ปัจจุบันการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด มีการตรวจได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
Fasting capillary blood glucose (FCBG) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยวิธีเจาะจากปลายนิ้วและวัดน้ำตาลจากเครื่องวัดระดับน้ำตาล (glucometer) ภายหลังการงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง ยังไม่แนะนำให้ใช้ระดับน้ำตาลจากปลายนิ้วในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน
Fasting plasma glucose (FPG) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากหลอดเลือดดำภายหลังการงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลในเลือดที่มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก/ดล) ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
Random plasma glucose หรือ random capillary blood glucose เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากหลอดเลือดดำหรือจากปลายนิ้ว โดยไม่ระบุเวลาในการเจาะ สามารถเจาะในช่วงเวลาใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรือไม่ต้องงดอาหาร ผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือมีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ รับประทานอาหารมากขึ้น หิวบ่อย กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น ร่วมกับมีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า หรือเท่ากับ 200 มก/ดล สามารถให้การวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน
HbA1C หรือ A1C หรือ ค่าน้ำตาลเฉลี่ย หรือ ค่าน้ำตาลสะสม เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยการวัดปริมาณน้ำตาลที่จับอยู่กับเม็ดเลือดแดง ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 8-12 สัปดาห์ตามอายุของเม็ดเลือดแดง จัดเป็นการตรวจมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน แต่ต้องเป็นการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรองรับจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสถาบันที่ให้การรับรอง และมีการเทียบค่ากับ National Glycohemoglobin Standardization Program (NGSP) ค่า A1c ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 % สามารถให้การวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน
Oral glucose tolerance test (OGTT) หรือ การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส เป็นการทดสอบการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาลกลูโคสขนาด 75 กรัม ละลายในน้ำ 250-300 มิลลิลิตร (75 gm OGTT) เป็นการทดสอบการตอบสนองของร่างกาย หรือดูการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับน้ำตาลในปริมาณที่กำหนด ระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม ที่มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล สามารถให้การวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยโรคเบาหวานในกรณีที่ไม่มีอาการและอาการแสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือยังไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน จำเป็นต้องตรวจยืนยันอีกครั้ง โดยจะใช้การตรวจในวันเดียวกัน หรือต่างวันกัน ด้วยวิธีการตรวจเดิม หรือการตรวจต่างวิธีก็ได้
วิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ข้อดี ข้อจำกัด รวมถึงการแปลผล และคำแนะนำต่างๆ ดังแสดงในตาราง
ตารางแสดงวิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ข้อดี ข้อจำกัด การแปลผลและวิธีการปฏิบัติ
วิธีการตรวจ | ข้อดี | ข้อจำกัด | การแปลผลและวิธีการปฏิบัติ |
Fasting Capillary blood glucose (FCBG) | -ตรวจได้ง่าย สามารถทำได้ในสถานพยาบาลทุกระดับ รวมถึงสถานีอนามัย หรือคลินิกรักษาสุขภาพทั่วไป และยังสามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง -สะดวกและรวดเร็ว ทราบผลใน 5 วินาที -ค่าใช้จ่ายถูกมาก | -ความจำเพาะปานกลาง ค่าที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนขึ้นกับเครื่องที่ใช้ในการตรวจ -กรณีระดับน้ำตาลเข้าได้กับเกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน ควรตรวจยืนยันด้วยการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานก่อนให้การวินิจฉัย -จำเป็นต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง -ระดับน้ำตาลที่วัดได้สัมพันธ์กับชนิดและปริมาณอาหารที่ได้รับภายในช่วงระยะเวลา 1-3 วันก่อนการเจาะเลือด | -FCBG ≥ 126 มก./ดล. มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคเบาหวาน ต้องตรวจยืนยันด้วย FPG -FCBG 100-125 มก./ดล. มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน* พิจารณาตรวจ HbA1C หรือ 75 gm OGTT เพิ่มเติม**,# – FCBG < 100 มก./ดล. ถือว่า ปกติ ให้ติดตาม FCBG ทุก 3 ปี หรืออาจตรวจติดตามถี่ขึ้นทุก 1-3 ปี ในกลุ่มเสี่ยง* |
Fasting plasma glucose (FPG) | -แม่นยำ ความคลาดเคลื่อนน้อย -ตรวจได้ในห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ทั้งในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ -ระยะเวลารอผลไม่นาน -ค่าใช้จ่ายถูก | -จำเป็นต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง -ระดับน้ำตาลที่วัดได้สัมพันธ์กับชนิดและปริมาณอาหารที่ได้รับภายในช่วงระยะเวลา 1-3 วันก่อนการเจาะเลือด | -FBG ≥ 126 มก./ดล. มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคเบาหวาน กรณีไม่มีอาการและอาการแสดงของระดับน้ำตาลในเลือดสูง ต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีการอื่น อีก 1 ครั้งเพื่อยืนยันก่อนให้การรักษา -FBG 100-125 มก./ดล. มีภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) ชนิด impaired fasting glucose (IFG) และถ้า FBG 110-125 มก./ดล. ให้ทำการตรวจ HbA1C หรือ 75 gm OGTT# – FBG < 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้ติดตาม FCBG หรือ FBG ทุก 3 ปี หรืออาจตรวจติดตามถี่ขึ้นทุก 1-3 ปี ในกลุ่มเสี่ยง*,** |
HbA1C หรือ A1C | -สะดวก ตรวจวัดได้โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหาร -ตรวจได้ในห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ทั้งในโรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดใหญ่ -ความแตกต่างระหว่างบุคคลต่ำ -ระยะเวลาในการรอผลไม่นาน -ค่าใช้จ่ายปานกลาง | -วิธีการตรวจต้องได้มาตรฐาน(standardization) ตาม NGSP -ค่าที่ได้อาจสูงหรือต่ำกว่าความจริง ในกรณีที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น ภาวะซีด ภาวะขาดธาตุเหล็ก โรคเลือดจางกรรมพันธุ์บางชนิด ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับ erythropoietin ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือด หรือในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น | -A1C ≤ 5.6 % จัดเป็นคนปกติ -A1C 5.7 -6.4 % จัดเป็นภาวะก่อนเบาหวาน -A1C ≥ 6.5% โอกาสเป็นเบาหวานสูง จำเป็นต้องมีผลการตรวจระดับน้ำตาลอื่นๆ ผิดปกติอีกครั้ง เพื่อยืนยันในกลุ่มที่ไม่มีอาการ |
75 gm OGTT | -สามารถคัดกรองภาวะก่อนเบาหวานชนิดต่างๆ เช่น impaired fasting glucose (IFG) หรือ impaired glucose tolerance (IGT) ได้ -ความไวหรือความจำเพาะสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ | -ไม่สะดวกในเวชปฏิบัติ -เพื่อหลีกเลี่ยงผลบวกลวง ควรรับประทานอาหารข้าว/แป้งอย่างน้อย 150 กรัมต่อวัน อย่างน้อย 3 วันก่อนการทดสอบ -ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง -อาจมีความแตกต่างของผลการตรวจในแต่ละวัน -ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจวิธีอื่นๆ | -ผลตรวจน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมง (2-hr plasma glucose; 2-hr PG) ≥ 200 มก./ดล. ถือว่าอาจเป็นเบาหวาน แนะนำให้ตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ถัดไป หรือให้ปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีการตรวจยืนยันโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม -2-hr PG 140-199 มก./ดล. เป็นภาวะก่อนเบาหวานชนิด impaired glucose tolerance (IGT) แนะนำให้ปรับพฤติกรรมอย่างเข้มงวด -2-hr PG < 140 มก./ดล. ถือว่า ปกติ กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง* ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเข้มงวดและตรวจติดตาม FCPG หรือ FPG ทุก 1 ปี |
NGSP; National Glycohemoglobin Standardization Program
*กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ รูปร่างอ้วน (ดัชนีมวลกาย ≥ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ เส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซ็นติเมตรในเพศชาย หรือ มากกว่า 80 เซ็นติเมตรในเพศหญิง หรือ เส้นรอบเอวมากมากส่วนสูงหารด้วย 2) และมีประวัติครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
** แนะนำตรวจเพิ่มเติมในกลุ่มที่มีโอกาสเกิดโรคเบาหวาน เช่น ในผู้ที่มี FCBG หรือ FPG 110-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
# แนวทางในเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. 2566 แนะนำให้ตรวจ 75 gm OGTT
ข้อมูลจาก รศ.พญ.ระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์