ข้อมูลประชากรเด็กจากกรมการปกครอง ในปี 2566 มีประชากรเด็ก (อายุ 0-17 ปี) จำนวน 12,722,751 คน คิดเป็นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แบ่งเป็น เด็กชาย 6,540,686 คน เด็กหญิง 6,182,065 คน

นอกจากปัญหาด้านการศึกษาที่มักมีข้อห่วงใยในกลุ่มนี้ การใช้แรงงานที่พบทั่วไปกลับไม่ค่อยถูกสะท้อนออกมามากนัก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญกับวัยนี้ ถึงขั้นมีการกำหนดวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มิ.ย.ของทุกปี

สำหรับประเทศไทยปัญหาแรงงานเด็กมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักสิทธิมนุษยชนผู้คลุกคลีกับการขับเคลื่อนด้านสิทธิในมิติต่างๆ เริ่มต้นด้วยเสียงเรียกร้องว่าต้องการให้ประเทศไทยปราศจากการใช้แรงงานเด็ก และอยากให้เด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยได้รับการศึกษาขั้นต่ำระบบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและให้ดำเนินการโดยทันที เพื่อขจัดรูปแบบ“เลวร้าย”ที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ค.ศ.1999 และยังได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ที่มีเป้าหมาย SDG s ที่ 8.7 ยุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) โดยเฉพาะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน รณรงค์แคมเปญต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ตั้งเป้ายุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบภายในปี 2025

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กระทรวงแรงงานรณรงค์ขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบให้หมดในปีหน้า แต่ยังปรากฏว่ามีการออกกฎหมายให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุ 15-18 ปี ได้อย่างถูกต้องในกฎหมายของกระทรวงแรงงานเอง อาทิ พ...คุ้มครองแรงงาน พ..2541 มาตรา 44 ที่ระบุ ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง อันเป็นการให้เด็กอายุ 15-18 ปี สามารถทำงานเป็นลูกจ้างได้

รวมถึงกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานตามบ้านเองก็ระบุว่า กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับเด็กโดยตรง ในส่วนแรงงานต่างด้าวก็ยังอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานเด็กที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในงานที่ไม่เป็นอันตรายได้

นายสุรพงษ์ มองการแก้ปัญหาแรงงานเด็กดีที่สุดคือ การให้ทุกคนได้รับการศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งมติครม.เมื่อปี 2548 ให้เด็กทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนได้โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารแสดงตน สัญชาติ พื้นที่การศึกษา และระดับการศึกษา ซึ่งหมายถึงเด็กทุกคนสามารถเรียนได้ถึงระดับสูงสุดคือปริญญาเอก

แต่แม้จะมีนโยบายและกฎหมายให้เด็กทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่จากการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พบว่า ในปีการศึกษา 2566 มีเด็กอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา 15 ปี คือ ชั้นอนุบาลที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเข้าไม่ถึง หรือ“หลุด”ออกจากระบบการศึกษาถึง 1,025,514 คน

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยมีเป้าหมายบรรลุผล 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ เผยยังพบกฎหมายและการปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการบางส่วนขัดแย้งหรือไม่เอื้อต่อการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา อาทิ การจัดเงินสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา , การออกระเบียบไม่จัดเงินอุดหนุนช่วยเหลือทางการศึกษาให้กับเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตน ทำให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเข้าเรียนโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2ได้ออกประกาศให้โรงเรียนในสังกัดไม่รับเด็กที่เป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ เด็กที่เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และเด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน

เมื่อกลไกในระบบการศึกษาไม่รับและไม่เอื้อต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กทุกคน เด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาก็จะกลายเป็นเด็กที่เข้าระบบแรงงานเป็นแรงงานเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประตูการเป็นแรงงานเด็กตามกฎหมายก็ยังเปิดรองรับเด็กเหล่านี้”

ดังนั้น เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบให้หมดไปได้ในปี 2025 กระทรวงแรงงานต้อง“ปิดประตู”การเข้าสู่แรงงานเด็กจริงจัง โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็กที่มีอยู่ต่ำกว่า 18 ปี ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาต้อง“เปิดประตู”ทุกบานรองรับเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษา ตามหลัก Education for all ไม่เลือกปฏิบัติ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน