เป็นใครก็ยิ่งช้ำ!!…กรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้คุณแม่ของเด็กสาวรายหนึ่งที่เป็น “เหยื่อถูกละเมิดทางเพศ” เผยถึงทุกข์จากการที่ “คดีคืบหน้าไม่ถึงไหน??” ทั้งที่แจ้งความตำรวจตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 แล้ว!!… ทั้งนี้ กับคดีนี้ทางฝ่ายเหยื่อระบุไว้ว่า…ประสบความลำบากในการเดินทางเข้าให้ปากคำเนื่องจากอยู่ห่างไกล และที่ยิ่งแย่ก็คือ…เมื่อไปถึงแล้วกลับ ถูกปฏิเสธจากทางเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลที่ว่า…เจ้าหน้าที่ออกเวรแล้ว!! …ซึ่งใครที่ได้รับรู้ไม่เพียงจะรู้สึกเศร้าใจ…ยังโมโหตามไปด้วย…

ก็ยังน่าคิด… “ระบบช่วยเหลือเหยื่อ”
กับกรณี “ไม่ได้ช่วยเหยื่อให้สะดวก”…
และ “ตอกทุกข์ให้เหยื่อยิ่งช้ำ…ยังมี!!”

จากเรื่องราวสุดชอกช้ำของฝ่ายที่เป็น “เหยื่อ” ที่มีกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้…ก็ทำให้หลายคน “เกิดคำถามอีกครั้งถึงระบบช่วยเหลือเหยื่อ??” ทั้งกรณี “เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ” รวมถึง “เหยื่อความรุนแรง” ที่กับเพศหญิงนั้นยุคนี้สถานการณ์ดูจะยิ่งรุนแรง โดยเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ ทางหน่วยงานต่าง ๆ “พูด” กันมานานมากแล้วถึงการ “ช่วยเหลือเหยื่อ” และ “ปกป้องเหยื่อมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนจากกลไก-ระบบ”…ก็แล้ววันนี้ “ไทยทำได้แค่ไหน?-ถึงไหน?”…ซึ่งเรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนต่อข้อมูล “ระบบในต่างประเทศ” ที่ใช้ “เป็นกรณีศึกษาให้ไทยได้” และจะชวนดูอีกครั้ง…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ระบบช่วยเหลือ” สำหรับ “เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ” และ “เหยื่อความรุนแรง” นั้น เรื่องนี้ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจที่เผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งได้มีการ ศึกษาและเปรียบเทียบ “ระบบของต่างประเทศ” ได้แก่… อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย เพื่อเสนอใช้เป็น “กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย” เพื่อจะนำสู่การลดข้อจำกัด และทำให้ระบบช่วยเหลือเหยื่อของประเทศไทยนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น…

เริ่มจาก “ระบบช่วยเหลือของอังกฤษ” ที่จะเน้นกรณี “เหยื่อความรุนแรงทางเพศ” ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การ… มีระบบช่วยเหลือครบวงจรเพื่อให้การดูแลเหยื่อตลอด 24 ชั่วโมง โดยอังกฤษได้ “ตั้งหน่วยงานเฉพาะ” ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ โดยมีชื่อย่อว่า “SARCs” ซึ่งหน่วยงานนี้ ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และนิติเวชเฉพาะทางสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และที่สำคัญมีระบบการทำงานแบบ “ครบวงจร (one stop service)” โดยให้บริการทั้งการรักษาทางร่างกาย-จิตใจ และมีการติดตามผลการรักษา รวมถึงช่วยเก็บหลักฐานนิติเวชเพื่อช่วยเหยื่อให้นำไปใช้ทางกฎหมาย อีกทั้ง…

ช่วยประสานหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ “ระบบของอังกฤษ” นั้น โดยสังเขปก็คือ… เมื่อเกิดเหตุ เหยื่อสามารถเข้าไปรับบริการได้ที่ SARCs ตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งศูนย์นี้จะ ให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุดไม่มีกรณีออกเวรแล้ว โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงให้ยารักษาหรือป้องกันโรค และนำเหยื่อเข้ารับการตรวจทางนิติเวช ซึ่งถ้าในขณะนั้นเหยื่อยังไม่ประสงค์แจ้งความดำเนินคดี ทางศูนย์ก็จะมีการเก็บผลตรวจไว้ให้เหยื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี …นี่คือระบบของอังกฤษ ที่ “ช่วยเหยื่อเต็มที่”

เช่นเดียวกับ “ระบบของสหรัฐอเมริกา” ที่นี่มีระบบเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงอยู่ 2 ส่วนสำคัญ คือ มีทั้ง “ระบบป้องกัน” และ “ระบบช่วยเหลือ” โดยระบบช่วยเหลือนั้นมีการ “ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุความรุนแรง” ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งมีชื่อหน่วยงานว่า “National Domestic Violence Hotline” ที่สามารถรับแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ทั้งทางเว็บไซต์และทางโทรศัพท์ ซึ่งจะ มีระบบช่วยให้เหยื่อปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบทั้งทางกายและทางใจให้กับเหยื่อ ขณะที่ระบบป้องกันจะมีการใช้ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีการแทรกแซงสกัดเส้นทางที่จะนำไปสู่ความรุนแรงด้วย

ขยับมาดูใกล้ ๆ ไทย…กับ “ระบบของมาเลเซีย” ที่ก็มีระบบ “ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง” ที่น่าสนใจ โดยมีหน่วยงานชื่อ “OSCC (One Stop Crisis Centre)” ที่ก่อตั้งขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐทุก ๆ แห่ง เพื่อ ให้บริการแก่เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกระทำทางเพศ โดยเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งโรงพยาบาลจะประเมินระดับความรุนแรงตามแนวทางคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยถ้าวิกฤติก็จะส่งตัวไปรักษาก่อน ส่วนเหยื่อที่ไม่วิกฤติจะส่งไปยัง OSCC เมื่อ OSCC รับเคสก็จะรายงานเหตุไปยังตำรวจ จากนั้นจึงส่งตัวไปหน่วยงานเฉพาะทางตามสภาวะ โดยจุดเด่นระบบของมาเลเซียคือ ครอบคลุมและรวดเร็วในการประสานกับหน่วยงานเฉพาะด้านทำให้เหยื่อเข้าถึงการช่วยเหลือดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลเรื่องนี้ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ HITAP ยังระบุถึงผลศึกษา “ระบบช่วยเหลือเหยื่อของไทย” ไว้ด้วย ซึ่งพบว่า… ไทยยังมีข้อจำกัดอุปสรรคด้านต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ… เหยื่อต้องพบอุปสรรค อาทิ เรื่องช่องทางร้องเรียน ความรู้ทางกฎหมายหรือสิทธิ หวาดกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ที่ทำให้เหยื่อเลือกจะไม่เอาผิดกับผู้ก่อเหตุ ขณะที่… ผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือ ก็พบว่ายังขาดการทำงานเชิงป้องกัน ขาดทักษะสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ มีภาระงานล้นมือเกินไปจนทำให้การประสานงานล่าช้า …นี่เป็นข้อมูลระบบของไทยที่ผ่านมา ที่ในวันนี้ก็ยังไม่ชัดว่าแก้ไขได้ถึงไหน??…

“เหยื่อเพศ-เหยื่อรุนแรง” ไทยเกิดมาก
ไม่รู้แก้ “จุดบอดช่วยเหยื่อ” ถึงไหน??
รู้แต่ “ทุกข์ซ้ำ ๆ ของเหยื่อยังอื้ออึง!!”.