ไทยยุคนี้เป็น “ยุคอุดมดราม่า” จริง ๆ โดยมีกระแสเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากเรื่องที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งก็แทบไม่น่าเชื่อว่าจะ “เป็นดราม่า” ได้??อย่างกรณี “เห็ดเผาะ” หรืออีกชื่อคือ “เห็ดถอบ“… ทั้งนี้ เห็ดชนิดนี้ “ตกเป็นจำเลยสังคม” ในบัดดล หลังเกิดมี “วิวาทะเชิงการเมือง” เป็นกระแสร้อนขึ้นมา โดยเห็ดชนิดดังกล่าวนี้เป็น “แหล่งอาหารชั้นเลิศ-แหล่งรายได้ชั้นยอด” ของชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีเห็ดชนิดนี้ชุกชุมเป็นพิเศษ ซึ่งกลางกระแส “ดราม่าเห็ดเผาะ” ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากจะมีการโยงเรื่อง “ไฟป่า-เผาป่า” แล้ว…ก็ยังมีการโยงกับเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” ด้วย!!

“เห็ดเผาะ” เกิดกรณี “เป็นจำเลยสังคม” เพราะถูกมองว่า… เป็นหนึ่งใน “ต้นเหตุของการเผาป่า” จากความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาว่า… แหล่งที่จะเกิดเห็ดชนิดนี้ได้จะต้องเกิดไฟไหม้ป่าเสียก่อน…เห็ดถึงจะงอกขึ้นมา โดยมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจคลาดเคลื่อน ที่คิดว่า… “เห็ดเผาะชอบไฟป่า?-ไม่มีไฟป่าก็ไม่มีเห็ดเผาะ?” จึงส่งผลให้เห็ดชนิดนี้ “ตกเป็นจำเลย”…

ยุคนี้ช่วงแล้งก่อนฝน “ไฟป่ารุนแรง”
แล้วเกิดปัญหา “หมอกควัน-ฝุ่นพิษ”
“เห็ดเผาะ” ก็ดูจะ “ยิ่งตกเป็นจำเลย”

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีข้อมูลคำอธิบายเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “เห็ดเผาะ-เห็ดถอบ” ที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… ทั้งนี้ใน เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สพวส.) ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ผ่านทางบทความวิชาการที่จัดทำไว้โดย ดร.ศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ โดยเป็นการให้ข้อมูลผ่านบทความชื่อ “เห็ดป่า…หาได้ทุกปี…ไม่มีลด?” ซึ่งหลักใหญ่ใจความโดยสังเขปมีว่า… จากสถานการณ์ไฟป่าและปัญหาหมอกควันที่ผ่านมา การเก็บหาเห็ดป่า โดยเฉพาะ “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ต้องตกเป็นจำเลยสังคม ว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากการมีความเข้าใจผิดว่า…ในการหาเห็ดชนิดนี้จะต้องมีการเผาป่าก่อน…ถึงจะมีเห็ดเกิดขึ้น??

ทั้งนี้ ทาง ดร.ศุลิเชษฐ์ ได้อธิบายไว้ว่า… เห็ดจัดเป็นเชื้อราประเภทหนึ่ง โดยส่วนใหญ่เห็ดจะดำรงชีวิตเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ขนาดเล็กเพื่อนำเข้าไปใช้ในการเจริญของตนเอง ซึ่งช่วยหมุนเวียนสารอาหารในระบบนิเวศ โดยทางวิชาการจะเรียกกลุ่มเห็ดนี้ว่า… กลุ่มเห็ดผู้ย่อยสลาย หรือกลุ่มเห็ดแซบโพรบ (saprobe) โดยเห็ดที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดโคนน้อยหรือเห็ดถั่วเน่า เห็ดนางรมนางฟ้า เห็ดบด เห็ดขอนขาว เห็ดหอม เห็ดหูหนู เป็นต้น

ส่วนอีกกลุ่มเป็น กลุ่มเห็ดที่มีการดำรงชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ที่มีชื่อเรียกว่า… กลุ่มเห็ดซิมไบโอซิส ซึ่งยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.เห็ดที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับพืช ที่เรียกว่า กลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เช่น เห็ดขมิ้น เห็ดมันปู เห็ดผึ้งหรือเห็ดตับเต่า เห็ดไคหรือเห็ดหล่ม เห็ดระโงก รวมถึง เห็ดเผาะ และ 2.เห็ดที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับปลวก ได้แก่ กลุ่มเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน และนอกจากกลุ่มที่กล่าวมา ก็ยังมีเห็ดที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตของพืชยืนต้นหรือเห็ดด้วยกันอีกด้วย โดยเรียกว่า… กลุ่มเห็ดปรสิต (parasite) เช่น เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหมื่นปี เป็นต้น

โฟกัสที่ “เห็ดเผาะ-เห็ดถอบ”… จัดเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่ มีความต้องการบริโภคของคนทั่วไปค่อนข้างสูงและมีราคาดี แต่จากความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาว่า… แหล่งที่จะเกิดเห็ดเผาะจะต้องเกิดไฟไหม้ป่าเสียก่อน เห็ดถึงจะออก และยิ่งในประเทศไทยระยะหลัง
เกิดสถานการณ์ปัญหารุนแรงจาก “ไฟป่า-หมอกควันจากการเผาป่า” จึงยิ่งทำให้ “เห็ดเผาะถูกมองเป็นผู้ร้าย” จากการมีความเชื่อเรื่องการเกิดแหล่งเห็ดเผาะชุกชุม ทั้ง ๆ ที่“ความจริง” แล้ว “ไฟป่าส่งผลเสียต่อเห็ดเผาะ”

ดร.ศุลิเชษฐ์ ระบุไว้ว่า… การเผาป่าไม่ได้ช่วยทำให้เห็ดเผาะเยอะขึ้น แต่กลับส่งผลทำให้เห็ดในป่ายิ่งลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงหลายปีหลังมานี้ชาวบ้านบางพื้นที่เริ่มเก็บเห็ดในป่าได้น้อยลง โดยเฉพาะเห็ดที่เกิดเหนือผิวดิน เช่น เห็ดระโงก เห็ดแดง เห็ดด่าน เห็ดโคน รวมถึง “เห็ดมีมูลค่า” อย่าง “เห็ดเผาะ-เห็ดถอบ” ซึ่งจากการวิจัยพบว่า…ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากเชื้อเห็ดที่เกิดเหนือผิวดินถูกทำลายด้วยความร้อนจากไฟ ที่มิใช่แค่ทำลายเชื้อเห็ด แต่ยังทำลายแหล่งอาหารของเห็ด ได้แก่ เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นในป่า และยังทำลายต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ด

“เห็ดเผาะ เห็ดถอบ เป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าถูกไฟไหม้จะทำให้เส้นใยเห็ดที่โดนความร้อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ หรือเรียกง่าย ๆ คือกลายเป็นเห็ดสุก… ความเชื่อเรื่องนี้ถูกนำไปโยงกับไฟป่า จากการสังเกตของคนรุ่นก่อนที่เห็นว่าเห็ดเผาะมักจะเกิดขึ้นได้ดีในพื้นที่ที่ไฟไหม้ป่า จึงบอกเล่าต่อกันมา จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน”

ทั้งนี้ ดร.ศุลิเชษฐ์ ได้แนะนำ “เทคนิคทำให้มีเห็ดเก็บได้ตลอด” เทคนิคที่ “ไม่ใช่การเผาป่า” ไว้ในช่วงท้ายบทความว่า… แนวทางที่จะทำให้มีเห็ดออกและเก็บได้ตลอดนั้น มีดังนี้คือ… เวลาเก็บเห็ดจะต้องเหลือส่วนหนึ่งไว้เป็นแม่เชื้อในธรรมชาติ ไม่ใช่เก็บมาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบคือเก็บหมดจนไม่มีตอเหลือไว้ให้เห็ดเติบโตได้ต่อ, ต้องเติมเชื้อในต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ด โดยเพาะกล้าไม้วงศ์ยางซึ่งเป็นพืชอาศัยที่เห็ดชอบขึ้น นำสปอร์ของเห็ดผสมน้ำแล้วนำไปหยอดในถุงเพาะ หรือใช้สปอร์คลุกดินที่ใช้ปลูกกล้าไม้ก็ได้ ซึ่งเมื่อเริ่มมีเห็ดออกครั้งแรกแล้ว จะสามารถเก็บได้ต่อเนื่องทุกปี…

นี่ถือเป็นข้อมูล “ลบตราบาปเห็ดเผาะ”
ควรใช้ “ลบความเชื่อแหล่งเกิดเห็ด”
จะช่วย “ฟื้นฟูเห็ดไปพร้อมกับป่า”.