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีความสัมพันธ์กับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนที่เข้าถึงการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีโอกาสเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดในอนาคต ทำให้การปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลอาจประสบผลสำเร็จได้ยากมากยิ่งขึ้น
จึงถือโอกาสวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2567 วันที่ 26 มิถุนายนนี้ ขอเรียกร้องไปยังทุกหน่วยงานราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือปราบรามยาเสพติด ขอให้ทุกส่วนร่วมกันรณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ทุกชนิด ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เช่น กวดขันการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาในประเทศไทยตามด่านชายแดน การจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงต้องดำเนินคดีกับผู้ครอบครองหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะเพื่อให้เป็นตัวอย่าง รวมถึงการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องกับสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษาถึงผลกระทบจากสิ่งเสพติดทุกประเภท แม้ในระบบการศึกษาจะมีการจัดการเรียนการสอนอยู่บ้าง แต่ยังน้อยและขาดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญไม่เพิ่มผลิตภัณฑ์เสพติดชนิดใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์เสพติดอื่นๆในอนาคตอีกด้วย
ข้อมูลจาก นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์