ซึ่งสิ่งที่สำคัญของความเท่าเทียมคือ “ต้องมีกฎหมายที่จำเป็นต่อทุกกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ การกระจายทรัพยากรต้องเพียงพอ เหมาะสมกับทุกกลุ่ม การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเท่าเทียม” ถ้าพูดว่า “ต้องมีอะไรก้าวหน้าไปกว่าการเรียกร้อง” สุดท้าย ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียมยังดำรงอยู่ ก็ต้องมีการเรียกร้องอยู่ดี เพียงแต่ ในยุคเสรีนิยมขณะนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องการเคารพอัตลักษณ์ของบุคคลมากขึ้น ความเข้าใจตัวตนมากขึ้น ทำให้ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนที่เรียกว่า LGBT+ Allies ซึ่งไม่ต้องเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ แค่คิดว่า “คนเท่ากัน”
เมื่อสังคมเอื้อให้เกิดความเท่าเทียม “โดยจิตสำนึกของคนในสังคมเอง” ทำให้ประเด็นการเหยียด การตีตรากลุ่มหลากหลายทางเพศลดลง และทำให้เกิดการล้างมายาคติเก่าๆ เกี่ยวกับ LGBT+ จากที่บางคนยังมีภาพจำจากเรื่อง “เพลงสุดท้าย” คือ ต้องอารมณ์รุนแรง ไม่สมหวังในรัก หรือในหนังไทยหลายๆ เรื่องที่ตัวละคร LGBT+ มักจะเป็นตัวตลก เป็นการสร้างมิติความเป็นมนุษย์มากขึ้น ละครไทยเรื่องแรกๆ ที่ทำก็อย่างเช่นละครรักแปดพันเก้า ที่มีคู่รักเกย์ คือ “เมื่อมันเป็นความรักก็คือความรัก” ไม่ต้องเอาเรื่องเพศไปตัดสิน พูดให้สวยคือความรักเป็นเรื่องที่ใช้หัวใจเพียงประการเดียว
การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพิ่มเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมมากขึ้น การเรียกร้องเรื่องสิทธิของอัตลักษณ์เปราะบางไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง อย่างที่มีกลุ่มหลากหลายทางเพศหลายคนพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ พ.ศ…..ซึ่งจะช่วยป้องกันการเลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติด้วยเหตุไม่เหมาะสมกับกลุ่มอัตลักษณ์เปราะบาง เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มแรงงาน กลุ่มต่างด้าว กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี กลุ่มอยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติด หรือกลุ่มค้าประเวณีและยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก ซึ่งก็ยังรอดูว่ารัฐบาลเสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน จะส่งเสริมเรื่องนี้ขนาดไหน
บทบาทในการสร้างสรรค์สังคม ได้กล่าวไปแล้วในสองบทความที่ผ่านมา ว่า เกย์แต่ละคนมีศักยภาพมากกว่าการเป็นนางโชว์ เป็นบุคคลหลังม่านในการแสดง เช่นช่างแต่งหน้าทำผม เขาอาจมีพื้นที่อื่นที่ได้สร้างสรรค์สังคมเพื่อคนอื่น และสร้างสรรค์สังคมเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศในด้านต่างๆ มากกว่าที่ถูกมายาคติทางสังคมกดทับ อย่างเช่น การที่เกย์สักคนเห็นปัญหาเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง หรือที่ใช้ทับศัพท์กันเกร่อว่า บูลลี่ ก็อาจคิดหาวิธีแก้ปัญหาแบบประนีประนอม ไม่ต้องให้เรื่องมันเลยเถิดไปถึงการใช้กำลัง ซึ่งก็มีผู้ที่มีความหลากหลายคิดโครงการป้องกันการบูลลี่ในโรงเรียน เพราะเด็กที่ถูกล้อบางครั้งเกิดความเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย และการล้อเลียนไม่ใช่แค่จากปัจจัยแห่งเพศเท่านั้น
บางครั้ง เราเห็นการเรียกขานบุคคลอื่นแบบไม่ให้เกียรติ บ้างก็คิดว่า “เรื่องแค่นี้ซีเรียสทำไม” แต่คนที่เขาซีเรียสก็มี ว่าขอให้เป็นการเรียกแบบ “ไม่ต้องนับญาติ” เช่น ไปเจอใครสักคนผมดำปี๋ทั้งหัวดันเรียกป้า หรือประเภทข่าวหลุดมา ..ชายชราวัย 52.. มันก็เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกอยู่ แม้จะเป็นเรื่องดูเหมือนขำ ..ซึ่งยืนยันว่าคนไม่ขำก็มี เช่น คุณไม่ได้สนิทสนมกับเขาพอ แต่ไปเรียกเขาแบบที่คุณอยากเรียกต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ผู้เข้าประกวด Mr Gay World Thailand “โอ วิศรุต สิงสาท” ต้องการสื่อสารเรื่องนี้โดยการทำแคมเปญง่ายนิดเดียว “รู้จักฉันก่อนเรียก”
“มันก็เป็นปัญหานะ สำหรับคนไม่รู้จักกันแล้วมาเรียกแบบเหมือนอยากสนิท” โอเล่า “อย่างผมเนี่ย คือกล้ามใหญ่ซะขนาดนี้ ก็มีมาเรียกคุณแม่บ้าง เรียกเจ๊บ้าง ถึงมันอยู่ในที่สถานบันเทิงก็เถอะ แต่ผมว่ามันก็ไม่ควรนะ ต่อหน้าคนเยอะแยะแบบนั้นเรายิ่งไม่ชอบ คือไม่สนิทให้เรียกคุณ หรือรู้จักชื่อ เรียกชื่อ เรียกพี่ก็ได้ แต่ไม่ใช่มาเรียกอะไรแบบ..โห ไม่เกรงใจกล้ามตูเลย ( หัวเราะ )” โอกับแฟนมีร้านยำ แฟนเขาก็เป็นสาวข้ามเพศ ซึ่งทั้งสองคนถูกเรียกคะนองปากบ่อยครั้ง โอว่ามันเป็นอะไรที่น่ารำคาญ แค่การให้เกียรติกันก็ไม่มี “ลองนึกว่า คุณเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย แล้วสรีระบางอย่างคุณไม่สวย แล้วถูกเอามาเรียกเป็นเรื่องตลก จะรู้สึกอย่างไร อันนี้ฝากไว้ให้คิดว่า เราเรียกใครคิดถึงตัวเองก่อน ว่าเราอยากถูกเรียกแบบนั้นไหม บางคนเขาอยากถูกเรียกเป็นแม่ เป็นเจ๊ ก็เรียกเขาได้ ดูอารมณ์เขา บางคนเขาไม่อยากถูกเรียก ก็อย่าเรียก”
โอออกแบบวิธีสื่อสารง่ายๆ ที่เขาบอกว่า เขาต้องการสร้างการตระหนักรู้เบื้องต้นก่อน โดยออกแบบอารมณ์ประมาณ ambient media คือ เป็นสื่อโฆษณาสั้นๆ ที่ปรากฏในที่ๆ คุณอาจคาดไม่ถึงแล้วทำให้เกิดความจดจำ โอเลือกใช้วิธีสกรีนเสื้อเป็นถ้อยคำประเภท “ภาษากะเทยเที่ยว” อย่าง “ก่อนเรียกว่าแม่ เกรงใจกล้ามกูด้วย” โดยโอบอกว่า วิธีนี้คือกระบวนการทดลองของเขาว่า ใช้สื่อที่คนเห็นแบบ“ไม่ต้องตั้งใจเข้าไปดู”จะเป็นอย่างไร
“เรื่องชื่อที่ไม่อยากให้เรียก มันสำคัญสำหรับกลุ่มทรานส์ที่กำลังอยู่ระหว่างการข้ามเพศมากครับ เพราะเขาจะค่อนข้างอ่อนไหวเปราะบางกับการที่กำลังไปสู่ตัวตนใหม่ ถ้าสมมุติหญิงข้ามเพศคนหนึ่งกำลังจะข้ามเพศ ( แปลงเพศ) แล้วใครเรียกเขาด้วยชื่อเก่าที่เป็นชื่อผู้ชาย หรือ dead name ไปจนถึงปฏิบัติกับเขาอย่างเพศกำเนิดเขา ทำให้เขาเจ็บปวดมาก เกิดความรู้สึกแปลกแยกและฆ่าตัวตายได้ ในต่างประเทศเขาห้ามเลย” โอเห็นความสำคัญเรื่องนี้ พร้อมสรุปว่า อัตลักษณ์ของเขาเป็นอย่างไร เขาก็มีขอบเขตที่อยากให้เรียกกันด้วยความเคารพ ซึ่งมันก็เป็นปัญหาของทุกเพศ
คนที่เราอยากพูดถึงอีกคนคือ “เน ปรัชญ์กวิน กิตติเลิศวีรกุล” ซึ่งเขามองมิติความเท่าเทียมทางเพศด้านสาธารณสุข เนเข้าร่วมประกวด Mr Gay World Thailand ทั้งที่ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ส่วนปลาย อยู่ในช่วงการรักษา “ผมอยากประกวดเพื่อใช้เวลาชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อสังคมและให้เสียงของตัวเองดังขึ้น” เนบอก “ผมมีเพื่อนชายรักชายที่สนิทกันมาก เขาบอกผมว่าเป็นมะเร็งทวารหนัก ใครที่เป็นต้องบอกเลยว่าการรักษามีความเสี่ยงมากๆที่เราอาจจะมีถุงทวารเทียมที่หน้าท้องไปตลอดชีวิตเพราะการผ่าตัดค่อนข้างยาก ซึ่งเอาจริงๆเพื่อนก็มารู้ทีหลังคือมะเร็งที่เขาเป็น พัฒนามาจากรอยโรคของเชื้อ HPV พอผมมองๆ นโยบายสาธารณสุขรัฐบาล พบว่า เออ เขาส่งเสริมฉีดมะเร็งป้องกัน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ให้เยาวชนหญิงนะ เพราะมันเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฉีดตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แต่ความเป็นจริง เชื้อ HPV มันก็ติดผู้ชายได้ ติดจากการสัมผัสรอยโรค สมมุติว่า คุณใช้ถุงยางอนามัยก็จริง แต่ถ้าเกิดว่าไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้ออยู่แล้ว เราอาจจะติดได้โดยส่วนที่เสี่ยงจะติดคือบริเวณที่ถุงยางไม่ครอบคลุมนั่นเอง บางครั้งก็อาจจะติดจากการทำออรัลเซกส์ได้เหมือนกัน ซึ่งหากติดเชื้อไปนานๆ 5-10 ปีหรือภูมิคุ้มกันร่างกายเราอ่อนแอลงมันก็จะสามารถแสดงอาการของโรคเป็นมะเร็งช่องปากและกล่องเสียง หรือมะเร็งอวัยวะเพศชายก็เป็นได้ ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูกก็น่าจะมาจากเชื้อ HPV จากคู่นอน จึงออกแบบโครงการรณรงค์วัคซีนชื่อโครงการ choice for your change ”
สิ่งที่เนต้องการขับเคลื่อน คือ วัคซีน HPV ฟรีสำหรับทุกเพศ “ไม่ต้องแบ่ง LGBT+ ครับ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี่ถ้าเรามองแบบตีตราเพศใดเพศหนึ่ง บางครั้งทำให้เราแก้ปัญหาไม่ได้ จึงอยากให้สาธารณสุขไทยทบทวนนโยบายให้ฉีด HPV ฟรีสำหรับผู้ชายด้วยไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงและต้องเป็นวัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 4 สายพันธ์ขึ้นไปด้วย โดยผมออกแบบโครงการที่เราเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ประชาชนทุกคน ว่า HPV มันอันตรายอย่างไร ก่อให้เกิดโรคอะไรได้ พอดีผมมีเพื่อนๆ ที่เป็น influencer ทางอีสานหลายคน ก็จะช่วยรณรงค์ตรงนี้ด้วย และสื่อผมก็มองถึงเรื่องพวกป้าย พวก ambient media ที่มันไม่อุจาดมาก แต่เห็นแล้วสื่อสารได้ กับอีกทางหนึ่ง ผมกำลังคิดหาช่องทางที่ต้องเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ชายฉีดฟรีด้วย เพราะตรงนี้มันต้องอาศัยงบจากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) เข้ามาช่วย กลุ่มเป้าหมายให้สำเร็จจึงมีทั้งบอกภาครัฐและภาคประชาชน”
สิ่งที่เนพูด หรือกระทั่งโอพูดก็ตาม ทำให้เราคิดถึงเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ ที่ต้องให้เกิดตั้งแต่เยาวชน ทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งก็คือการสร้างหลักสูตรบทเรียนแกนกลางที่ต้องชำระว่า “ควรให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ชั้นไหน” และเมื่อถึงเวลาเด็ก “เข้าวัยฮอร์โมน” เขาอาจต้องการที่ปรึกษาที่มีความเป็นมิตร หรือปรึกษาในกลุ่มปิดในเรื่องต่างๆ เช่น เซกส์ การใช้ชีวิต การ coming out หรือการเปิดตัวว่ารสนิยมทางเพศเขาเป็นอย่างไร บางครั้ง ครู หรือพ่อแม่ยังมีวิธีคิดแบบคนละ generation กับลูก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้เขาได้ก็จะดีไม่น้อย “อุ้ม” ธีรภัทร์ อยู่รุ่งเรืองศักดิ์” ซึงมีประสบการณ์เป็นวิทยากรอบรมด้านบุคลิกภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัย ทีมงานทำเสื้อผ้านางงาม ผู้ถือลิขสิทธิ์ประกวดระดับจังหวัดบางเวที ช่างแต่งหน้า ช่างเสื้อ เคยได้ร่วมงานกับวัยรุ่นวัยคอซองมาแล้ว และบุคลิกเข้าถึงง่ายของ “ป้าอุ้ม”ของน้องๆ ก็ทำให้มีเด็กเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิต
“เราตัดสินใจมาประกวด Mr Gay World Thailand ปีนี้เพราะอยากทำเรื่องเยาวชน เลยเสนอโครงการ Let’s Gay 101 อารมณ์ประมาณวิชาพื้นฐาน แต่ไม่ได้เจาะเฉพาะกลุ่มเด็ก LGBT+ ทำเป็นกลุ่ม blind line ที่น้องๆ ไม่ต้องแสดงตัวตน และเข้ามาปรึกษาอะไรได้หลายๆ เรื่อง โดยเราออกแบบเครื่องมือของเราว่า blind line จะมี 3 กลุ่มหลักคือ 1.Sexducation พูดคุยปัญหาเรื่องเซกส์ วัยรุ่นหลายคนไม่กล้าคุยกับผู้ปกครอง กับครู แล้วก็ไม่รู้วิธีป้องกัน อย่างเช่น มีมาปรึกษาเรื่องว่า แฟนอยากมีอะไรด้วยแบบไม่ใส่ถุง เป็นการพิสูจน์รักแท้ เราก็ให้คำแนะนำตั้งแต่กล่อมแบบพูดคุยกับบุตรหลานไปจนถึงด่า ( หัวเราะ ) บอกที่สุดแล้วถ้าท้องขึ้นมา หรือติดโรคขึ้นมาเขาก็ไม่รับผิดชอบแก ยิ่งเกิดผู้ชายมันไปพูดว่าไม่รู้ใช่ลูกมันหรือเปล่าแกจะเอาไง ทางผู้ชาย เราก็บอกเรื่องสุขอนามัยเบื้องต้น การให้เกียรติแฟน หรือเด็กที่เป็นเกย์ ก็บอกเรื่องการเตรียมตัวก่อนมีเซกส์ อะไรอย่างเนี้ย ที่สำคัญคือ เราจี้ให้จำให้ได้ว่า safe sex ทำอย่างไร ถุงยางมียังลูก ? หรือมีปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา ต้องหายา PEP กินเพื่อป้องกันการติดเอชไอวีอย่างไร”
“กลุ่มที่ 2 เรียกว่า Beautrinity ก็คือให้คำปรึกษาเรื่องความงาม” อุ้มเล่าต่อ เขามีประสบการณ์ทางด้านความงาม การแต่งหน้ามามาก หรือในวงการบางคนอาจเรียกว่า“ป้ามะขิ่น” ในการประกวดเราก็เห็นผู้ผ่านการประกวดเวทีต่างๆ ทำคลิปให้กำลังใจอุ้มหลายคน “พอเด็กเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็อยากดูดีนะ อยากสวย แต่ทีนี้ คือบางคนเขาก็ไม่รู้ว่า การซื้อเครื่องสำอางนี่ จะไปหลงกลพวกขายตามอินเทอร์เนตไม่ได้ พวกครีมกวนเอง เครื่องสำอางทำเองนี่อันตราย ใส่สารอะไรไปบ้างไม่รู้ ยิ่งพวกยาลดความอ้วนอีก เราก็แนะนำว่า หนูมีรายได้อย่างไร เท่าไรคะลูก แล้วก็อะไรที่โอเคกับฐานะเราไม่เดือดร้อนพ่อแม่ หรือบางคนถ้าเขาไว้ใจ เปิดหน้าให้เราดูส่วนตัวเราก็บอกว่า เออบริหารเสน่ห์ตรงไหนมันดูดีได้ การปรับเปลี่ยนการแต่งตัวอะไรพวกนี้ ทรงผมควรทำอย่างไร ยิ่งตอนนี้บางโรงเรียนเริ่มเสรีเครื่องแต่งกาย ทรงผม ถ้าวันไหนทำขึ้นมาแล้วโครงการนี้มันติดตลาด คงได้ตอบกันไม่ต้องทำงาน” ( หัวเราะ )
“และกลุ่มสุดท้ายคือ Chat GCT (Gay Communication Talk) อยากเริ่มจากตรงนี้ก่อนแล้วเราขยายไปกลุ่มเด็กทั่วไป เพราะเราทำงานกับ LGBT+ มาเยอะ กลุ่มนี้อาจเรียกว่า ‘กลุ่มเมาท์มอย’ คือพูดกันสัพเพเหระเรื่องนางงาม เรื่องโรงเรียน ละครวาย บางทีก็ได้ใช้พื้นที่ในการสอนเด็กไปด้วยนะ เช่น เกี่ยวกับเรื่องนางงาม ก็สอนว่า ถ้าหนูอยากดูสวยหนูต้องฝึกพูดฉลาดๆ นะลูก เรื่องละครวาย ก็ต้องเตือนๆ กันหน่อยว่าถ้าหาเงินเองไม่ได้อย่าเปย์ดาราเยอะ หรือเรื่องการบูลลี่กัน ก็ต้องคุยกันยาวถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียนว่า แต่ละแห่งมันมีเซฟโซนที่เขาใช้แก้ปัญหาหรือเปล่า บางที่ ผู้ใหญ่ในโรงเรียนยังเหยียดเพศอยู่เลย” อุ้มสรุปบทบาทของตัวเองว่า อยากเหมือน‘ป้า’ที่เด็กๆ ตั้งแต่ขาสั้นคอซองถึงมหาวิทยาลัยคุยได้ทุกเรื่อง ซึ่งก็เหมาะกับตัวเขาที่มีบุคลิกเป็นนักฟังที่ดีและพร้อมจะแสดงความเห็นเมื่อถึงเวลา
ถ้าพูดถึงโครงการเพื่อเยาวชนแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทย ( รวมทั้งอีกหลายประเทศในสังคมโลก ) กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในขณะที่โลกก็พัฒนาด้านเทคโนโลยี และผู้สูงอายุก็เริ่มใช้อินเทอร์เนตในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น “ดอดจ์ พรพัฒน์ จิโรจนวงศ์ ผู้เข้าประกวด Mr Gay world Thailand ได้ออกแบบโครงการ “VNH house of rainbow : บ้านพักหรับผู้สูงอายุ LGBT+”ซึ่งปัจจัยหนึ่งในสังคมผู้สูงอายุ คือความเป็นสังคมคนโสดด้วย ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) ก็ยังระบุว่า คนเลือกจะเป็นโสดมากขึ้นเพราะไม่อยากมีภาระครอบครัว ทำให้กรณีบ้านพักของดอดจ์ เริ่มจากการที่เขาคิดว่า อยากเป็นบ้านพักของ LGBT+ สูงวัย อาจพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัจจัยเรื่องเพศมากำกับ เขาลองศึกษาแบบแผนจากต่างประเทศ
“ผมออกแบบโครงการ VNH Application จึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และตอบโจทย์ปัญหาการเลือกปฏิบัติ โดยใช้รูปแบบสังคมเสมือน หรือโลกอินเทอร์เนต VNH Application คือ Application ที่เป็นบ้านพักคนชราเสมือนจริงที่ช่วยเหลือคนสูงวัย ให้ได้รับการดูแลเหมือนอยู่บ้านคนสูงวัยทุกประการ เพียงแต่คุณยังอยู่บ้านเดิมในที่ๆ คุ้นเคยได้ ซึ่งผมตั้งใจจะเขียน application ที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ 1. เลือกบริการจากบ้านพักผู้สูงอายุต่างๆ โดย สามารถดูจากคนที่ Review หรือ ระดับความพึงพอใจ (จำนวนดาว) หรือค้นหาจากตัวกรอง ราคาจากน้อยไปมาก มากไปน้อย Rating หรือ ในเครือต่างๆ
2. บริการทางการแพทย์ ที่คุณสามารถพบแพทย์ได้โดยการนัดวันเวลา vdo call และยาจะจัดส่งมาที่บ้านของคุณ แต่กรณีนี้เฉพาะโรคที่ไม่หนักหนาสาหัสเท่านั้น แต่ถ้าโรคนั้นเป็นเยอะ อาการหนัก ในแอปพลิเคชั่นมีบริการรถรับส่งเพื่อ LGBT+ หรือผู้สูงอายุรายอื่นที่เข้าร่วมโครงการ ที่ช่วยได้แม้กระทั่งกับผู้ใช้ WCHR ( รถวีลแชร์สำหรับพื้นเอียง ) มีปุ่มในการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน กดค้างไว้ 3 วินาที จะมีคนพยายามติดต่อคุณ และมาหาคุณตามโลเคชั่นทันที เพราะเราตระหนักดีว่าความปลอดภัยสำคัญสุด และจะมีกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือทำงานอยู่เบื้อหลังแบบ Vitrtual Office เช่นหน่วยกู้ภัย ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน และในอนาคต จะสามารถใช้ร่วมกับ Apple watch, Fitbit, Garminn ได้อีกด้วย ซึ่งสิทธิในการรักษาขึ้นอยู่กับประกันสังคม หรือประกันอื่นๆ หรือสิทธิอื่นๆ ที่ลงทะเบียนไว้
3.การสร้างสังคม ผมออกแบบให้ในแอปพลิเคชั่นมีรายการ TV วิทยุ และ Posdcast ที่ถูกคัดกรองมาอย่างดี และเหมาะสมกับคนสูงวัย เพื่อให้ได้รับข่าวสารและบันเทิงต่างๆ คุณมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีการหลอกขายสินค้า บริการ กับคนสูงวัยแน่นอน และที่สำคัญที่ผมกำลังพยายามออกแบบคือ การช่วยคัดกรองไม่ให้ผู้สูงอายุต้องตกเป็นเหยื่อของแกงค์มิจฉาชีพ แกงค์คอลเซนเตอร์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า พวกนี้มันมีเล่ห์กลมากขึ้นทุกวัน เราต้องตามให้ทัน 4. การสร้างห้องสนทนา เป็นสังคมเพื่อการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนัดการท่องเที่ยว กลุ่มจัดสอนงาน สอนทำกิจกรรมยามว่าง กลุ่มคนรักสถาปัตยกรรม รักสัตว์ รักถ่ายรูป กลุ่มนางโชว์ ให้คนสูงวัยได้เป็นเมมเบอร์เข้าไปพูดคุย ระลึกความหลัง เล่าเรื่องเรื่อยๆ หรือเป็น Streamer ( ผู้ผลิตวีดิโอเผยแพร่ตามโซเชี่ยลแพลทฟอร์ม) ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน นี้ยังมีกลุ่มสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อให้คนสูงวัยได้แสดงความสามารถที่เคยทำมา ที่คุณชอบเช่น ทำอาหาร หัตถกรรม แต่งหน้า หรือแม้แต่งานการกุศลต่างๆ ที่คนสูงวัยสามารถเป็นทั้งผู้เรียน และผู้สอน”
โดยศักยภาพของดอดจ์เอง เขาสามารถเขียนแอปพลิเคชั่นได้ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ การสนับสนุนจากภาครัฐบาลหรือเอกชนที่ให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุที่จะไม่เงียบเหงาอยู่บ้าน และสร้างเครือข่ายเพื่อนฝูงรุ่นใหญ่ผ่านโลกออนไลน์ได้ เขาฝันไปถึงว่า นี่จะได้เป็นต้นแบบให้กับบ้านพักคนชราทั่วโลกได้
เหล่านี้ก็คือโครงการโซเชี่ยลแคมเปญ ที่กลุ่มเกย์เห็นปัญหาใกล้ตัว เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ และต้องการให้เปลี่ยนแปลง โดยที่หลายๆ ปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเพศ แต่คือเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข เสมอภาค.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”