ทั้งนี้ ปริมาณข้าวส่วนที่ขาดระหว่างปี 2565-2566 อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านตัน ตามการวิเคราะห์ของฟิตช์ โซลูชันส์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด นับตั้งแต่โลกเผชิญกับภาวะการขาดแคลนข้าว 18.6 ล้านตัน ระหว่างปี 2546-2547 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนข้าว ยังคงเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งปะทุเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งก่อตัวเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2566
อินเดีย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% หรือ 55.4 ล้านตัน เมื่อปีที่แล้ว ระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค. 2566 แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียประกาศระงับส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม การประกาศมาตรการครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นาน ต่อจากการระงับส่งออกข้าวนาน 3 เดือน ซึ่งบังคับใช้ระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. 2565
ด้านข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุรายได้ 2,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 76,300 บาท ) จากการส่งออกข้าว 3.23 ล้านตัน ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 36.5% และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของประเทศจะสูงถึง 43 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งสามารถรองรับการบริโภคภายในประเทศ และตอบสนองความต้องการในการส่งออกข้าว ได้มากกว่า 8 ล้านตัน
ปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย มีแผนยุทธศาสตร์การส่งออกข้าว ที่เป็นการกำหนดเป้าหมายลดการส่งออกข้าวเหลือปีละ 4 ล้านตัน ภายในปี 2573 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อรักษาอุปสงค์ของตลาดในประเทศ และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปรับตัวตามภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก”
นอกจากนั้น รายงานของกระทรวงเกษตรเวียดนามระบุด้วยว่า นับจากนี้จะเพิ่มการกระจายตลาด เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศเดียวให้เป็นผู้รับซื้อ อนึ่ง ฟิลิปปินส์เป็นผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมานานแล้ว โดยเวียดนามจะยังคงเน้นการขายข้าวในตลาดเอเชียเป็นหลัก ตามด้วยแอฟริกา ภูมิภาคอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่า ผลผลิตข้าวของโลกในปีนี้จะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ยังคงได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยคาดการณ์การส่งออกข้าวทั่วโลก ประจำฤดูกาล 2566/2567 จะเพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนหน้าประมาณ 583,000 ตัน หรือราว 0.1% เท่านั้น
สำหรับอินเดียซึ่งยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสถิติการส่งออกข้าวหักเพียง 28,500 ตัน ระหว่างเดือนส.ค.-พ.ย. 2566 ลดลง 95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกข้าวทุกประเภทรวมกันของอินเดียตลอดช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ที่ 3.7 ล้านตัน ลดลง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น หากวิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียด พบว่าการส่งออกข้าวของอินเดียเมื่อช่วงเวลานั้น ลดลงในตลาดทุกภูมิภาค ยกเว้นเพียงอเมริกาเหนือ ยุโรปเหนือ และภูมิภาคตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการบริโภคข้าวบาสมาติในระดับสูง เนื่องจากอินเดียยังคงส่งออกข้าวประเภทนี้อยู่
ปัจจุบัน 90% ของผลผลิตข้าวบนโลก มาจากทวีปเอเชีย การที่ภูมิภาคแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ไม่เพียงแต่มีผลต่อการส่งออก แต่บรรดาประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ได้รับแรงเสียดทานเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งล้วนพยายามค้นหาผู้จำหน่ายที่จะเป็นทางเลือก ท่ามกลางภาวะราคาข้าวในโลกที่พุ่งสูงมากกว่า 20% นับตั้งแต่อินเดียใช้มาตรการระงับการส่งออกครั้งล่าสุด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า อุปทานตลาดข้าวโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปนับจากนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของอินเดียเป็นสำคัญ ว่าจะกลับมาส่งข้าวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งเมื่อใด และการช่วงชิงโอกาสของประเทศผู้ส่งออกระดับรองลงมาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่ายังไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น จนกว่าอินเดียจะผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีการนับคะแนนในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ และการจัดตั้งรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ แม้เป็นไปได้สูงมากว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำได้เป็นสมัยที่สามติดต่อกันก็ตาม
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากอินเดียยังคงส่งออกข้าวในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไป กล่าวคือ น้อยกว่าสัดส่วนปกติราว 50% ตลาดข้าวโลกจะยังคงเผชิญกับสถานการณ์ขาลงเช่นนี้ต่อไป ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกยังคงสูง และบรรยากาศของความไม่มั่นคงทางอาหารจะยังคงอยู่ เนื่องจากประเทศที่นำเข้าข้าวเป็นหลักต้องเดินหน้าแสวงหา “แหล่งผลิตที่ดี มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือได้มากที่สุด” ต่อไป.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES