แม้ขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ติดหัวรบนิวเคลียร์ สามารถทำลายเมืองทั้งเมืองได้ แต่อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่ใช้กับกองทหารในสนามรบ มีอานุภาพทำลายล้างน้อยกว่า และมีแรงระเบิดประมาณ 1 กิโลตัน

อนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ลักษณะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น ระเบิดทางอากาศ, หัวรบขีปนาวุธพิสัยใกล้ หรือกระสุนปืนใหญ่ อาจมีขนาดกะทัดรัดมาก ทำให้การเคลื่อนย้ายมัน สามารถทำได้อย่างไม่สะดุดตา ไม่ว่าจะเป็นทางรถบรรทุกหรือทางเครื่องบิน

นอกจากนี้ อาวุธดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้ข้อตกลงควบคุมอาวุธ ระหว่างรัฐบาลมอสโก กับรัฐบาลวอชิงตัน หรือข้อตกลงที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งทางการรัสเซีย ก็ไม่เคยเปิดเผยจำนวน หรือรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับอาวุธเหล่านี้เลย

นับตั้งแต่รัสเซีย เริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวเตือนชาติตะวันตกหลายครั้ง เกี่ยวกับขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของรัฐบาลมอสโก เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาติตะวันตก เพิ่มความสนับสนุนทางทหารให้แก่รัฐบาลเคียฟ

ในช่วงต้นของสงคราม ปูตินมักอ้างถึงคลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลมอสโก โดยให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เขาจะ “ใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็น” เพื่อปกป้องรัสเซีย แต่ในเวลาต่อมา ปูตินพูดถึงเรื่องข้างต้นน้อยลง หลังการรุกคืบของยูเครนเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ไม่บรรลุเป้าหมาย และรัสเซียมีความได้เปรียบในสมรภูมิมากขึ้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การป้องกันประเทศของรัฐบาลมอสโก ระบุว่าจะมีการตอบสนองด้วยนิวเคลียร์ ต่อการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือแม้แต่การโจมตีด้วยอาวุธทั่วไปที่ “คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐรัสเซีย” ซึ่งการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือดังกล่าว ทำให้ผู้สันทัดกรณีชาวรัสเซียบางคนที่สนับสนุนทำเนียบเครมลิน เรียกร้องให้ปูตินปรับปรุงถ้อยคำ เพื่อบังคับชาติตะวันตกให้ความสำคัญกับคำเตือนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปูตินกล่าวเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วว่า เขาไม่เห็นเหตุผลสำหรับการเปลี่ยนถ้อยคำในหลักเกณฑ์ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีสถานการณ์ใดที่จะคุกคามความเป็นรัฐ และการดำรงอยู่ของรัสเซีย อีกทั้งเขายังคิดว่า ไม่มีบุคคลใดที่มีสติสมประกอบ มีความคิดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียขนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีบางส่วน เข้าไปในดินแดนของเบลารุส พันธมิตรของรัฐบามอสโก และมีพรมแดนติดยูเครน อีกทั้งเบลารุสยังอยู่ใกล้กับประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) อย่างโปแลนด์, ลัตเวีย และลิทัวเนีย

ยิ่งไปกว่านั้น การนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไปประจำการในเบลารุส ซึ่งพรมแดนติดกับยูเครนยาว 1,084 กิโลเมตร จะทำให้เครื่องบินและขีปนาวุธของรัสเซีย สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น หากรัฐบาลมอสโกตัดสินใจใช้อาวุธเหล่านี้ รวมทั้งเป็นการขยายขีดความสามารถของรัสเซีย ในการโจมตีพันธมิตรนาโตหลายประเทศในยุโรปตะวันออก และยุโรปกลางด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP