การวิเคราะห์ปัจจัยเบื้องหลังการลดลงของทีเอฟอาร์ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งสิงคโปร์ (ดีโอเอส) พบว่า การลดลงของทีเอฟอาร์ ระหว่างปี 2548-2565 เป็นผลมาจากสัดส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว มีจำนวนลดลง ซึ่งหักล้างกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

ด้านนักวิชาการที่ศึกษาปัญหาประชากร กล่าวว่า หากชาวสิงคโปร์ไม่แต่งงานกันมากขึ้น นั่นหมายความว่าทีเอฟอาร์ของสิงคโปร์ มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไป

“เนื่องจากเราจะมีผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์และสามารถแต่งงานได้ จำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ และบุตรนอกสมรสถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสิงคโปร์ จำนวนการเกิดของพลเมือง จึงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากอัตราการแต่งงานยังคงลดลง” ศาสตราจารย์จีน ยึง ผู้อำนวยการด้านสังคมศาสตร์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์คลินิกแห่งสิงคโปร์ (เอสไอซีเอส) ของสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (เอสตาร์) กล่าวเพิ่มเติม

แนวโน้มข้างต้นถือเป็นข่าวที่น่าตกใจสำหรับสิงคโปร์ ทั้งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเบบี้โบนัส หรือการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับเด็กแรกเกิด, การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลาคลอด และการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนการขยายระยะเวลาการร่วมทุนของรัฐบาล สำหรับการรักษาการทำเด็กหลอดแก้วของสตรีสูงอายุ

ด้านดร.กัลปานา วิกเนซา นักวิจัยอาวุโสของไอพีเอส ระบุในงานศึกษาว่า ผลการสำรวจชาวสิงคโปร์ประมาณ 2,400 คน ในปี 2566 พบว่า ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 21-34 ปี มีความสนใจในการแต่งงานและความเป็นพ่อแม่ น้อยกว่าผู้ชายในกลุ่มอายุเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ

แม้การศึกษาดังกล่าวไม่ได้ถามถึงเหตุผลเบื้องหลังคำตอบของผู้ตอบแบบสอบถาม แต่วิกเนซา กล่าวว่า ผู้หญิงที่เธอพูดคุยด้วยในงานวิจัยชิ้นอื่น แสดงความกังวลว่า พวกเธอจะต้องแบกรับภาระการดูแลบุตร และความรับผิดชอบอื่น ๆ ภายในบ้าน

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ข่าวดีคือ ผลสำรวจเผยให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า คนหนุ่มสาวชาวสิงคโปร์จำนวนมาก ยังคงต้องการแต่งงานและมีบุตร ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสิงคโปร์สามารถดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาในหลายด้านได้ เช่น การลดความขัดแย้งระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว, การทำให้สามีเป็นฝ่ายทำงานในบ้าน และการขยายเวลาการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง เพิ่มอีก 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า นอกเหนือจากนโยบายและแผนการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการแต่งงานและความเป็นพ่อแม่ สิ่งที่บรรลุผลสำเร็จได้ยากกว่า คือ การจัดการต้นตอของความเชื่อที่ว่า การมีบุตรเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง และน่าวิตกกังวล ดังเช่นที่พ่อแม่ชาวสิงคโปร์หลายคน ยังคงกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับเบบี้โบนัสมากเท่าไหร่ก็ตาม เนื่องจากเงินช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ช่วยบรรเทาความวิตกด้านการเงินในระยะยาว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP