และคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องยุบพรรคก้าวไกล เหตุมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ศาลรธน.พิจารณาต่อในนัดวันที่ 3 ก.ค. ขณะที่ศาลอาญาประกันตัวชั่วคราวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีมาตรา 112 วงเงิน 5 แสนบาท จากผลทางคดีของคดีใหญ่ๆ เหล่านี้ จะส่งผลอย่างไร “คอลัมน์ตรวจการบ้าน”  จึงต้องมาสนทนากับ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” มาวิเคราะห์ประเด็นการเมืองหลังจากนี้

โดย “ดร.สติธร” เปิดประเด็นว่า เป็นการชัดเจนว่า การเมืองไทยก็น่าจะเดินไปตามดีล คำพิพากษาหรือแนวทางที่ออกมาชี้ชัดว่า ไม่มีใครล้มดีลรัฐบาลเพื่อไทย การที่นายทักษิณ ได้ประกันตัวสามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้ เดินสายพบปะคนเก่าๆ ไปคุยบ้านใหญ่ หรือช่วยคนที่พรรคเพื่อไทยลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และภารกิจเรียกคืนศรัทธา คะแนนนิยมของเพื่อไทย เพื่อสู้กับความนิยมของพรรคก้าวไกลที่พุ่งขึ้น

ส่วนคดีของนายเศรษฐา เดิมรู้สึกว่า น่าจะจบเร็ว แต่ดูเหมือนว่าศาลจะยืดเยื้อออกไป อาจจะเป็นคุณกับนายเศรษฐา เหมือนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตนใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะยังมีแรงกดดันจากสถานภาพนายกรัฐมนตรีที่ไม่แน่นอน น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจ นักลงทุน ซึ่งเริ่มพูดว่าการเมืองไม่นิ่งทำให้หุ้นตก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันก็มีความชัดเจนแล้วจากการที่นายทักษิณก็ได้ประกันตัว ทั้งนี้ การได้ประกันตัวของนายทักษิณ ส่งผลให้ผู้ต้องหาคดี 112 อื่นๆ ได้รับสิทธิประกันตัวด้วย แต่อาจประวิงเวลา เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าผิดไปจากก่อนหน้านี้แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ  

@ มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบของกระบวนการยุติธรรมจะส่งผลถึงการรัฐประหาร มองว่า มีโอกาสเกิดหรือไม่  

เป็นผลพวงความขัดแย้งเดิมที่สะสมมา 20 กว่าปี โดยมีนายทักษิณเป็นศูนย์กลาง วันนี้ต่อให้นายทักษิณมารับภารกิจสลายขั้ว แต่ร่องรอยความขัดแย้ง อารมณ์ความรู้สึกคนที่เคยออกมาไล่นายทักษิณ ไล่รัฐบาลพรรคการเมืองที่นายทักษิณสนับสนุน ไม่พอใจที่ให้นายทักษิณมาจับมือกับฝ่ายที่เขาสนับสนุน แต่เห็นความจำเป็นว่า เพื่อมาสู้กับพรรคก้าวไกล แต่ก็ไม่พอใจ ไม่อยากเห็นนายทักษิณได้รับอะไรที่เกินเลยจากกระบวนการยุติธรรมมากเกินไป

เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาหรือปฏิบัติการที่เกิดขึ้น คือความรู้สึกครุกรุ่น แต่แสดงออกมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่แสดงออกเลย ก็จะทำให้นายทักษิณแสดงบทบาทได้อิสระเกินไป ซึ่งมีประสบการณ์ว่านายทักษิณเวลามีอำนาจเป็นอย่างไร กินรวบ 2 มาตรฐาน อยู่ในอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ทำให้เสียหลักการต่างๆ ไป โดยเฉพาะรอบนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ส่วนคนที่คิดถึงการรัฐประหารก็มีอยู่จริงๆ คนที่สุดโต่ง ก็จะไปทางนั้น สู้ในสนามเลือกตั้งไม่ได้ก็ล้างไพ่ใหม่ เหมือนที่ผ่านมา กับอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ในฝ่ายเดียวกันแต่รู้สึกว่า มีบทเรียนแล้ว 2 รอบว่า ไม่ได้ง่าย ไม่ใช่ล้างไพ่ใหม่ แล้วจะได้สิ่งที่เรียกร้อง โดยเฉพาะคนที่ผิดหวังว่าพอรัฐประหาร แล้วจะเกิดการปฏิรูป แต่สุดท้ายได้เพียงแผนปฏิรูปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เกิดขึ้นจริง ยิ่งเป็นหลักฐานให้รู้สึกว่า ประคับประคองระบบให้เป็นอย่างนี้ไปดีกว่า เพราะถ้าไปล้มแล้ว สุดท้ายกว่าจะก่อร่างสร้างขึ้นใหม่ กว่าจะเดินไปข้างหน้าได้ใช้เวลามาก   

@ ถ้าอีกฝั่งมีแนวโน้มเป็นคุณหมด คดีของพรรคก้าวไกลอาจจะออกมาทางลบหรือไม่

คดีของพรรคก้าวไกลตอนนี้เกินความรู้สึกลบไปแล้ว เพราะพรรคก้าวไกลและกองเชียร์พรรคก้าวไกล ทำใจเอาไว้แล้ว จะยุบหรือไม่ยุบก็มีค่าเท่ากัน แค่เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง ถ้าถูกยุบก็ไม่แปลกใจ แค่ไปตั้งพรรคใหม่ แต่ถ้าไม่ถูกยุบอาจจะตกใจ และอยู่พรรคเดิม ไม่ส่งผลต่อคะแนนนิยม เผลอๆ ถูกยุบจะดีกว่า เพราะได้รับความเห็นใจ แต่คิดว่า อีกฝั่งก็คิด และระวังว่า หากยุบแล้วกระแสพรรคก้าวไกลจะพุ่งพรวด เหมือนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถ้าครั้งนี้โตขึ้น 2 เท่า จะได้ 200 กว่าที่นั่ง เพราะอาจทำให้คนที่ยังลังเลระหว่างเพื่อไทย กับก้าวไกล รู้สึกว่าเพื่อไทยชักยังไงๆ จึงหันมาที่ก้าวไกล  

ดังนั้นการยุบพรรค อาจไม่ถูกนำมาใช้ แต่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่ร้อนแรงเกินไป โดยมองที่แม่เหล็กของพรรค เช่น หากนายกฯ ไม่ได้ชื่อพิธา ความร้อนแรงในสนามเลือกตั้งจะเบากว่านี้หรือไม่ จึงอาจเป็นการสกัดคนรุ่น 2 รุ่น 3 ที่ที่พรรคเตรียมไว้ออกจากกระดานการเมือง ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้ ทำให้คนคิดว่า ถึงนโยบายก้าวไกลดี แต่บุคลากรที่มีจะมือถึงพอที่จะบริหารประเทศหรือไม่ อย่างน้อยคนก็ลังเล เลือกเขตเพื่อไทย  บัตรพรรคก็ก้าวไกล ไม่ใช่กาก้าวไกลทั้ง 2 บัตร หรืออาจเป็นไปได้ที่จะกาให้เพื่อไทยทั้ง 2 บัตรหาก พรรคเพื่อไทยโชว์ผลงานได้ดีขึ้น

การยุบพรรคก้าวไกลถูกคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่ละเอียดมากขึ้น ต้องคิดภาพจากนี้ว่า จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ และคิดถึงการดีล ที่ไม่ใช่แค่ให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม แต่คิดไปถึงเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังจะอยู่เป็นรัฐบาลด้วยกันอีก จึงต้องกดก้าวไกลไม่ให้มีเกิน200 เสียง ส่วนพรรคร่วมก็มี 300 เสียง แล้วไปด้วยกัน

@ คนมองว่า การยืดเวลาวินิจฉัยคดีออกเป็นเทคนิกอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้วเป็นเทคนิกของฝ่ายไหน

ถ้ามองในมุมก้าวไกล ที่ถูกร้องยุบพรรคก็ต้องต่อสู้ถึงที่สุด หวังผลที่ดีที่สุดคือไม่ถูกยุบ แต่ถ้าถูกยุบก็ยืดเวลาต่อสู้ให้ถึงที่สุด งัดข้อมูลฟาดกันเต็มที่ เขาเชื่อว่าจะได้รับความเข้าใจจากสังคม เพราะเป็นผู้ถูกกระทำ จึงเป็นเกมที่เขาต้องเล่น เพื่อให้การถูกยุบพรรคนำไปสู่การยิ่งยุบยิ่งโต อย่างที่ใครๆ กลัวกัน

ขณะที่อีกฝ่ายก็คิดว่า การยุบพรรคไม่ยาก แต่จะยุบเมื่อไหร่ เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะถ้ายุบวันนี้ จะทำให้ก้าวไกลมีเวลา 2 ปี 3 ปี กว่าจะได้เลือกตั้ง ก็จะเข้าอีหรอบเดิม ที่มีการตั้งหลักและพร้อมอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เพราะฉะนั้น ยื้อกันไปก่อน อย่างน้อยก็กวนสมาธิก้าวไกลให้พะวงกับการสู้คดี และทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อสร้างความนิยมของตัวเอง หรือขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการเสนอกฎหมาย เพื่อตอบสนองฝ่ายเชียร์ของตัวเอง  

“เป็นไทม์มิ่งตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเกมการชิงไหวชิงพริบ เป็นเกมยืดเยื้อ ซึ่งคิดว่าจะยื้อกันไปจนถึงเวลาที่รัฐบาลตั้งหลักได้ นโยบายเรือธงสำเร็จ หรือนโยบายอะไรก็ได้ต่อจากนี้ ที่ทำให้รัฐบาลถูกพูดถึงในทางบวกมากขึ้น ได้รับความนิยมบ้าง เฉพาะเพื่อไทยรู้สึกว่า นโยบายที่ออกมาได้ผล จะตีคืน ก็ยุบไปเลยต่อให้กลับมาใหม่ก็ไม่กลัวแล้ว”

คำว่ารัฐบาลตั้งหลักได้ ยังรวมถึง นายเศรษฐาอยู่หรือไม่

รวมอยู่แล้ว เพราะภายใต้รัฐบาลข้ามขั้ว บุคคลที่พรรคเพื่อไทยมี ถึงอย่างไรนายเศรษฐาก็เหมาะกว่านางสาวแพทองธาร ในแง่การได้รับการยอมรับจากรัฐบาลผสมซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิม จริงอยู่ว่านายเศรษฐาถูกวิจารณ์เยอะ ทั้งคดีที่คาราคาซัง และการบริหารประเทศ แต่ถ้าสมมุตินายเศรษฐาไปไม่ไหวจริงๆ จะสังเกตว่ามีแรงส่ง แรงดันบางอย่าง ที่ไปพูดถึงคนอื่นๆ เช่น คนในป่า หรืออยู่ๆ ก็มีการพระราชทานเครื่องราชฯ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ทำให้คนมองนายอนุทินใหม่ หรือคิดไปถึงว่าให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมา นั่นแปลว่านายเศรษฐาน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งเดียวที่พอรับกันได้

ฉะนั้น นี่เป็นเกมการเมืองที่ประชาชน ก็ต้องรอดู เพราะต่างฝ่าย ต่างต้องการแย่งชิงความนิยมจากประชาชน ก็จะมีนโยบายมายั่วความสนใจ การที่ประชาชนรอ ถึงอย่างไรก็ไม่เสี่ยงเท่ากับการปล่อยให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งไม่รู้ว่าพอรัฐประหารไปแล้วเขาจะ คิดถึงประชาชนหรือไม่ อยากให้อะไรกับประชาชนหรือเปล่า.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่