ล่าสุดรฟม. ปรับกำหนดเวลา(ไทม์ไลน์) เปิดบริการโครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรีบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ที่ก่อสร้างเสร็จ100% ภายในเดือนพ.ค. 2571  ส่วนตลอดเส้นทางทั้งโครงการ 35.9 กม. จะให้บริการภายในเดือนพ.ย. 2573

ทบทวนข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ระยะทางรวม 35.9 กม. รวม 28 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กม. รวม  28 สถานี  เป็นใต้ดิน 21 สถานี และยกระดับ 7 สถานี  มูลค่าลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท   มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก   

ที่มาของชื่อ”สายสีส้มเรียกขานตามสีที่ขีดไว้ในแผนที่โครงข่ายแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (2553-2572)  

โครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. รวม 17 สถานี  เป็นใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี  มูลค่าลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท   รฟม.แยกประมูลและก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2566  แต่ไม่สามารถเปิดบริการได้ เพราะยังไม่ได้ติดตั้งงานระบบเดินรถ และต้องรอขบวนรถมาเดิน เนื่องจากรฟม.แยกงานระบบรถไปรวมกับการก่อสร้างโครงการส่วนตะวันตกโดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน

แม้โครงการส่วนตะวันออกยังอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้รับเหมาต้องรับประกันผลงานก่อสร้าง 2 ปี แต่รฟม. ต้องใช้งบประมาณรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประมาณเดือนละ 41 ล้านบาทหรืออย่างต่ำปีละ 492 ล้านบาท  และเมื่อหมดอายุประกันต้องมีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาสภาพไปจนกว่าจะเปิดบริการได้ 

การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท   แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท   รฟม. เปิดประมูลให้ร่วมลงทุนก่อสร้างโครงการส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม.  รวม 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)  และมัดรวมงานติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดและรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กม.  

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM  (มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมางานโยธา)  ชนะประมูลโครงการฯ  เมื่อมีปัญหาข้อพิพาททำให้โครงการล่าช้ามาถึงวันนี้  ไม่สอดรับกับโครงการส่วนตะวันออกที่สร้างเสร็จค้างเติ่งรอเดินรถนานถึง 5 ปี  เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาจัดหาขบวนรถ รวมถึงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณตามแผนปกติอยู่ที่ประมาณ 3 ปีนับจากเริ่มสัญญาสัมปทาน  ขณะที่การก่อสร้างโครงการส่วนตะวันตกต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม  บอกว่า  กำลังรอรฟม.ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ มายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา  หากครม. มีมติเห็นชอบ ทาง รฟม. ก็ลงนามสัญญากับเอกชนได้คาดว่าประมาณเดือน ต.ค.2567

ด้านนายอนวัช สุวรรณฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ BEM บอกว่า  ขณะนี้ BEM มีความพร้อมในทุกด้านที่จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี เบื้องต้นได้จัดเตรียมเงินกู้ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากบริษัทผู้ผลิตขบวนรถไว้ทั้งหมดแล้ว หากลงนามสัญญาโครงการฯ กับ รฟม.แล้วBEM พร้อมจัดหาขบวนรถที่จะนำมาให้บริการประชาชนทันทีโดยเฉพาะส่วนตะวันออกที่รฟม. ก่อสร้างเสร็จแล้ว

จากที่ได้หารือรฟม. เบื้องต้น พบว่า ตามสัญญาโครงการฯ กำหนดให้ BEM ต้องใช้เวลาจัดหาขบวนรถให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 3 ปี 6 เดือน นับจากวันที่เริ่มลงนามสัญญา แต่ BEM รับปากกับรฟม. ว่าจะเร่งรัดในกระบวนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเร็วขึ้นจากกรอบเวลาที่กำหนดไว้แค่ไหน ขอให้ลงนามสัญญาโครงการฯ เรียบร้อยก่อน  หากพิจารณาจากประวัติการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาของ BEM จะเห็นได้ว่า สามารถดำเนินการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ ทุกโครงการ เชื่อว่าประชาชนอาจจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกฯก่อนกรอบเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดบริการในเดือน พ.ค.2571

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นวิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาขนานสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดงจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง  เลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ

จากนั้นแนวเส้นทางวิ่งขนานตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานีรฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้าก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามแนวถนนรามคำแหงจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี  สิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์

ประชาชนต้องเสียโอกาสถึง 5 ปีกว่าจะได้ใช้บริการสายสีส้ม…แต่เมื่อถึงเวลานั้นถ้าพรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลรถไฟฟ้าสายใหม่นี้จะเก็บค่าโดยสารไม่เกิน20 บาท (รวมเชื่อมต่อสายอื่นๆด้วย) ตามนโยบายที่ประกาศไว้ ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว. คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ลั่นวาจาไว้ด้วยว่ารถไฟฟ้า20บาททุกสีทุกสายจะทำให้ได้ภายใน 2 ปี(ตามสัญญาจะครบก.ย.2568).

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต