“หนึ่งในรูปแบบสงครามยุคหน้า คือ… ทาเลนท์วอร์ (Talent War) หรือสงครามแย่งคนเก่ง ซึ่งคนสิงคโปร์เก่งมาก และกับคนไทยก็เก่ง เพียงแต่ ecosystem ไทยยังไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นการสร้างเวทีดึงดูดคนเก่งให้มาอยู่ที่ประเทศไทย และรักษาคนเก่งไว้ให้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโลกอุตสาหกรรมใหม่ โจทย์หลักคือการสร้างคนที่เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ” …นี่เป็นการสะท้อนไว้โดย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในเวที Thailand Competitiveness Forum 2024 ที่จัดโดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มจธ. เมื่อเร็ว ๆ นี้…

ที่มีประเด็นและคีย์เวิร์ดน่าสนใจ…
“ทาเลนท์วอร์-สงครามแย่งคนเก่ง”
“ศึกสำคัญ” ที่ “ไทยยังคงมีจุดอ่อน”

ทั้งนี้ กับคำว่า “สงครามแย่งคนเก่ง” หรือ “ทาเลนท์วอร์” นั้น เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างก็โฟกัส และมีการกำหนด “ยุทธศาสตร์เข้มข้น” กับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในยุคที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ “คลื่นประชากรผู้สูงอายุ” ทำให้หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงไทย มีความจำเป็นต้องการแรงงานเข้ามาอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “แรงงานที่มีทักษะฝีมือ” ที่เป็น “คนเก่ง ๆ” เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้กับประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในเวทีโลกด้านต่าง ๆ ซึ่งกับไทย…นอกจากต้อง “ใช้แรงงานข้ามชาติ” โดยต้องมีมาตรการดูแลด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมแล้ว กับการ “ใช้คนเก่ง” นี่ก็ “จำเป็น” เช่นกัน

โฟกัสที่ “ทาเลนท์วอร์” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… ใน เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่บทความโดย สิริกานดา กองโชค สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งอธิบาย “ทาเลนท์วอร์-สงครามแย่งคนเก่ง” ไว้ว่าคือ… ยุคแห่งการแย่งชิงแรงงานมีทักษะ ที่เป็นผลจากโครงสร้างทางสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงไป จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตวัยแรงงานหนุ่มสาวนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ประชากรวัยแรงงานของแต่ละประเทศลดลง ดังนั้น “สิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ล้วนต้องการ” ก็คือ…ผู้อพยพจากต่างชาติที่เป็น “แรงงานที่มีทักษะ” เพื่อเข้ามา “ทำงาน” กับ “จ่ายภาษี” ให้ระบบสวัสดิการ

จากความต้องการดังกล่าว ทำให้บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วมีการ “แย่งชิงบุคลากรที่มีคุณภาพ” ให้เข้าสู่ระบบแรงงานในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางด้านต่าง ๆ หรือเป็นแรงงานวิชาชีพ แรงงานในภาคบริการ รวมถึงนักกีฬาที่มีความสามารถโดดเด่น ที่ล้วนเป็นเป้าหมายของประเทศมหาอำนาจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการแรงงานที่มีทักษะในหลายประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ประเทศเหล่านี้จึง ใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อดึงดูดแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ระบบแรงงาน ด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น …นี่เป็นภาพรวม “สาเหตุ-ปัจจัย” ทำให้เกิด “ทาเลนท์วอร์” นี้ขึ้นมา

ส่วนตัวอย่างที่ใช้เป็น “กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย” นั้น ในบทความดังกล่าวนำ “กรณีศึกษาจากต่างประเทศ” จากหลาย ๆ ประเทศ มานำเสนอไว้ อาทิ… “เยอรมนี” ที่เมื่อปี 2565 รัฐบาลเยอรมนีได้ ประกาศแผนดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้เข้าทำงานในประเทศ 4 แสนคนต่อปี รวมถึงยังมีการ ออกกฎหมายผ่อนปรนการตรวจคนเข้าเมือง ให้บริษัทสัญชาติเยอรมันสามารถจ้างแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนที่สำคัญ ซึ่งเยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีความต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะมากที่สุดในสหภาพยุโรป

“เกาหลีใต้” ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้มีการประกาศใช้นโยบายดึงดูดผู้อพยพชาวต่างชาติอย่างจริงจัง เมื่อปี 2564 โดย ให้สิทธิการพำนักถาวร รวมถึงสนับสนุนการแปลงสัญชาติ สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติที่จบหลักสูตรปริญญาโทหรือปริญญาเอกด้านนี้ ตลอดจนมีการ ออก Korean Wave Visa เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถด้านวัฒนธรรมบันเทิงให้เข้าทำงาน …นี่ก็อีกกรณีจากต่างประเทศ ที่มีการนำมาเป็นกรณีศึกษาของไทย ซึ่งถึงแม้จะต่างกันที่รายละเอียด แต่ก็มีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นก็คือ…

“สงครามแย่งคนเก่ง-ทาเลนท์วอร์”

และนอกจากที่ระบุข้างต้นแล้ว กับประเทศอื่น ๆ ก็มีการ “แข่งขันทางด้านนโยบาย” เพื่อ “ดึงดูดคนเก่ง” เพื่อ “ดึงแรงงานทักษะสูงหรือทักษะเฉพาะด้านให้เข้าสู่ประเทศ” อาทิ… “อังกฤษ” ที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยจะ ให้วีซ่า 2 ปี และสามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานได้ เมื่อผ่านเงื่อนไข, “ญี่ปุ่น” เน้นกลุ่มแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือเฉพาะทาง เช่น การเกษตร การก่อสร้าง โดย ถ้าผ่านการทดสอบและตรวจสอบแล้ว จะไม่มีการจำกัดอายุวีซ่า

“จีน” จะเน้นชาวต่างชาติที่มีความสามารถระดับสูง หรือเป็นผู้มีความสามารถระดับ Hi-End เช่น เจ้าของรางวัลโนเบล นักกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น โดยจะ ให้วีซ่าที่มีอายุเวลาตั้งแต่ 5 จนถึง 10 ปี และ “สิงคโปร์” เพื่อนบ้านอาเซียนไทย จะเน้นดึงดูดคนเก่ง ๆ ที่เป็นแรงงานทักษะสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ หรือผู้มีรายได้เกิน 7 แสนบาทต่อเดือน หรือประสบความสำเร็จสายกีฬา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิชาการ โดยจะ ให้วีซ่าที่มีอายุ 5 ปี และสามารถต่ออายุได้ เมื่อครบกำหนดวีซ่า…

เหล่านี้ก็ฉายภาพ “สงครามยุคใหม่”
สงครามโลก “สมรภูมิทาเลนท์วอร์”
“ศึกชิงคนเก่ง” นี่ “ไทยก็ต้องคิดสู้!!”.