อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้พูดถึงกรณีกลุ่มหลากหลายทางเพศที่มีจิตอาสาและจะโชว์ศักยภาพของตัวเองเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ..พอมาอาทิตย์นี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการที่เสี่ยนิด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะไปร่วมเดินงาน“บางกอกไพรด์” จากสนามกีฬาแห่งชาติไปยังหน้าเซนทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ปรากฏข่าวแว่วว่า มีตีกันในหมู่ผู้จัด ผู้ร่วมขบวน ผู้จะร่วมขบวน ทำนองว่า “ใครจะมาร่วมเดินก็ได้ แต่องค์กรที่ไม่ได้จ่ายสนับสนุน ไม่อนุญาตให้นำโลโกมาประชาสัมพันธ์” ทำนองว่า นี่มันพาเหรดเอกชน รถแห่ พรอพ ป้ายต่างๆ ลำโพง มันมีต้นทุนของมันทั้งนั้น จะร่วมก็ลงทุนหน่อย

ทีนี้ก็เลยมีการขยายกันเลยเถิดไปถึงประเด็นว่า “ใครไม่จ่ายแล้วอยากมาเดินมันเป็น rainbow washing” คือฉวยโอกาสจังหวะเดือนไพรด์ทำการตลาด ด้วยมายาคติเดิมๆ คือ กลุ่มหลากหลายทางเพศนี่กำลังซื้อเยอะ เพราะชอบวิ่งตามแฟชั่นบ้าง ไม่มีภาระทางครอบครัวให้รับผิดชอบบ้าง..ความคิดเหล่านี้มันดูเป็นภาพเหมารวมไปหน่อย ..การเป็น rainbow washing คือการที่มีการผลิตสินค้า – บริการขึ้นมาโดยการ “ฉาบสีรุ้ง” สำหรับขายชาวหลากหลายทางเพศ มีบริการเอาอกเอาใจชาวหลากหลายทางเพศเป็นพิเศษ แต่จริงๆ แล้ว องค์กรเหล่านั้นมองในมิติแค่เรื่องการบริโภค โดยลืมนึกถึงสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ใช้พูดถึงความจริงใจต่อการยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ คือ “การมีนโยบายในองค์กรที่ชัดเจน มีพื้นที่ปลอดภัย และมีการแสดงท่าทีต่อสังคมอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่เฉพาะเดือนไพรด์” มันต้องใช้เวลาในการแสดงตัวเป็น   LGBT+ Allies ซึ่งถ้าให้ดี นโยบายที่มีควรเข้าใจถึงข้อจำกัดทางเพศหญิงชายด้วย เช่น การอนุญาตลาคลอด ลาเลี้ยงบุตร มีความเห็นอกเห็นใจในภาวะปวดประจำเดือน  มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับป้องกันการถูกคุกคามทางเพศ การพิจารณาเลื่อนขั้นมีการพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างมีนัยยะสำคัญว่า ไม่มีปัจจัยเรื่องเพศเข้ามาเป็นตัวแปร

ในบรรดาผู้เข้าประกวด Mr Gay World Thailand  ก็มีผู้ออกแบบที่สนใจความเป็น “สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางเพศ” หรือที่จะเรียกว่า inclusive workplace ก็ได้ คนแรกคือ “เกน ศักดิเมธ มีชำนาญ” ซึ่งทำงานด้านการควบคุมรถไฟฟ้าแอร์พอต เรล ลิงค์ ซึ่งขณะนี้สังกัดบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เกนเคยผ่านงานบริษัทเก่าที่เรื่องของเพศอาจ “เป็นปัญหา”ในการทำงานบ้าง แม้ว่าจะไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคแต่บางเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศก็บั่นทอน อย่างเช่น การวางบทบาทของเกย์ในงานเลี้ยง ต้องเป็นตัวตลก ร้องเพลงสร้างเสียงหัวเราะ ทั้งๆ ที่ตัวเกนเอง บอกว่าเขาออกจะ introvert (เข้าสังคมไม่เก่ง) ด้วยซ้ำ

“บางครั้งมันมีภาพจำที่คนมองว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้น่ะครับ แต่งตัวแรง แสดงเก่ง อะไรแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนก็มีเฉด (shade) ที่ไม่เหมือนกัน บางคนเขาชอบการอยู่เงียบๆ บางคนเขาก็ประเภท ..คนอื่นรู้ว่าเขาเป็นเพศอะไรเขาก็ไม่ได้สนใจนะ แต่อย่าเอาเขามาเป็นตัวตลก หรือมาทำพูดเสียงเล็กเสียงน้อยใส่ คนทำอาจคิดว่า ล้อเล่นไม่ได้นี่เรื่องมาก หรือไม่เป็นมิตร แต่สำหรับ LGBT+ หลายคนเขาไม่รู้สึกอย่างนั้น เขารู้สึกว่า การปฏิบัติต่อเขาแบบตุ้งติ้งใส่ แบบเรียกว่าตัวเองนี่ คุณควรจะเอาไปเล่นกับคนที่เล่นได้ หรือสนิทกับคุณ ”

“โอเคว่า ปัญหาของผมมันก็อาจไม่ได้หนักเหมือนบางบริษัท หรือบางองค์กร แต่บางครั้งก็เคยผ่านการถูกตั้งคำถามว่า ‘เป็นเกย์จะทำได้เหรอ’ผมเลยออกแบบแคมเปญชื่อ ‘ gender doesn’t matter’ จะหมายความว่า เพศไม่ใช่เรื่องสำคัญในการทำงานก็ได้ หรือที่ทำงานไร้เพศก็ได้ แต่มันต้องเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างผู้บริหารและพนักงาน  ซึ่งอาจเริ่มจากบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็น role model ให้บริษัทอื่นก็ได้ อย่างเช่น ผู้บริหารนี่มีความเข้าใจว่า เพศไม่ใช่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการทำงาน  และอาจมีการอบรมพนักงานในเรื่องนี้ว่า คุณเป็นเพศอะไรเราก็ไม่ติดใจนะ เพียงแต่ว่า รู้หน้าที่ พัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวหน้า  ตัว LGBT+ เองคนไหนไม่ได้เลื่อนขั้นแล้วจะตั้งแง่เลยว่าเพราะเขาไม่ใช่ Cisgender (เพศสภาพตรงเพศกำเนิด) ไม่ได้ เอาผลงานมาวัดกันมันสบายใจกว่า เพราะไม่ต้องมีมิติเรื่องอคติ”

เกนว่า เขาคิดถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมในเชิง soft power ในด้านการ“สลายพฤติกรรม” ในองค์กร ยิ่งถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ คือ กีฬาสี “ในแต่ละสีเขาก็ตกลงกันครับว่า ใครจะเล่นกีฬาอะไร ใครจะเป็นกองเชียร์ บางที LGBT+ บางคนอาจเล่นฟุตบอลเก่งกว่าผู้ชายก็ได้ หรือผู้ชายบางคนนี่ ลักษณะเขาสนุกสนานเหมาะเอาไปนำเชียร์มากกว่า การร่วมใจกันแข่งขันทำให้เราสลายความคิดเรื่องเพศไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ในช่วงระยะหนึ่ง และเพิ่มความสนิทสนมหลังกีฬาได้” สิ่งที่เกนคิดทำให้เรานึกถึงวัฒนธรรมแบบออฟฟิศของญี่ปุ่น ซึ่งเลิกประชุมจะไปนั่งดื่มเบียร์กัน แล้วจะสลายเรื่องตำแหน่งใครสูงกว่าใคร เพื่อพูดอะไรกันแบบเปิดใจได้

“นอกนั้น ผมว่า เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในช่วงเดือนไพรด์ อาจมีการแบ่งกลุ่มออกแบบแคมเปญเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัทในเชิงความเป็นมิตรต่อ LGBT+ โดยใช้‘สภาพจริง’ที่บริษัทเป็นอยู่นั่นแหละในการสื่อสาร ถ้าของจริงในองค์กรในบริษัทมันไม่ใช่แต่แรก  จะพีอาร์อย่างไรคนก็ไม่รู้สึกว่าจริงใจ งานการตลาดก็ไม่ใช่ว่าทำเพื่อ LGBT+ ให้เห็นเดือนเดียว จากนั้น ออกแบบสื่อ ออกแบบเนื้อหาแคมเปญที่อยากรณรงค์ว่าเรื่องอะไร แล้วให้ประกวดแข่งขันกัน ผลงานของกลุ่มชนะจะได้เป็นสื่อสำหรับแสดงความเป็น LGBT+ Allies ของบริษัท และที่สำคัญ หากบริษัทไหนมีสหภาพแรงงาน ต้องมีตัวแทนจากกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กลุ่ม”

คนที่สนใจทำแคมเปญเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เน้นขีดเส้นใต้สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางเพศ (Inclusive Workplace) อีกคนหนึ่งคือ “เป้ ภูษิต ช้างแก้วมณี” เป้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ หรือหลายคนอาจจะรู้จักกันในนาม จป. วิชาชีพที่ดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม เขาผ่านองค์กรที่เคยถูกเลือกปฏิบัติมาก่อน “ผมเคยมีนายเป็นต่างชาตินะ เขาพูดชัดเจนเลยว่า รับไม่ได้ที่ จป.วิชาชีพจะมาอ้อนแอ้น กรีดว้ายกระตู้วู้” เป้เล่า “จะว่าไปก็เคยเจอตั้งแต่ตอนฝึกงาน คือหลายคนในที่ฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรม เขาไม่ได้ยอมรับกลุ่ม LGBT+ เท่าไรหรอก เราไม่ได้แสดงออกนะแต่เราก็ไม่ปิดถ้าใครถาม กลายเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ  ตอนทำงานแรกๆ นายต่างชาติก็เหยียดเรื่อยๆ มันก็บั่นทอนความมั่นใจของเรา คนในโรงงานชอบมาแซวๆ ถามว่ามีเมียไหม มีเมียกี่คน ใช้คำถามสองแง่สองง่าม เพื่ออยากจะมารู้ว่าเราเป็นชายแท้ไหม พูดไปก็อยากจะขำ ผมต้องให้เพื่อนผู้หญิงคนสนิทของผม ปลอมตัวเป็นแฟนผม เพราะคนในโรงงานอยากรู้จักแฟนผม เหตุการณ์วันนั้นผมต้องปิดบังและสวมบทคู่รักหวานชื่น เพื่อให้พ้นเหตุการณ์ไปวันๆ ผมต้องทำขนาดนี้เลยเลยหรอ ตอนนั้นไม่สนุกเอาสะเลย ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือความไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยมันสำคัญมาก ผมเลยตัดสินใจว่า เราเรียนจบมาสายนี้ ชอบงานสายนี้ เปลี่ยนบริษัทดีกว่า ไม่เอาแล้ว”

พอพูดถึงเรื่องนี้ดูเป้จะขำๆ “โอ้โห มาที่ทำงานที่สองเราแมนมากมาเลย  แต่เวลาอยู่คนเดียวก็รู้สึกเหมือนเหนื่อยนะ กับการหลอกตัวเองไปวันๆ จนกระทั่งจุดเปลี่ยนคือช่วงสิ้นปี 56 ก็บังเอิญ ได้คุยกับช่างซ่อมบำรุง ซึ่งช่างซ่อมบำรุงคนนี้เป็นเพื่อนของเพื่อนของผมที่มหาวิทยาลัย  เขาก็บอกเขารู้นานแล้วว่าเราเป็นเกย์ ตอนนั้นผมก็คิดว่า ผมก็คงทำงานยาก และคนอื่นก็คงกระอักกระอ่วนล่ะ เลยเตรียมไปลาออกกับ HR แล้ว ปรากฏว่า HR ก็บอก ออกทำไม เขารู้กันทั้งนั้นเป้เป็นเกย์  ทุกคนรักเป้ ไม่มีใครว่าอะไรเลย รอเป้เปิดตัวมานานแล้ว แต่ไม่เปิดตัวก็ไม่เป็นไร ทุกคนโอเค พอได้ยินแบบนั้น มันก็โล่งใจนะ ว่า ถ้าคนในองค์กรมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ เขาจะไม่เอามันมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกปฏิบัติ กระทั่งการพูดถึงก็ไม่มี นั่นคือการเคารพตัวตนไง ว่า ถ้าเราไม่ได้พูด เราไม่ได้แสดงออก เขาก็มองเราที่ผลงานอย่างเดียว” ตรงนี้เป้ยังแสดงความเห็นด้วยว่า การปฏิบัติต่อเกย์ที่เขาไม่ชอบ คือการเรียกแบบผู้หญิง ลูกสาวบ้าง น้องสาวบ้าง ตัวเองบ้าง หรือกระทั่งการถามบทบาททางเพศ ..เป้ว่า แต่ถ้าเราอยู่ในที่ๆ เคารพตัวบุคคลกัน คนรอบข้างจะรู้วิธีวางตัวกับเราเอง

“ผมทำแคมเปญชื่อ “Open Doors” หรือประตูที่เปิดรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ผ่าน Line OA โดยเบื้องต้น พยายามค้นหาองค์กรที่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศก่อน” เป้ว่า “ อยากให้บริษัทต่างๆ ใช้แพลตฟอร์มทางอินเทอร์เนตทุกช่องทางในการเผยแพร่ว่า “บริษัทเรามีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ” ซึ่งก็พยายามรวบรวมจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายบริษัทมาเรื่อยๆ แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันในแพลตฟอร์มให้ฐานข้อมูลใหญ่ขึ้น บางองค์กรอาจไม่มีการประกาศ แต่คือภาพรวมที่เราพอมองเห็นนั้นเขาไม่เลือกปฏิบัติ  แต่ที่สุดแล้ว ผมคิดว่า แต่ละองค์กรควรมี Code of conduct (ประมวลจริยธรรม) ในนโยบายเกี่ยวกับการสร้าง Inclusive Workplace คือ การทำองค์กรให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางเพศ  ไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ มีบทลงโทษเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศหรือการเหยียดเพศ มีช่องทางลับให้ร้องเรียนผู้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสมด้วยเหตุแห่งเพศ  ซึ่งการร้องเรียนการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศนี่เรามีกฎหมาย พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ช่วยอยู่อีกด้านหนึ่งแล้วที่ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ร้องไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยที่กรมกิจการสตรีฯ ได้ แต่เบื้องต้นในองค์กรต้องเป็นพื้นที่ที่ยุติธรรมก่อน”

เป้บอกว่า แพลตฟอร์มของเขา นอกจากจะมีรายชื่ออัพเดทบริษัทที่เปิดรับกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว ในแพลตฟอร์มยังรวบรวม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และขั้นตอนการยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.แบบเข้าใจง่าย พร้อมกับรวบรวมบทความวิชาการและสื่อการศึกษาเกี่ยวกับความเท่าเทียมในรูปแบบที่เข้าใจง่าย  

เป้คาดหวังว่า สิ่งที่เขาพยายามรวบรวมจะเป็นประโยชน์เชิงประจักษ์ที่กลุ่มหลากหลายทางเพศรู้ได้ทันที และเลือกจะยื่นสมัครงานกับบริษัทที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ความหวังของเขาคือที่สุดแล้ว จำนวนบริษัทที่เป็นมิตรต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผลงานเหนือเพศ จะมีมากขึ้น ซึ่งตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้คือประชาธิปไตย เสรีภาพในการเคลื่อนไหวและความเคารพ ยอมรับตัวตน

ผู้เข้าประกวด Mr Gay World Thailand อีกคนหนึ่งที่คิดว่า “ควรมีพื้นที่เป็นมิตรสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น” คือ “ต่อ ณัฐพงษ์ บุญพ่วง” ซึ่งเขาเป็นศิลปินอิสระ ทำงานด้านนี้ทั้งการร้องเพลงและการวาดภาพ ถ่ายภาพ นักแสดงละครเวทีโรงเล็ก  ต่อว่า ศิลปะก็คือ soft power ที่สำคัญ “ผมทำแคมเปญชื่อ art your voice เปิดพื้นที่ให้ศิลปินที่เป็น LGBT+ หรือศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความเป็น LGBT+   ซึ่งศิลปะสำหรับผม เป็นเรื่องการถ่ายทอดความคิดอย่างไม่จำกัด แต่บางครั้งมันก็อ่อนไหวในบางเรื่อง เช่นที่เกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา ซึ่งผมว่า นอกจากมีพื้นที่ในการเผยแพร่มันก็ต้องมีพื้นที่ให้ศิลปินได้อธิบายงานของเขาด้วย ปัจจุบันมีความเปิดกว้างมากเรื่องพื้นที่มากขึ้น แต่ผมยังอยากให้มันเปิดกว้างกว่าเดิมเช่น การที่ศิลปิน LGBT+ ได้นำผลงานของตัวเองไปแสดงในแกลลอรี่ขนาดใหญ่อย่างหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (BACC) ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิดกว้าง แต่บางเนื้อหาก็ค่อนข้างละเอียดอ่อน  ศิลปินหลายๆ คนต้องไปแสดงงานในพื้นที่ที่ต้องใช้การลงทุนเช่าที่ราคาแพง หรือช่วยเหลือกันในกลุ่มศิลปินในการให้ยืมพื้นที่ ก็อาจต้องยอมขาดทุน

เราตั้งคำถามว่า บางครั้งการนำเสนอศิลปะอาจติดเรท ไม่เหมาะกับผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เช่น พวกศิลปะเกี่ยวกับเซกส์lol ต่อมองว่า “มันก็ควรอยู่ในพื้นที่เฉพาะที่จำกัดคนเข้าได้ครับ แต่จริงๆ คำว่า ศิลปะ ในมิติที่ช่วยเหลือสังคม บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในสังคม ที่มาจากศิลปิน LGBT+ ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากเพิ่มพื้นที่ อย่างกรณีงานของพี่สุรปุย (สุรชัย แสงสุวรรณ ซึ่งทำงานด้านศิลปะกับกลุ่มดาวน์ซินโดรม) ก็อยากให้มีพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เปิดโอกาสการเข้าถึง ศิลปะสื่อสารอะไรได้ตั้งหลายอย่าง การเมือง เพศสภาพ สังคม ซึ่งบางครั้งมันนำไปสู่การถกเถียง แสดงเหตุผลอย่างกว้างขวาง” ต่อย้ำว่า พื้นที่ปลอดภัยที่ว่า ไม่ใช่แค่การแสดงศิลปะ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถวิพากษ์ได้อย่างเสรีด้วย  เพราะการวิพากษ์ด้วยเหตุผลคือการพัฒนาวิธีคิด การใช้ตรรกะ และเรื่องเพศ ก็มีมิติลึกๆ ที่น่าจะถกเถียงอีกมาก อย่างเช่น ความหมายจริงๆ ของอัตลักษณ์ทางเพศแต่ละอย่าง หรือรสนิยมทางเพศแบบไหนที่ ‘เป็นที่ยอมรับได้’

ต่อมองว่า เสรีภาพทางศิลปะ คือตัวแปรสำคัญในการพัฒนา soft power “โครงการของผม หวังสร้างกลุ่มชุมชน (Community) และสร้างพื้นที่เพิ่มในการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับชาว LGBT+  ศิลปะที่แสดงออกมามันมีหลากหลาย  หรือบางครั้ง ในพื้นที่หนึ่ง ศิลปินหลายคนจะพูดประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่กำลังเป็นวาระทางสังคมพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารขับเคลื่อนประเด็น  ได้แสดงจุดยืนทางความคิดของศิลปิน  ผมอยากให้โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว  ถ้าพูดถึงงานด้านพาณิชย์ ผมอยากให้ภาครัฐมีส่วนร่วมด้วย ที่เราจะนำศิลปินกับภาคธุรกิจมาเจอกัน  เพื่อสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง และเพื่อผลักดันวงการงานศิลปะในประเทศให้ก้าวทันระดับโลก”

โดยตัววิธีทำนั้น ต่อรวบรวมความเห็นจากศิลปินสาขาต่างๆ เพื่อสรุปเป็นภาพการออกแบบพื้นที่ที่กล่าวมา ความท้าทายของมันคือต้องเป็นพื้นที่จริง (on ground) เพื่อเสพศิลปะได้โดยตรงไม่ผ่านช่องสาร ที่อาจมีการตีกรอบทางความคิดเกี่ยวกับชิ้นงานนั้นๆ ประกอบการนำเสนอ ต่อหวังว่า เขาจะได้เสนอโครงการนี้ต่อผู้มีอำนาจอนุมัติได้ในวันหนึ่ง 

เรื่องพื้นที่ ก็เป็นความสำคัญหนึ่งที่กลุ่มหลากหลายทางเพศรณรงค์ ทั้งพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่โชว์ศักยภาพ จุดเริ่มที่สำคัญคือ การรวมตัวเพื่อประเมิน แลกเปลี่ยนความคิดกัน เป้าหมายคือแคมเปญทำได้จริง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่