“ฐานฟิล์มทำมาจากเยื่อไม้ และกรดอะซิติก ในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป กรดอะซิติกจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘โรคกรดน้ำส้ม’ ส่งผลให้ฟิล์มเสื่อมสภาพ และไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป” นายทิม แนปป์ จากบริษัท โพร-เทค วอลท์ส ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ฟิล์ม ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าว

เมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ถือกำเนิดเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงรุ่นบุกเบิกอย่าง บัสเตอร์ คีตัน และชาร์ลี แชปลิน ต่างถูกบันทึกลงในฟิล์มไนเตรต ซึ่งเป็นสื่อกลางที่สามารถแสดงสีดำเข้ม, เฉดสีต่าง ๆ และเส้นที่คมชัด ทว่าสตูดิโอหลายแห่ง สังเกตเห็นข้อเสียสำคัญประการหนึ่งอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ไนเตรตเป็นสารไวไฟสูง

แม้การทำให้ห้องฉายภาพยนตร์ทนไฟ สามารถหลีกเลี่ยงเหตุเพลิงไหม้ได้ แต่ต่อให้ฟิล์มไนเตรตไม่ได้ถูกนำมาใช้ มันก็เป็นสิ่งของที่ไม่ปลอดภัยอยู่ดี เนื่องจากฟิล์มไนเตรตมีจุดวาบไฟค่อนข้างต่ำ ทำให้มันสามารถติดไฟได้ง่ายมาก หากห้องเก็บฟิล์มร้อนเกินไป

ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 วงการภาพยนตร์ได้เปิดตัว “ฟิล์มอะซิเตท” ซึ่งสร้างความสุขและความยินดีให้กับบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้บริหารโรงภาพยนตร์ เพราะมันสามารถบันทึกภาพที่มีความละเอียดเหมือนในชีวิตจริง และไม่มีอันตรายจากการติดไฟเหมือนกับฟิล์มไนเตรต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของฟิล์มอะซิเตท คือ มันไม่มีอายุยืนยาว และถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มันสามารถกลายเป็นม้วนพลาสติกที่มีกลิ่นน้ำส้มสายชู และไม่สามารถใช้งานได้ ภายในเวลาเพียง 15 ปี ซึ่งสำหรับบริษัทภาพยนตร์ที่ทุ่มเงินหลายสิบล้าน หรือหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับฟิล์ม สิ่งนี้ถือเป็นข่าวร้าย

“การรักษาฟิล์มในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ช่วยรับประกันอายุการใช้งานที่ยาวนานได้” นายดั๊ก ซิลเวสเตอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโพร-เทค วอลท์ส กล่าว

แม้ในปัจจุบัน รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายเรื่อง ได้รับการบันทึกในรูปแบบดิจิทัล แต่ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำหลายคน เช่น คริสโตเฟอร์ โนแลน และเควนติน แทแรนติโน ยังคงยึดมั่นที่จะใช้ฟิล์มต่อไป

ทั้งนี้ ฟิล์มเก่าและฟิล์มใหม่ทั้งหมดของฮอลลีวูด ถูกจัดเก็บด้วยความระมัดระวังสูงสุด และอยู่ภายใต้ความปลอดภัยที่แน่นหนา ซึ่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ประมาณ 1 ล้านม้วน อยู่ในกระป๋องโลหะ ในสถานที่ลับสุดยอดที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ในเมืองเบอร์แบงก์ และเมืองเทาซันด์โอกส์ นอกนครลอสแอนเจลิส

นอกจากการรักษาม้วนฟิล์ม บริษัท โพร-เทค วอลท์ส ยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแคตตาล็อก และการแปลงสื่อที่ผู้ผลิตหลายรายไม่รู้ว่ามีอยู่ในหน่วยเก็บข้อมูลของตนเอง ให้เป็นดิจิทัลด้วย

“การเปิดเผยอัญมณีที่ซ่อนอยู่เช่นนี้ และการทำให้มันปลอดภัย ถือเป็นงานที่คุ้มค่า เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของพวกเรา และเราชอบที่จะมีส่วนร่วมในการรักษามันไว้เพื่ออนาคต” ซิลเวสเตอร์ กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP