ซึ่งกับกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเกี่ยวกับ เซาน่า นั้น… มีทั้ง ข้อดีข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้บริการ และถือเป็น มาตรฐานการดำเนินการสำหรับผู้ให้บริการ ด้วย…

      จะ ได้ประโยชน์ไม่มีอันตราย

      ก็ ต้องใส่ใจ ระวังได้มาตรฐาน

      “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ชวนดูเรื่องนี้

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีข้อมูลโดย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการจัดทำ “คู่มือวิชาการ” เรื่อง “แนวทางการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทสถานที่อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร” เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการด้านนี้ รวมถึงเพี่อให้ประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้ โดยในคู่มือนี้ได้อธิบายถึง “การอบไอน้ำ” ไว้ว่า… มักจะถูกเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า… “การอบเปียก” ในขณะที่ การเซาน่า นั้น…มักจะเรียกว่า… การอบแห้ง

ในคู่มือได้มีการขยายความเรื่องนี้เอาไว้ต่อไปว่า… สำหรับ “การอบไอน้ำ” หรือ การบำบัดด้วยความร้อนเปียก (Steam Bath) เป็นวิธีการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ ซึ่งพบได้ทั้งในสังคมตะวันตกและตะวันออก โดยหลักสำคัญของการอบไอน้ำก็คือ ไอน้ำสามารถเก็บและถ่ายเทความร้อนให้ร่างกายได้ดีเท่ากับการอาบแช่ในน้ำร้อน โดย ความร้อนที่เหมาะสมในการอบไอน้ำนั้น จะใช้ที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่จะให้ผลต่อร่างกายเช่นเดียวกับการอาบแช่น้ำร้อน ส่วนการอบที่เรียกว่า การเซาน่า หรือ การอบแบบแห้ง นั้น เป็นการ ใช้ไอน้ำที่ได้จากการราดน้ำลงบนหินร้อน ๆ เพื่อใช้ในการอบร่างกาย ซึ่งสถานที่ให้บริการเซาน่า มักจะมีให้บริการตามสถานออกกำลังกาย หรือสถานเสริมสุขภาพต่าง ๆ…

Clean and empty sauna room

ขณะที่ “หลักการเบื้องต้นขณะทำการอบเซาน่า” นั้น กรณีนี้ในคู่มือดังกล่าวได้มีการให้คำแนะนำไว้ ดังต่อไปนี้คือ… ผู้ใช้บริการ ควรอยู่ในห้องเซาน่าประมาณ 3-5 นาที และหลังออกมาจากห้องเซาน่าแล้วควรลงแช่ในบ่อน้ำเย็นทันทีประมาณ 2 นาที หรือควรแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส หรืออาจใช้วิธีอาบน้ำเย็นแทน กรณีที่ไม่มีบ่อน้ำเย็นให้บริการ โดยผู้ใช้บริการเซาน่า ควรทำสลับกันตลอดเวลาที่ทำเซาน่า คือแช่น้ำเย็น 2 นาที สลับกับเข้าไปเซาน่า 3 นาที ควรทำสลับเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปประมาณ 3 รอบ อย่างไรก็ตาม แต่วิธีที่มีการแนะนำนี้ก็ ต้องเตือน ด้วยว่า…

      ผู้ที่จะทำ ควรมีสุขภาพแข็งแรง

      นี่เป็น ข้อควรรู้ใน การเซาน่า

ส่วน “ประโยชน์” หรือ “ข้อดีการทำเซาน่า” นั้น ในคู่มือก็ได้ระบุไว้ว่า… เป็นวิธีดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน โดยเชื่อกันว่า… ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง  เนื่องจากการอบไอน้ำจะ ช่วยขยายรูขุมขนและเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากการทำเซาน่าผู้ทำเซาน่าจึงรู้สึกสดชื่น 

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า… ช่วยผ่อนคลายความเครียด และ ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะความร้อนจะทำให้กล้ามเนื้อขยายตัว ที่ถือเป็นการกำจัดกรดแล็กติกที่ค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นเมื่อไปอาบหรือแช่น้ำเย็นก็จะทำให้หลอดเลือดหดตัว ที่เป็นการบีบไล่ของเสียที่กล้ามเนื้อไม่สามารถกำจัดหมดและค้างอยู่ให้ออกไปจากกล้ามเนื้อ โดยถือเป็นการ คลายเครียดให้กล้ามเนื้อ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ นั้นก็ยังมีเรื่องความเชื่อที่ว่า… ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยรักษาระดับการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยเร่งการขับของเสียออกทางเหงื่อ อีกด้วย …นี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับผลดีของการเซาน่า

Rear view of backless sexy young woman in sauna

แต่…ในขณะเดียวกัน การทำเซาน่า นั้นก็ มีข้อควรระวังอันตราย ที่จะ ต้องไม่ประมาท โดยที่พบบ่อย ๆ ได้แก่… หน้ามืด เป็นลม หมดสติ และรวมถึงอาจเกิด ภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทั้งผู้ประกอบการและผู้รับบริการ โดยในคู่มือขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า… การอยู่ในที่ร้อนเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้เส้นเลือดขยายตัว โดยเลือดส่วนใหญ่อาจไปรวมอยู่ตามแขนขา ส่งผลให้เลือดส่วนกลางลดลงจึงหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง จนทำให้มีอาการเป็นลม หน้ามืด หมดสติ หรือบางราย อาจสูญเสียการรับรู้สถานที่และความทรงจำไปช่วงหนึ่ง หลังทำเซาน่า

และ “บุคคลที่ควรต้องระวังในการทำเซาน่า” ได้แก่…ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ-ความดันโลหิตสูง เพราะการเซาน่าจะยิ่งทำให้เลือดหมุนเวียนผ่านหัวใจเร็วขึ้นถึงร้อยละ 50-70 คล้าย ๆ กับการเดินเร็ว,  ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามทำเด็ดขาด โดยควรหลีกเลี่ยงดื่มทั้งก่อนและหลังการทำเซาน่า, ผู้ที่เป็นไมเกรน เนื่องจากการอบไอน้ำอาจจะยิ่งไปขยายเส้นเลือด ทำให้มีอาการปวดไมเกรนหลังการอบเซาน่าได้ ส่วน ผู้ที่เป็นไข้หวัดอยู่สามารถทำเซาน่าได้ แต่ไม่ควรลงบ่อน้ำเย็น และในคู่มือโดย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า… คนที่ไม่แน่ใจว่าจะทำเซาน่าได้หรือไม่? ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และถึงแม้แพทย์อนุญาต ก็ต้องค่อย ๆ ทำทีละน้อยก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ทำเพิ่ม …นี่ก็อีกคำแนะนำที่ ต้องใส่ใจ โดยที่…

      ทั้ง ผู้ทำผู้ให้บริการ ต้อง ใส่ใจ

      เพื่อ ให้เซาน่าก่อเกิดประโยชน์

      โดย ’ไม่เกิดโทษ-ไม่ก่ออันตราย“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่