สัปดาห์ที่แล้วครบรอบ 10 ปี การทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 57 ฉุดประเทศถอยหลังเข้าคลอง มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะให้ทำประชามติ แต่เป็นการทำประชามติในภาวะแวดล้อมที่ทหารครองเมือง และแต่งตั้ง สว.ไว้เป็นฐานสืบทอดอำนาจคนทำรัฐประหาร เพราะ สว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช.

วันนี้มรดกการรัฐประหารยังเหลืออยู่ คือ สว.รักษาการ ไปยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับกติกาการเลือกสว.แบบพิสดาร! ให้ผู้สมัครเลือกกันเองเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพ ปรากฏว่ามี 7 อำเภอ (5 จังหวัด) มีผู้สมัครแค่กลุ่มอาชีพเดียว ไม่สามารถเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มได้ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถไปต่อในการเลือกระดับจังหวัด ดังนั้นผู้สมัคร สว. 7 อำเภอ จึงแพ้ฟาวล์ทันที! และมี 1 เขตในกทม. “ทุนพลังงาน” ส่งคนลงสมัครถึง 9 คน

หลังการรัฐประหารปี 57 ทำให้ไทยมีทั้งรัฐบาลทหาร-รัฐราชการ แต่ผลของการจัดอันดับดัชนีคอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับให้รัฐบาลทหาร-รัฐราชการ มีคอร์รัปชันหนักกว่ารัฐบาลพลเรือนเสียอีก!

ไม่ต้องพูดถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม มีการจับกุม คุมขังคนเห็นต่าง และคนเคลื่อนไหวทางการเมือง คดีการสลายม็อบตาย 99 ศพ ไม่ไปถึงศาล มีการใช้ ม.44 เร่งรัดระบายข้าวอาหารสัตว์ถึง 12 ล้านตัน ใช้ม.44 สั่งปิดเหมืองทองคำไป 5 ปี แล้วก็ให้เขากลับมาเปิดต่อ เพราะคงรู้ว่าน่าจะแพ้คดี!

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนหนักไปตาม ๆ กัน เนื่องจากเจอกฎระเบียบ IUU ที่สหภาพยุโปใช้บีบรัฐบาล คสช. รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย เติบโตรั้งท้ายของอาเซียนตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา

หนักไปกว่านั้นคือการสร้างหนี้สาธารณะไว้เกือบ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนอีก 16.2 ล้านล้านบาท (ไตรมาส 3/66) คนไทยส่วนใหญ่จึงติดกับดักรายได้โตไม่ทันกับรายจ่าย-ภาระหนี้สิน ต้องหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ย ที่มีช่องห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก กับดอกเบี้ยเงินกู้มากมาย 5-6% ขณะที่ประเทศคู่แข่งขันแค่ 2-3% เท่านั้น

ข้อมูลของ “สภาพัฒน์” แจ้งว่าไตรมาส 4/66 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% ชะลอลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.3%

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นผลมาจากการรัฐประหารปี 57 สั่งสมไว้ให้! จนกระทั่งนายเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.66 และนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 66-25 เม.ย. 67 เป็นเวลาเกือบ 7 เดือน ที่รัฐบาลไม่มีงบปี 67 มาจับจ่ายใช้สอย-ลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ มีแต่เงินที่กันไว้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ-บำนาญ-ค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อยๆของส่วนราชการ เนื่องจากงบปี 67 ล่าช้ามาก! เพิ่งใช้ได้ตามกฎหมายเมื่อ 26 เม.ย. 67

3 เดือนแรกของรัฐบาลนายเศรษฐาทำ “จีดีพี”ในไตรมาส 4/66 ได้ที่ 1.7% ล่าสุดไตรมาส 1/67 จีดีพี 1.5% ซึ่งดีกว่าที่หลายคนคาดการณ์กันว่าจะขยายไม่ถึง 1% แต่ก็เป็น 1.5% ที่รั้งท้ายในอาเซียน เพราะปัญหาใหญ่คือหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยสูง จึงฉุดกำลังซื้อในประเทศ และงบปี 67 ยังใช้ไม่ได้

จีดีพี 1.5% ไตรมาส 1/67 มาจากราคาพืชผลการเกษตรหลายตัวมีราคาดี ทำให้เกษตรกรพอมีกำลังซื้อขึ้นมาบ้าง และภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นมาก จากการบริหารจัดการของรัฐบาลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง “วีซ่าฟรี” ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 67 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้าไทยถึง 12 ล้านคน มีเม็ดเงินสะพัดราว ๆ 6 แสนล้านบาท

ประเทศเสียหายจากรัฐประหารมา 10 ปี ปัจจุบันมีรัฐบาลใหม่ได้แค่ 8 เดือนครึ่ง! เพิ่งใช้งบปี 67 ได้เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมานี่เอง! แต่ถูกกลุ่มคนยื่นเรื่องสอยนายกฯเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เพื่อหวังผลฉุดรั้งประเทศให้อยู่กับทหารแก่ ๆ ต่อไปหรือเปล่าไม่รู้!!.

…………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…