“ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอความยอดเยี่ยมของ ทีม YP Likey Pa โรงเรียนย่านตาขาวรัฐชนูปถัมภ์ จ.ตรัง ที่ได้จัดทำโครงการ “ก่อนสิ้นตำนาน เล่าขานลิเกป่า” เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้แขนงนี้ไว้ จนทำให้ได้รับรางวัล “เด็กไทยต้นแบบ” ระดับเพชร จากโครงการสร้างเด็กและเยาวชนต้นแบบ รู้ รัก สามัคคีและสำนึกความเป็นไทยหรือเด็กอวด (ทำ) ดี รุ่นที่ 2 จัดโดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม
สำหรับทีม YP Likey Pa มีสมาชิกประกอบด้วย “ธนพัฒน์ เทศนอก”, “ณัฐนนท์ บรรฐาน” และ “อมรรัตน์ ทองฤทธิ์” นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนย่านตาขาวรัฐชนูปถัมภ์ และมีนายกฤษณกันต์ เปาะทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดย “ธนพัฒน์” เป็นตัวแทนทีม เล่าว่า “ลิเกป่า” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงหนึ่งของภาคใต้ แต่ปัจจุบันคณะแสดงลิเกป่ามีจำนวนลดลงเพราะได้รับความนิยมน้อยลง อย่างจ.ตรัง ปัจจุบันเหลือเพียง 5 คณะ ซึ่งมี 1 คณะที่อยู่ใกล้โรงเรียนคือ คณะลิเกป่าบ้านคลองปะเหลียน ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ทำให้เกิดแนวคิดจัดทำโครงการ “ก่อนสิ้นตำนาน เล่าขานลิเกป่า” เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ให้ลิเกป่าอยู่คู่กับคนตรังตลอดไป โดยดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนม.ค.2566 – พ.ค.2567
“ธนพัฒน์” เล่าถึงโครงการ “ก่อนสิ้นตำนาน เล่าขานลิเกป่า” ว่า มีการดำเนินการ ได้แก่ 1.อนุรักษ์ โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ลิเกป่าขึ้นที่คณะลิเกป่าบ้านคลองปะเหลียน เพื่อให้คนในและนอกจ.ตรังเข้ามาเรียนรู้การแสดงลิเกป่าทั้งท่ารำ ดนตรี ชุดการแสดงที่คงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ไว้ 2.การสืบสาน ซึ่งโรงเรียนจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาในรายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน “ลิเกป่า” เพื่อให้นักเรียนชั้นม.2 ได้เรียนรู้ และจัดตั้งชุมนุมลิเกป่าที่มีสมาชิกเป็นนักเรียนชั้นม.1-6 ทั้งหมด 80 คน เรียนรู้การแสดงลิเกป่าจากภูมิปัญญาชาวบ้านของคณะลิเกป่าบ้านคลองปะเหลียน ซึ่งชุมนุมลิเกป่าออกแสดงงานต่างๆทั้งกิจกรรมโรงเรียน ชุมชนและจังหวัดตรัง 3.การสร้างสรรค์ เป็นการปรับปรุงการแสดงลิเกป่าให้สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย จากเดิมใช้เวลาแสดง 20 นาที ปรับเหลือ 8 นาที ผ่านการแสดง “ยินยลมนต์เสน่ห์ลิเกป่า”โดยใช้ดนตรี ท่ารำและเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของลิเกป่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ทำการแสดง “ระบำพรรณพฤกษา ศรีสง่าย่านตาขาว” ทั้งยังได้จัดทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับลิเกป่า ได้แก่ ถุงผ้า เสื้อยืด เข็มกลัด เพื่อจำหน่ายหารายได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำรายได้มอบให้แก่ภูมิปัญญาชาวบ้านของคณะลิเกป่าบ้านคลองปะเหลียน เพื่อไว้ใช้ซื้อเครื่องดนตรีและชุดแสดงลิเกป่าด้วย
“พวกผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ลิเกป่า เพราะเชื่อว่าการรักษาวัฒนธรรม คือ การรักษาชาติ คิดว่าวันนี้พวกผมทำได้สำเร็จแล้ว เพราะได้ส่งเสริมให้รุ่นน้องเรียนรู้และช่วยกันสืบทอดการแสดงลิเกป่าเพื่อให้คงอยู่ต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน” “ธนพัฒน์” บอกอย่างภูมิใจ
ชุมนุมลิเกป่า โรงเรียนย่านตาขาวรัฐชนูปถัมภ์ จ.ตรัง นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักและหวงแหนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง “ลิเกป่า” และพร้อมที่จะอนุรักษ์สืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป