ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ครั้งที่ 10 นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2522 โดยประชาชนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ( อียู ) ทั้ง 27 แห่ง ใช้สิทธิระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่ทั้ง 720 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคประชาชนยุโรป ( อีพีพี ) ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคสายกลางในยุโรป ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 189 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคสังคมนิยมและประชาธิปไตย ( เอสแอนด์ดี ) ซึ่งเป็นพันธมิตรฝ่ายซ้าย จะได้รับการเลือกตั้งรวมกันเป็นอันดับสอง คือ 135 ที่นั่ง ตามด้วยพรรครีนิวยุโรป ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยม ได้รับการเลือกตั้ง 83 ที่นั่ง และกลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยมได้รับการเลือกตั้งรวมกัน 72 ที่นั่ง

ผลคะแนนที่ออกมาหมายความว่า ยังไม่มีพรรคใดได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด คือ 321 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย แต่ผลการเลือกครั้งครั้งนี้เพิ่มโอกาสให้กับนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน นักการเมืองชาวเยอรมันจากพรรคอีพีพี ในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

ส่วนกลุ่มพรรคขวาจัดและต่อต้านขั้วอำนาจเก่าในยุโรป จะได้รับการเลือกตั้ง 58 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเป็นรายประเทศ ปรากฏว่า พรรคขวาจัดในฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรีย ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ด้านผลการเลือกตั้งในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ปรากฏว่า พรรคขวาจัดอยู่ในอันดับที่สอง และในอีกหลานประเทศ ซึ่งต่อให้พรรคขวาจัดไม่ได้รับชัยชนะ ทว่าสามารถทำผลงาน “ได้ดีเกินความคาดหมาย”

ทว่าพันธมิตรพรรคการเมืองขวาจัดในยุโรปยังมีจุดยืนด้านนโยบายแตกต่างกันในบางเรื่อง โดยเฉพาะสงครามในยูเครน และนางมารีน เลอ แปน ผู้นำฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส มองว่าพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ( เอเอฟดี ) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของเยอรมนี มีนโยบายที่ “สุดโต่งเกินไป”

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ถือเป็นการสร้าง “แผนดินไหวทางการเมือง” ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ให้กับภูมิศาสตร์การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ซึ่งถึงขั้นที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ 577 ที่นั่ง ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ และรอบสองในวันที่ 7 ก.ค. สำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเสียงสนับสนุนขาดลอย

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส

ทั้งนี้ มาครงให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการตัดสินใจยุบสภาครั้งนี้ ว่าเกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ซึ่งผลคะแนนที่ออกมา “ไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายต้องปกป้องยุโรป” และเตือนว่า อนาคตของยุโรป “เสี่ยงที่จะถูกปิดกั้น” จากการที่พรรคการเมืองขวาจัดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ในส่วนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง 81 จาก 720 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคแนวร่วมชาติ ( อาร์เอ็น ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของนางมารีน เลอ แปน อาจคว้าที่นั่งได้มากกว่า 30% หรือ 30 ที่นั่ง ส่วนพรรคเรอแนซ็องส์ของมาครง ที่เป็นพรรคสายกลาง ได้รับการเลือกตั้งประมาณ 14% หรือ 13 ที่นั่งเท่านั้น

มาครงประณามฝ่ายขวาจัดและเลอ แปน “นำความยากจนกลับมาสู่ยุโรป” และ “บ่อนทำลายภาพลักษณ์” ของประเทศ ดังนั้น ในฐานผู้นำฝรั่งเศส เขาไม่อาจเพิกเฉยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และขอให้ประชาชนตัดสินใจ ผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายในประเทศ โดยขอให้ “ชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติ” ออกมาใช้แสดงออกร่วมกัน

นางมารีน เลอ แปน และนายจอร์แดน บาร์เดลลา

ขณะที่นายจอร์แดน บาร์เดลลา ผู้นำพรรคอาร์เอ็น ในการเลือกตั้งสภายุโรปครั้งนี้ กล่าวถึงผลคะแนนที่ออกมาว่า “บ่งชี้ความปรารถนาของชาวฝรั่งเศสที่ต้องการเปลี่ยนแปลง” ด้านที่ประชุมใหญ่พรรคอาร์เอ็น มีมติเสนอชื่อบาร์เดลลา วัย 28 ปี ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สู้กับนายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จากพรรคเรอแนซ็องส์ วัย 35 ปี

อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในปี 2570 ซึ่งมาครงไม่สามารถลงสมัครได้อีก เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบสอบสมัยติดต่อกันแล้ว ทว่าเลอ แปน ยังคงลงสมัครได้ แต่พรรครัฐบาลยังไม่มีตัวแทนลงสมัคร แม้มีการคาดการณ์ว่า จะเป็นอัตตาลก็ตาม

ระบอบการเมืองของฝรั่งเศส เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเดี่ยวกึ่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แม้ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ ประธานาธิบดีต้องเสนอชื่อบุคคลซึ่งสอดคล้องกับมติส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถรับรองและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งหมดได้

นายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส

ส่วนบรรดานักวิเคราะห์มองไปในทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ว่าการตัดสินใจยุบสภาของมา “เป็นเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูง” เนื่องจากย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก ผู้นำฝรั่งเศสในเวลานั้น ใช้วิธียุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลทางการเมืองเช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่า พันธมิตรพรรคฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้ง เหนือรัฐบาลที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม

นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่า ผู้นำฝรั่งเศส “เดิมพันบนความเสี่ยงที่สูงเกินไป” จากการตัดสินใจยุบสภา ท่ามกลางช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร และผลดารเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปที่ออกมา บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า ชาวฝรั่งเศส “ต้องการลงโทษ” ประธานาธิบดี ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายมากเท่าใดนัก หากพรรคอาร์เอ็นจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ และสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ด้วยซ้ำ

ด้านบรรดากุนซือยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเรอแนซ็องส์ ยังคงมั่นใจว่า จะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และมองว่า การประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง “แบบไม่ให้ตั้งตัว” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น มีเสียงวิจารณ์จากอีกหลายภาคส่วนในฝรั่งเศสว่า มาครง “เสี่ยงดวงโดยใช้อนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง” โดยมาครงยืนยัน ว่าเขาไม่มีทางลาออกจากตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศส ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศ กำหนดโครงสร้างการบริหารของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP