ข้าใจได้ถึงความจำเป็นที่’ประเทศ ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ“ ขณะที่รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้อง “ฉุดจีดีพีให้สูงขึ้น” เพื่อจะเป็นการ “กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ” ซึ่งก็มีความจำเป็นที่จะ ’ต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ“เพื่อที่จะมา “ทดแทนประชากรวัยแรงงานของไทยที่หายไป” อันเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมี “อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง” อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการต้องเข้าใจถึงการต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนแรงงานไทย กรณีนี้ก็ ’จำเป็นที่ไทยต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม“ เพื่อ ’ป้องกันปัญหา“ที่จะ ’เกิดจาก“ แรงงานต่างชาติ และที่จะ ’เกิดกับ“ แรงงานกลุ่มนี้ด้วย…

หนึ่งใน ’ข้อกังวล“ ของหลายฝ่าย…
นั่นก็คือ…’สุขภาพแรงงานข้ามชาติ“

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อกังวลดังกล่าว…ก็เป็นที่มาของการ “ตั้งคณะทำงาน” ด้านนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ ในชื่อ ’คณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Health Sub-Working Group)“หรือMHWG“ ที่เป็นการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ภายใต้เครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานประเทศไทย หรือ Thailand UNNM โดยมีสมาชิกจากหน่วยงานรัฐ สถาบันระดับชาติ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติ มีเป้าหมายคือ…ขับเคลื่อนประเด็นสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับผู้โยกย้ายถิ่น หาแนวทางเพื่อการ ส่งเสริมสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นในประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2566โดยการบูรณาการกันของหน่วยงานต่าง ๆ และถือเป็นอีกหน่วยงานระดับสากล

และเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดตัวคณะทำงานอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นมาในปี 2566 โดยในการแถลงเปิดตัว “คณะทำงาน MHWG” นั้น มีการบอกเล่าที่มากรณีนี้ไว้ว่า… ส่วนหนึ่งในการแถลงนโยบายของรัฐบาลคือ… เปิดรับแรงงานข้ามชาติ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทย ทำให้คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันนี้อย่างมาก อย่างไรก็ตามแต่แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยก็มีตัวเลขคิดเป็นแค่ 7.3% ของประชากรวัยทำงาน ขณะที่มีแรงงานจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบจ้างงาน

ถ้าไม่มีมาตรการรองรับควบคุมชัดเจน
แรงงานและประเทศไทยมีความเสี่ยง!!

สำหรับ “ความเสี่ยง” ที่ว่านี้…ก็ได้มีการฉายภาพไว้ว่า… แรงงานข้ามชาติ“ นั้นได้ “ถูกนับเป็นรูปแบบหนึ่งของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” และก็ ’จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ“ จากการที่ประชากรแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน ภาษาและวัฒนธรรม การขาดความรู้ด้านสุขภาพ การถูกเลือกปฏิบัติ และข้อจำกัดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสุขภาพ …นี่เป็น “อุปสรรค” ของแรงงานข้ามชาติ ที่ก็เป็นกลุ่มเปราะบางทางด้านสุขภาพ

ในจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศ ไทย ที่มีราว 3.04 ล้านคนนั้น มีเพียง 1.43 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นผู้ประกันตนใน ระบบประกันสังคม ในขณะที่มีผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มนี้อีกราว 1-2.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในไทย ส่วนจำนวนผู้ขึ้นทะเบียน ระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 นั้นมีแค่เพียง 621,737 คน ทั้งนี้ ระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมี 2 ระบบ คือระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการให้บริการที่แตกต่างกัน ซึ่งภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่พบผู้ป่วยนอก 15% ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 27% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่ง ประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท

หันมาโฟกัสที่ MHWG” ทาง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ระบุไว้ว่า… การให้บริการพื้นฐานด้านสุขภาพกับประชากรข้ามชาติ เพื่อป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค มีความสำคัญ ซึ่งกับแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย ปัจจุบันไทยขยายสิทธิบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้มีหลักประกันและมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเชื่อว่าคณะทำงานนี้จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและมาตรการที่เป็นประโยชน์

ด้าน Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานประเทศไทย ระบุเสริมไว้ว่า… คณะทำงาน MHWG นี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ที่มุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ… 1.สนับสนุนและส่งเสริมนโยบายมีส่วนร่วม 2.ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ และ 3.สร้างเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ในระบบบริการสุขภาพแก่ประชากรข้ามชาติที่โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มนี้

ขณะที่ทาง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็ได้ระบุไว้ว่า… แรงงานข้ามชาติในไทยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ดังนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นจะต้องครอบคลุมถึงประชากรข้ามชาติที่เป็นกลุ่มแรงงานด้วย โดย ’คณะทำงาน MHWG“จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ เพื่อให้มีการดูแลที่เป็นมิตรและเป็นธรรม โดยไม่เกิดอคติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ…

ก็รอดู ’ดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ“
กับการที่ ’มีกลไกคณะทำงานรองรับ“
เพื่อ ’ไม่ให้มีปัญหา-ไม่ให้ก่อปัญหา“.