เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวจากต่างแดนที่ชวนอึ้ง!! โดยสำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวกรณีพบหญิงชราชาวจีน “เสพติดการซื้อสินค้า“ จนมีข้าวของเก็บไว้ “ล้นห้องพัก!!”… โดยรายงานข่าวระบุว่าหญิงชรารายนี้ชอบสั่งซื้อสินค้าตลอดเวลา ซึ่งช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาหญิงรายนี้ซื้อสินค้าคิดรวมกันเป็นมูลค่าหลักล้านหยวน!! และของที่ซื้อนั้นก็มีส่วนที่ไม่เคยถูกแกะออกจากกล่องมาใช้งานด้วยซ้ำ โดยหลังเรื่องนี้ปรากฏผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นถึง “พฤติกรรมไม่ธรรมดา“ของหญิงชรารายนี้ ว่า… อาจป่วยเป็น “โรคเสพติดชอปปิง“ ที่ต้องได้รับการบำบัด …นี่เป็น “กรณีชวนอึ้งจากต่างแดน”…

กับชื่อ “โรค“ ที่ผู้คนประหลาดใจ…
เกิด “ปุจฉาอื้ออึง!!“จากพฤติกรรมนี้
“โรคเสพติดชอปปิง“ นี่ “มีจริงหรือ??“

สำหรับ “วิสัชนา” ของปุจฉานี้…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่ากรณีนี้ “มีจริง ๆ“ และก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ในจีน หรือในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดกระแสฮือฮากรณีนี้ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้สังคมออนไลน์ไทยก็เคยเซ็งแซ่แล้วหลาย ๆ ครั้ง ขณะที่กรณีนี้เรื่องนี้ในทางการแพทย์ก็ได้ให้ความสนใจ และได้มีการศึกษาวิจัยถึงพฤติกรรมดังกล่าวนี้ไว้ ซึ่งสำหรับลักษณะอาการดังกล่าวนี้ ใน “มุมจิตวิทยา” นั้นได้มีการเรียกชื่อพฤติกรรมนี้ว่า… “Compulsive Shopping“ หรือที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ’โรค Shopaholic“ ซึ่งเป็น “ภาวะเสพติดการซื้อของ“

ทั้งนี้ กับ “ภาวะเสพติดการซื้อของ” หรือ “โรค Shop-aholic” หรือ “โรคเสพติดชอปปิง“ ที่ในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกอาการดังกล่าวนี้ว่า “Compulsive Shopping” นั้น ก็มีชุดข้อมูลโดย พญ.สิริพัชร เพิงใหญ่ จิตแพทย์ ที่ได้ให้ข้อมูลภาวะแบบนี้ไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์โรงพยาบาลมนารมย์ หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… “โรคเสพติดชอปปิง” มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “Shopaholic” โดย เป็น1 ในพฤติกรรมการเสพติด (Behavioral Addiction) เหมือนกรณีการเสพติดพนัน เสพติดอินเทอร์เน็ต เสพติดเซ็กซ์ และแม้แต่เสพติดการออกกำลังกาย …นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นของภาวะอาการที่ว่านี้

และทางจิตแพทย์ท่านดังกล่าวก็ได้มีการแจกแจงถึง “ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคเสพติดชอปปิง” ไว้ว่า… มีวิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้… 1.มีความต้องการอยากซื้อตลอดเวลา 2.มักซื้อเกินความจำเป็น 3.รู้สึกดีเมื่อได้ซื้อแต่จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ4.มักจะเกิดความรู้สึกผิดหลังจากซื้อมาแล้ว 5.สินค้าที่ซื้อมามักจะไม่ถูกนำไปใช้ และมักจะซื้อสินค้าเดิมซ้ำ ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้ว 6.มักจะมีนิสัยต้องหลบซ่อนหรือโกหกคนรอบข้างเวลาที่ตนเองซื้อสินค้า …นี่เป็นหลักสังเกต ซึ่ง “ปัญหา” ก็คือ…

พฤติกรรมนี้อาจ ทำให้เกิดปัญหาในชีวิต ซึ่งเมื่อผู้ที่มีภาวะนี้มีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กรณีนี้ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น เกิด ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเกิด ปัญหาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นต้น

“โรคเสพติดชอปปิง” ย้ำว่า “มีจริง ๆ”
ใครเป็นก็ เสี่ยงต่อปัญหาหลายด้าน“

ทาง พญ.สิริพัชร ได้แจกแจงไว้ในบทความถึง “ช่วงอายุที่สามารถเกิดภาวะนี้ได้” โดยระบุไว้ว่า… สำหรับภาวะอาการดังกล่าวนี้ พบได้ตั้งแต่ประชากรวัยรุ่นขึ้นไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ และก็ พบได้ทั้งหญิงและผู้ชาย ขณะที่ “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิด “โรคเสพติดชอปปิง” นั้น ทางคุณหมอระบุไว้ว่า… มีปัจจัยทั้ง “ปัจจัยส่วนบุคคล“ และ “ปัจจัยทางด้านสังคม“

ทั้งนี้ หากเกิดจากปัจจัยส่วนบุคคล สิ่งที่สามารถสังเกตได้จากผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคนี้ นั่นก็คือ คน ๆ นั้นมักเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ อาทิ มีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรควิตกกังวล หรือโรคสมาธิสั้น ขณะที่ปัจจัยด้านสังคม…อาจเป็นผลจากความสะดวกของเทคโนโลยียุคปัจจุบันที่ทำให้การชอปปิง สะดวกและง่ายขึ้น จนนำสู่พฤติกรรม “เสพติดชอปปิง” แบบไม่รู้ตัว และนอกจากนี้ บางคนอาจ “ป่วยเป็นโรคเสพติดชอปปิง” นี้ด้วยเหตุ “เพราะต้องการบำบัดความเครียด” อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยคลายเครียดได้ แต่ก็แค่ชั่วครู่เท่านั้น มิหนำซ้ำ…

อาจจะยิ่งไปเพิ่มปัญหาชีวิตมากขึ้น!!

ส่วน “วิธีป้องกัน“ ให้ชีวิตห่างไกล “โรค Shopaholic” นั้น ทาง พญ.สิริพัชร เพิงใหญ่ ระบุไว้ในบทความที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์โรงพยาบาลมนารมย์ ว่า… เริ่มจาก ต้องมีสติทุกครั้งก่อนควักเงินหรือกดสั่งซื้อ ไตร่ตรองก่อนซื้อทุกครั้งว่าสินค้าที่จะซื้อจำเป็นแค่ไหนกับชีวิต, กำจัดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดความอยากซื้อ เช่น ลบแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ การไม่กดติดตามร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่การไม่พกบัตรเครดิต เพื่อเพิ่มความยุ่งยากในการจับจ่ายซื้อของให้ยากขึ้น, ขอความช่วยเหลือคนใกล้ชิด โดยบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนใกล้ชิดติดตาม-อยู่ด้วยทุกครั้งเวลาที่จะมีการซื้อของ

ภาวะเสพติดชอปปิงนี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ควรต้องบำบัดแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะส่งผลเสียกับชีวิต โดยการรักษาจะมีทั้งการเข้ากลุ่มบำบัด การทำจิตบำบัดเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม ส่วนการใช้ยาจะทำก็ต่อเมื่อบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น มีปัญหาควบคุมอารมณ์ มีภาวะซึมเศร้า” …คุณหมอท่านเดิมระบุไว้

ก็ นับว่าแย่กว่า“ กรณี ของมันต้องมี“
กรณี เสพติดชอปปิง“ นี่ “จัดเป็นโรค“
“เสี่ยง“ กับโรคนี้…’คนไทยเราก็ด้วย!!“.