สวัสดีจ้า “Campus Life” สัปดาห์นี้ ขอเปิดพื้นที่ให้กับความยอดเยี่ยมของ 5 สาววัยใส “สุชัญญา โชติพุทธิกุล”, “ภัครมัย คูหาชัยสกุล”, “ลลิดา อภิรมย์เดช”, “ธนารีย์ ไหนาค” และ “ธัญธร สุกสะอาด” ทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมกันคิดค้น พัฒนา “ชุดตรวจวัณโรคแฝงแบบพกพา” จนครองใจคณะกรรมการคว้าแชมป์ Mahidol Engineering Maker Expo 2024
โดยงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” เป็นการจัดแสดงและแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 ทั้งในรูปแบบ Pitching บนเวที และรูปแบบ Poster จำนวน 90 ผลงาน ครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนา 5 คลัสเตอร์ คือ วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Healthcare Engineering) วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Engineering) วิศวกรรมโลจิสติกส์และระบบราง (Logistics and Rail Engineering) และวิศวกรรมเคมีประยุกต์ (Applied Chemical Engineering) โดยงานนี้จัดขึ้น ที่ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล
“ข้าว” ธัญธร สุกสอาด เป็นตัวแทนของทีมเล่าว่า โครงการนี้มีที่มาจาก สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยน.ส.ปนัดดา เทพอัคศร ผอ.สถาบันฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาชุดตรวจวัณโรคแฝงแบบพกพาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการยุติการเกิดวัณโรคภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากวัณโรค (Tuberculosis – TB) เป็นโรคที่มีการติดต่อค่อนข้างสูงในประเทศไทยและอีกกว่า 14 ประเทศทั่วโลก สาเหตุหลักที่วัณโรคยังคงอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย คือ การมีประชากรที่มีวัณโรคแฝง ที่ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ การยุติวัณโรคจะสำเร็จได้เมื่อสามารการตรวจพบประชากรที่มีวัณโรคแฝงและรักษาเพื่อตัดตอนการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค แต่เนื่องจากการตรวจหาวัณโรคแฝงมีความแตกต่างจากการตรวจวัณโรคโดยปกติในโรงพยาบาล โดยเป็นการตรวจภูมิต่อเชื้อที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันการตรวจจะมีค่าใช้จ่าย 3,000-5,000 บาทต่อคน ต้องใช้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์จำนวนมาก ขั้นตอนซับซ้อน จึงเป็นข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองวัณโรคแฝงในประชากรทั่วประเทศ
“ข้าว” อธิบายต่อไปว่า ทีมจึงนำโจทย์ของความต้องการชุดตรวจวัณโรคแฝงที่ทำได้ง่าย สามารถนำไปตรวจคัดกรองประชากรจำนวนมาก มีราคาที่ต่ำในระดับที่สามรถลดภาระงบประมาณของประเทศได้ โดยการคิดค้นและออกแบบระบบการตรวจใหม่ทั้งหมด ที่สามารถให้ผลตรวจได้อย่างรวดเร็วภายใน 5 นาที ด้วยการทำปฏิกิริยาบนเซนเซอร์ขนาดเล็กร่วมกับวงจรวัดที่ใช้เทคโนโลยี NFC ส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ทีมงานพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้สามารถเชื่อมต่อกับเซนเซอร์และแสดงผลการตรวจอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ระบบตรวจที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ใช้งานง่าย สามารถฝึกให้อาสาสมัครสาธารณสุขใช้งานได้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองลดลงประมาณ 10 เท่า และทางทีมคาดหวังว่าในอนาคตชุดตรวจวัณโรคแฝงแบบพกพานี้จะสามารถผลิตและกระจายไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองวัณโรคแฝงและควบคุมวัณโรคในประเทศไทยได้ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีการขยายผลร่วมกับทีมงานวิจัยของสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขด้วย
สุดยอดจริงๆ สำหรับผลงาน “ชุดตรวจวัณโรคแฝงแบบพกพา” ของ 5 สาว “เมกเกอร์” หรือ “นักสร้างสรรค์” รุ่นใหม่ ทีมนี้ และพวกเราทีมงาน “Campus Life” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มีการนำผลงานนี้ไปขยายผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองวัณโรคแฝง และก้าวสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การควบคุมวัณโรคในประเทศไทยได้ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขต่อไปในอนานคต