กรณี “คนดังหย่าร้าง” เมื่อเป็นคนดังก็ย่อมมีคนสนใจมาก และยิ่งถ้ามี “ดราม่าร้อน ๆ” ก็ยิ่งถูกติดตามจับจ้องมากยิ่งขึ้น ดังเช่นที่ในระยะนี้ก็มีกรณี “อื้ออึง-เซ็งแซ่” ขึ้นอีก…ซึ่งก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม กับ “กรณีเลิกราหย่าร้าง“ ในภาพรวมนั้น…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ ข้อมูล การนำ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์“ มาประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ทางจิตวิทยา เพื่อที่จะ ค้นหาลักษณะบุคลิกผู้ที่มีแนวโน้ม“ หรือวิเคราะห์ทายทักผู้ “มีโอกาสสูง“ ที่จะ…

ตัดสินใจ “หย่าร้าง“ หรือ “ไม่หย่า“…
มักจะ “มีบุคลิก-มีลักษณะอย่างไร??“

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ “บุคลิกลักษณะ” ผู้ที่มีแนวโน้ม หรือ “มีโอกาสจะหย่า-ไม่หย่า” นั้น…ข้อมูลเรื่องนี้เป็นข้อมูลจากผลศึกษาวิจัยที่จัดทำไว้โดย รศ.จงรักษ์ หงษ์งาม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ รศ.วิมุต วานิชเจริญธรรม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเผยแพร่ไว้ผ่านทาง วารสารเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2565ชื่อหัวข้อ “บุคลิกลักษณะกับการทำนายโอกาสการหย่าร้างด้วยเครื่องมือ Logistic Regression Analysis“ ที่เป็นการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยามา“ประเมินบุคลิกลักษณะคู่สมรส“เพื่อดูว่า “ใช้บ่งบอกโอกาสหย่าร้าง“ได้หรือไม่??

หลักใหญ่ใจความที่ทางผู้ศึกษาวิจัยได้ระบุไว้นั้น โดยสังเขปมีดังนี้คือ… ผู้วิจัยได้อาศัย แบบจำลอง การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก(Logistic Regression) นำมาใช้เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกำหนดด้านการศึกษา อายุสมรส และตัวชี้วัดทางด้านบุคลิกลักษณะ กับโอกาสของการหย่าร้าง ในขณะที่การวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้นเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มของผู้ที่มีประสบการณ์หย่าร้าง จำนวน 15 ราย โดยความเป็นมาที่ทำให้สนใจศึกษาเรื่องนี้นั้น…ทางผู้วิจัยมีการระบุไว้ในบทความว่า… เพื่อยืนยันถึงอิทธิพลของลักษณะนิสัยตามที่พบในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ…ถึงแนวโน้มในการหย่าร้าง

ในบทความจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้สะท้อนความเป็นมา และ “ความสำคัญ” ของ “กรณีปัญหาการหย่าร้าง” ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันไว้ว่า… ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น “การแต่งงาน” เป็นการทำความตกลงของชายหญิงเพื่อ “สร้างประโยชน์ร่วมกัน” ทั้งด้านการผลิตและด้านการบริโภค โดยคู่สมรสนั้นต่างจะได้ประโยชน์จากการแบ่งภาระการทำงาน การจัดการความเสี่ยงร่วมกัน การช่วยเหลือกันในการลงทุน รวมถึงการร่วมกันผลิตและเลี้ยงดูทายาท หรือแม้แต่การ…

สร้างประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์…
ทั้งต่อคู่สมรสและเศรษฐกิจโดยรวม

แต่คู่สมรสจำนวนไม่น้อยก็มีอันต้องยุติสถานภาพสมรสลงด้วยการ “หย่าร้าง” ภายใต้กรอบแนวคิดของการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียในทางเลือกต่าง ๆ ดังนั้น “การหย่าร้าง“ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเพราะคู่สมรส พบว่าการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวต่อไปให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองคนนั้นมีน้อยกว่าการแยกทางกัน“ จนนำมาสู่การ ตัดสินใจที่จะหย่าร้าง“อย่างไรก็ตาม ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังได้มีการระบุไว้ว่า… ผลการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นค้นพบว่า… การหย่าร้างก็ก่อให้เกิดต้นทุนตามมา“ ทั้งต่อคู่สมรส ต่อทายาท และต่อต้นทุนทางสังคมด้วย!!

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายถึงการศึกษาวิจัยไว้ว่า… ในการศึกษาได้มีการจัดแบ่งบุคลิกลักษณะของกลุ่มตัวอย่างตาม “ทฤษฎี DISC” ของ Klangyotee and Hong-ngam ที่แบ่งบุคลิกของคนส่วนใหญ่ไว้ 4 แบบ คือ… 1.แบบ “จอมยุทธ์ (Dominance)” เป็นบุคลิกที่ชอบทำงานท้าทาย ชอบใช้อำนาจ มีความเป็นผู้นำ, 2.แบบ “ดารา (Influence)” เป็นบุคลิกชอบพูด ถนัดการติดต่อ ชอบพบปะสมาคม มีความคิดริเริ่ม, 3.แบบ “ศิราณี (Steadiness)” ไม่ชอบความเสี่ยง อบอุ่นต่อผู้อื่น และชอบเป็นผู้ตาม, 4.แบบ “ฤาษี (Com-pliance)” นี่จะเป็นแบบที่มีหลักการมาก ใส่ใจรายละเอียด เป็นคนเงียบ มีโลกส่วนตัวสูง

อนึ่ง เมื่อมีการสร้างแบบจำลองการถดถอยโลจิสติก ก็พบประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… คนที่จบปริญญาตรีมีโอกาสหย่าร้างสูงกว่าคนที่เรียนต่ำกว่าปริญญาตรี ด้านอายุสมรสพบว่า… อายุสมรสมที่เพิ่มขึ้น 1 ปีทำให้มีโอกาสหย่าร้างลดลงราวร้อยละ 1.28 ขณะที่แง่บุคลิกลักษณะพบว่า… คู่สมรสที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนกันมีโอกาสหย่าร้างน้อยกว่าคู่ที่มีบุคลิกลักษณะต่างกัน และ ลักษณะนิสัยแบบ “จอมยุทธ์ มีแนวโน้มหย่าร้างสูงกว่าแบบอื่นส่วนผู้มีลักษณะนิสัย แบบ “ศิราณี” และ “ดารา” มีโอกาสที่จะหย่าร้างน้อย ขณะที่ แบบ “ฤาษี” เป็นแบบเดียวที่ไม่ส่งผลต่อโอกาสหย่าร้าง

ทั้งนี้ นอกจากค้นพบลักษณะและโอกาสหย่าร้างดังกล่าวแล้ว จากการศึกษายังมีการระบุไว้ถึงการพบข้อสรุปแบ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้คือ… 1.คู่แต่งงานที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนกัน มีแนวโน้มรักษาสถานภาพสมรสได้ยาวนานมากกว่า, 2.ลักษณะนิสัยแบบจอมยุทธ์นั้น แม้จะมีภาวะผู้นำ แต่ก็มักจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบใช้อำนาจ ไม่ค่อยรับฟังใคร เสี่ยงต่อการหย่าร้างสูงกว่าลักษณะนิสัยแบบอื่น, 3.แบบดารา กับศิราณี เป็นบุคลิกลักษณะที่มีโอกาสหย่าร้างน้อยกว่าแบบอื่น เนื่องจากมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีศิลปะจูงใจผู้อื่น ดูอบอุ่น ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่จะส่งผลดีต่อการรักษาสัมพันธภาพชีวิตคู่…

นี่เป็นการศึกษา โอกาสการหย่าร้าง“
ที่ ทางเศรษฐศาสตร์ก็สนใจศึกษา“
และ ก็น่าคิดกรณีหย่าก็มีต้นทุน!!“.