ของทานเล่น” หรือ “สแน็ค (Snacks) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่บริโภคง่ายและสะดวก จึงตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันจนเป็นปัจจัยทำให้ตลาดเติบโต ส่วนจะเติบโตเท่าใด? มีโอกาสกับผู้ประกอบการไทยแค่ไหน? วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน โดยข้อมูลนี้เผยแพร่ใน https://tpso.go.th ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ให้ข้อมูลว่า บริษัทวิจัยตลาด ยูโรมอนิเตอร์ เผยว่า ปี 2566 ตลาดค้าปลีกสแน็คโลกมีมูลค่าถึง 643,805.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์ขนมหวานที่ทำด้วยน้ำตาล (Confectionery) อาทิ ช็อกโกแลต ลูกอม หมากฝรั่ง 2.ไอศกรีม (Ice Cream) 3.ของทานเล่นรสเค็มหรือเผ็ด (Savoury Snacks) อาทิ มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ขนมอบปรุงรส 4.ของทานเล่นรสหวาน (Sweet Biscuits, Snack Bars and Fruit Snacks) อาทิ ขนมปังกรอบรสหวาน คุกกี้ ธัญพืชอัดแท่ง

อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ และการส่งเสริมของภาครัฐให้ลดการทาน หวาน มัน เค็ม ทำให้ผู้ประกอบการสแน็คหันมาออกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยปี 2566 ตลาดค้าปลีกสแน็คเพื่อสุขภาพของโลก เช่น สแน็คที่ไม่มีกลูเตน (Gluten Free Snacks) สแน็คที่ไม่มีน้ำตาล (No Sugar Snacks) สแน็คที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ (Vegan Snacks) สแน็คที่มีไฟเบอร์สูง (High Fiber Snacks) และสแน็คไขมันต่ำ (Low Fat Snacks) มีมูลค่าถึง 315,399.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีการบริโภคสแน็คเพื่อสุขภาพสูง ได้แก่ จีน ฮ่องกง ชิลี บราซิล อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเมื่อย้อนมาดูมูลค่าตลาดค้าปลีกสแน็คของไทยนั้น พบว่า ปี 2566 มีมูลค่าถึง 105,200.7 ล้านบาท โดยเป็นการบริโภคในกลุ่มของทานเล่นรสเค็มหรือเผ็ดมากที่สุด

ส่วนตลาดสแน็คเพื่อสุขภาพมีอัตราการบริโภค คิดเป็นร้อยละ 26.9 โดยสินค้าสแน็คเพื่อสุขภาพในตลาดไทย ที่มีมูลค่าสูงเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ สแน็คที่ไม่มีน้ำตาล (No Sugar Snacks) สแน็คที่ไม่มีกลูเตน (Gluten Free Snacks) สแน็คที่เพิ่มวิตามิน (Good Source of Vitamins Snacks) สแน็คที่มีโปรตีนสูง (High Protein Snacks) และสแน็คที่มีไฟเบอร์สูง (High Fiber Snacks) ขณะที่สินค้าสแน็คจากพืช (Plant-Based Snacks) สแน็คที่มีโปรตีนสูง (High Protein Snacks) และสแน็คที่ไม่เติมน้ำตาลเพิ่ม (No Added Sugar Snacks) ก็เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากไทยมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญ และมีภูมิปัญญาแปรรูปอาหาร ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี ด้วยเทรนด์การบริโภคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายประเทศจึงมีกฎระเบียบใหม่ ๆ ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด และนี่เป็นข้อมูลที่เอสเอ็มอีไทยน่าพิจารณา เพื่อนำไปใช้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]