แต่ในโลกเสรีนิยมนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในประเทศไทย ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข โดยที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเองและกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ( LGBT+ Allies ) ได้ช่วยกันผลักดัน ..ความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนทางเพศ การเคารพตัวตน ทำให้บุคคล หรือองค์กรภาครัฐและเอกชน ค่อย ๆ ปรับตัวเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่เป็น การ Rainbow washing หรือการเอา“ธงรุ้ง”สัญลักษณ์กลุ่มหลากหลายทางเพศมาใช้เพื่อขายสินค้าและบริการในเดือน มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม ความเป็น LGBT+ ไม่ใช่หมายถึงคนที่แปลกแยกออกจากสังคม หรือชายขอบ หรือกลุ่มที่มีปัญหา เขาต่างก็คือคนๆ หนึ่งที่ต้องการใช้ชีวิตที่ดี และมีส่วนในการช่วยสร้างชีวิตที่ดีให้ผู้อื่น ผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือสังคม ..นั่นคือในความเป็นมนุษย์  ไม่ต้องมีการแบ่งแยก“สิ่งที่เราจะทำเพื่อสังคม”ด้วยมิติแห่งเพศ แต่ใครถนัดด้านไหนก็รณรงค์ด้านนั้นไป เช่น สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สายคุ้มครองผู้บริโภค สายการสื่อสารและศิลปะ กระทั่งในสายงานภาคธุรกิจก็มีการสร้างแคมเปญ Pride at work ออกมาเพื่อเป็นส่วนเสริมให้ที่ทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยของ LGBT+ เช่น หากถูกปฏิบัติในลักษณะเลือกปฏิบัติหรือความเกลียดชังทางเพศก็มีพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถร้องเรียนได้

ในความเป็นสมาชิกของสังคม แนวคิดสมัยใหม่คือ “การที่ทุกคนเดินก้าวหน้าไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในความถนัดของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ก็ใช้ทักษะของตัวเองในการช่วยเหลือผู้อื่น สำหรับ LGBT+ เอง ในฐานะสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคม ก็คิดถึงการ“ทำเพื่อสังคมภาพรวม” ที่ไม่เฉพาะการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งตัวอย่างที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นกลุ่มสายศิลปะ อาชีพ ที่มีความสนใจเข้าร่วมประกวดเวที Mr Gay World Thailand 2024 ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อให้เสียงของเขาดังขึ้นว่า เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง” ตามโจทย์ของเวทีที่ต้องเสนอแคมเปญเพื่อการรณรงค์สร้างสรรค์สังคมในด้านต่างๆ ทั้งแคมเปญเพื่อแก้ปัญหา และแคมเปญเพื่อแสดงศักยภาพ

“สุรปุย”หรือสุรชัย แสงสุวรรณ ช่างภาพมืออาชีพ หนึ่งในผู้เข้าประกวด Mr Gay World 2024  เป็นคนแรกที่อยากแนะนำให้รู้จัก เมื่อพบกันครั้งแรก ใบหน้าของเขาดูใจดี ทำให้เมื่อแรกเห็นเราประเมินเขาตั้งแต่แรกว่า “เขาต้องทำงานเกี่ยวกับเด็กแน่ๆ”  เสียงของเขาทุ้มนุ่มเมื่อเล่าเรื่องโครงการที่ได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว และกำลังจะขยายให้ใหญ่ขึ้นไปอีก  “ผมทำแคมเปญชื่อ Art Drive DIVERSE” สุรปุยว่า “จริงๆ ก็ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศิลปินที่ทั้งผม และศิลปินคนอื่น ได้เข้ามาทำงานเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษ คือกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม แรงบันดาลใจมันมาจากการที่เราเคยเอาเขามาถ่ายแฟชั่น ได้เห็นเขาชอบ เขามีความสุข ก็คิดว่า เด็กกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพนะ ถ้าเราส่งเสริมเขาได้ถูกทาง ก็เลยเริ่มจากการเปิดเพจ Down Syndrome Hero ค่อยๆ ขยายเครือข่ายเด็กกับผู้ปกครองเข้ามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มใน platform ต่างๆ ราว 15,000 คน จากการได้คลุกคลีกับเด็กกลุ่มนี้มาสักระยะ เขาชอบงานศิลปะนะ ยิ่งแบบพวกสีสันเยอะๆ ”

สุรปุยเล่า แล้วยังโชว์กระเป๋าผ้าที่เป็นฝีมือการเพนท์ของกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม “ในคลาสมีการเวิร์คชอปทั้งหมด 6 เรื่อง อย่างปีนี้ มีการสอนทำอาหาร , สอนวาดรูปออกแบบลายผ้า ออกแบบแฟชั่น , ออกกำลังกายแบบกายกรรม , แต่งหน้า ,การแสดง , ดนตรี  และมีการนำผลการเวิร์คชอปไปทำนิทรรศการ ซึ่งจากการเวิร์คชอป เราพบว่า เด็กหลายคนเก่งมาก บางคนก็สามารถทำช่อง Tiktok ให้มีคนติดตามได้ บางคนก็ชอบการแต่งหน้า การแต่งตัว การออกแบบเสื้อผ้า สิ่งเหล่านี้ฝึกสมาธิของเขาได้มาก และในเรื่องของศิลปะนี่ ก็ทำให้เรื่องเพศวิถีของเด็กเหล่านี้ไม่ถูกลืมหรือทำให้พร่าเลือน เราสังเกตดูจากกิจกรรม สมมุติว่า มีการให้ออกแบบเสื้อผ้าที่อยากใส่ บางคนก็แสดงเพศวิถีผ่านรูปแบบเสื้อผ้าที่เขาอยากใส่นั่นแหละ คือการปฏิบัติต่อเด็กพิเศษในลักษณะการเคารพเพศเขาก็เป็นเรื่องดี อย่างน้อยคือ เขาได้เป็นตัวตนที่เขาอยากเป็น”

“สิ่งที่เราต่อยอดงานของเด็กกลุ่มนี้ คือ เอางานของเขาไปจัดนิทรรศการ เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ หรือไม่ก็นำไปพัฒนาต่อยอดอาชีพ เช่น การฝึกสอนการตัดเย็บ การวาดภาพ ผมว่า ที่สำคัญคือการสร้างให้เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สังคมไม่ต้องสงสาร หรือต้องให้ความช่วยเหลือตลอด  เขาก็คือคนปกติที่อาจมีพัฒนาการช้า แต่ถ้าได้ส่งเสริมให้เขาภูมิใจ เช่น ให้เขาได้ถ่ายภาพแฟชั่น หรือฝึกอาชีพ เขาก็มีความสุข” สิ่งที่สุรปุยเล่า ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง the other sister หนังเมื่อราว 20 ปีก่อนที่เล่าถึงเรื่องของนางเอก พระเอกที่เป็นเด็กพิเศษ และขอแยกตัวออกจากบ้านไปใช้ชีวิตร่วมกัน ..แม้มันอาจเป็นตัวอย่างจากภาพยนตร์ก็ตาม แต่นั่นก็คือการสื่อว่า เด็กพิเศษที่สุดแล้ว เขาก็มีศักยภาพ ไปจนถึงสามารถมีชีวิตด้วยตัวเองได้

ซึ่งเมื่อพูดถึงการส่งเสริมงานให้เด็กพิเศษ ไปจนถึงเด็กขาดโอกาส คนที่พร้อมจะเป็น“ผู้ช่วย”รับช่วงต่อจากสุรปุย คือ “เอก ภูปกาณฑ์ ประดุจชน” ผู้เสนอโครงการ “how to make cosplay” เอกเป็นหัวหน้าดีไซเนอร์และเอ็นเตอร์เทน สวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส เขามีความสามารถเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น ชุดมาสคอตตัวละครที่ใช้ในสวนน้ำ เขาก็ตัดเย็บเอง และอีกสิ่งหนึ่ง ความที่เอกเป็นคนชอบมังงะ ( การ์ตูนญี่ปุ่น ) มาก เอกก็ไปรวมตัวในกลุ่มคนชอบมังงะ และแต่งตัว“คอสเพลย์”ในการประกวดตามเวทีต่างๆ หรือเวลามีอนิเมะ ( animation ภาพยนตร์การ์ตูน ) ชื่อดังเข้าในไทย เช่น “ดาบพิฆาตอสูร ( Demon Slayer )”, “วันพีซ”  ก็จะมีกลุ่มผู้ชื่นชอบคอสเพลย์แต่งตัวตามคาแรคเตอร์ตัวละคร

“ คอสเพลย์ (Cosplay )คือการแต่งกายตามคาแรคเตอร์ตัวละครครับ” เอกเล่า “ซึ่งมันก็เป็นที่นิยมตั้งแต่เด็กวัยรุ่นถึงวัยทำงาน กลุ่มคอสเพลย์นี่จะจัดงานทั่วประเทศทุกๆ เดือน โดยติดตามงานได้ทางเวบไซด์  https://propsops.com/event/ นอกจากแต่งมาโชว์แล้วก็ยังมีโชว์ความสามารถ ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นคอสเพลย์มีความแพร่หลายในกลุ่มเป้าหมาย และมีองค์ประกอบอื่นนอกจากตัวเสื้อผ้า เช่น การแต่งหน้า การทำพร็อพเรื่องประดับ อย่างสมมุติตัวละครเอกในดาบพิฆาตอสูร ก็อาจมีพร็อพเป็นดาบเทียม ซึ่งคอสเพลย์ไทยนี่ สร้างชื่อเสียงนะครับ มีตัวแทนไทยไปแข่งคอสเพลย์ต่างประเทศ แถมความนิยมนี่ก็ไม่ใช่แค่ว่าตัดเสื้อผ้าให้คนสวมนะ สัตว์เลี้ยงก็ได้”

เอกเล่าแล้ว เราก็ชักจะสนใจเรื่องของการแต่งแดรก ( Drag ) หรือการที่กะเทยแต่งหญิงเป็นนางโชว์ต่างๆ เอกบอกว่า แดรกนั้นไม่ได้มีแบบแผนตายตัวว่าจะต้องแต่งตามตัวละครไหนในการ์ตูน แต่ออกแบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด มักจะใช้ในพื้นที่ของเวทีนางโชว์ เช่น ทิฟฟานี่ อัลคาซ่า ต่างกับคอสเพลย์ที่แต่งเป็นงานอดิเรกหรือแต่งเพราะความชื่นชอบมังงะ อนิเมะ ..เอกยืนยันว่า เขาสามารถตัดเสื้อผ้าได้ทั้งสองแบบ

เมื่อได้มีการปฏิสังสรรค์กับสุรปุยในช่วงเกบตัวเวทีประกวด Mr Gay World Thailand 2024 แล้ว เอกเสนอตัวทันทีว่า โครงการของเขาก็สามารถช่วยต่อยอดโครงการของสุรปุยได้อีกทาง “เอกเองก็มีสถานที่ มีเครื่องมือคือจักร และตัวเอกเองก็เปิดกลุ่ม Tiktok ในเรื่องการสอนการตัดเย็บชุดคอสเพลย์อยู่แล้ว ผลงานก็ใส่เองเวลาทำงานที่สวนน้ำบ้าง หรือขายบ้าง ก็นำมาซื้อผ้าต่อ บางทีก็ได้ฝึกน้องๆที่เขาด้อยโอกาสในเรื่องอาชีพโดยใช้ผ้าที่เราซื้อนั่นแหละ  ได้เพิ่มทักษะตรงนี้ให้เขา ทั้งการออกแบบ การตัดเย็บ ไปจนเขาหารายได้จากตรงนี้ได้  และให้เยาวชนได้ทำชุดคอสเพลย์เองแบบไม่แพง บางชุดต้นทุนการเช่าสูงกว่าค่าตัดอีกครับ พอฟังโครงการพี่สุรปุย เอกก็คิดว่า นอกจากเยาวชนที่ด้อยโอกาสเรื่องอาชีพ ไม่มีทุนทรัพย์ เราสามารถช่วยเด็กพิเศษได้นะ โดยการที่อาจไปร่วมเวิร์คชอปกับพี่สุรปุยสักระยะหนึ่ง แล้วสอนเด็กเรื่องการออกแบบเสื้อผ้า หรือสอนให้เขาหัดตัดเย็บเสื้อผ้าได้ ก็ทำให้เด็กพิเศษมีความภูมิใจที่ได้ออกแบบเสื้อผ้าที่ตัวเองตัด หรือได้ออกแบบลายเอง”

นอกจากตัวอย่างโครงการเพื่อพาคนในสังคมก้าวไปพร้อมกันอย่างที่กล่าวมา ก็มีโครงการส่งเสริมศักยภาพที่น่าสนใจมาก ออกแบบโดย LGBT+ จาก “จีโน่ จิตศักดิ์ หลิมภากรกุล” ซึ่งเป็นที่รู้จักมาจากการร่วมแข่งขันรายการ Master Chef Thailand ปี 3 ที่จะทำแคมเปญ “Happy Heels – Heels Kitchen” สำหรับจีโน่เองเรื่องนี้ถือเป็นความใฝ่ฝันที่อยากทำอะไรเพื่อสังคม และสามารถประกาศศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันได้ของ “ทุกคน” ในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างเป็นสุข มีสันติภาพและเสมอภาพ

“สิ่งที่จีโน่อยากทำ ก็มาจากความชอบทำอาหารของเรา ที่ใช้ชื่อ Happy Heels คำว่า Heels มันคือก้าวท้าวทุกก้าวของทุกคนในสังคมที่ยืนหยัดบนส้นเท้าของตน ภูมิใจในอัตลักษณ์และจุดยืนของตน แต่ก็พร้อมที่จะก้าวเดินไปกับคนอื่นๆ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งความสุข  จีโน่เลือกใช้ “รองเท้าส้นสูงสีรุ้ง” มาเป็นโลโก้ ของโครงการ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เป็นสีสันและเป็นพลังในการผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการยอมรับและเคารพในความหลากหลาย เรา0tเปิดตัวโครงการด้วย “Heels Kitchen” รถขายอาหารเคลื่อนที่แบบ Pop Up หรือแบบ Food Delivery ที่จะเปิดตัวในช่วงปลายเดือนไพรด์ มิ.ย.นี้  จีโน่ก็ได้คุยๆ กันกับเพื่อนๆ ในกลุ่มผู้เข้าประกวด Mr Gay World Thailand 2024 ด้วยกันว่า เอ๊ะ เราจะเอาอาหารอะไรที่เปิดตัวแล้วปังๆ ดี ก็มีพี่ๆ น้องๆ เสนอโน่นนี่กัน ว่า เออ ต้องเลือกนะว่า อาหารสื่อความเป็น LGBT+ ไทยหรือเปล่า หรือเราใช้เป็นแพคเกจที่มีสีสันบรรจุอาหารทานเล่นสนุกๆในธีมพหุโภชนา แต่เห็นตรงกันว่า อาหารเปิดตัว “Heels Kitchen” น่าจะขายเป็น Pop Up Store ในวันที่มีงานเดินไพรด์ หรือสถานที่จัดกิจกรรมไพรด์ เขาก็เสนอกันว่า เอาเป็นอะไรที่ยืนกินได้นะ ถือไปกินไปได้ น้ำจิ้มไม่เลอะชุด ( หัวเราะ ) อะไรอย่างนี้ ก็ช่วยกันคิดสนุกดี”

“ทีนี้ เมื่อเราทำร้านอาหาร “Heels Kitchen” แบบ Pop Up หรือแบบ Food Delivery ได้ค่อนข้างติดตลาด จีโน่ก็อยากจะเปิดคอร์สในการฝึกอาชีพเชฟ จะเป็นอาหารแบบ full course ( อาหารที่เสิร์ฟแบบมีลำดับ ) อาหารที่กินเป็นสำรับ หรืออาหารจานเดียวก็ได้ และก็อยากร่วมมือกับเพื่อนในการฝึกอาชีพในครัวรวมถึงการเป็นบริกร เพื่อว่า ต่อไปจาก pop up store เราสามารถทำเป็นร้านอาหารจริงๆ ได้ และคนที่ผ่านคอร์สของเรานี่สามารถประกอบอาชีพต่อได้  หรือเป็น chef partner ของเราได้ ..ด้วยความที่เรารักการทำอาหารจริงๆ นะ ก็อยากให้เรื่องการสร้างคนในการทำอาหารนี่มันเป็นจริงให้ได้ และมีลูกเล่นขยายอะไรให้น่าสนใจ เช่น การทำ online challenging แข่งประกวดทำอาหารความคิดสร้างสรรค์ตามโจทย์  หรือทำอาหารชนิดเดียวกันแต่วัดกันที่รสชาติ รวมถึงการทำตำราอาหารแบบพหุโภชนา Queer Food E-Cook Book ที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มหลากหลายทางเพศไทยผ่านสูตรอาหาร อาจต้องหา platform ในการเผยแพร่ จีโน่มองว่า ศิลปะเกี่ยวกับอาหาร นอกจากจะสร้างอาชีพได้แล้ว ยังเป็น soft power ที่ไทยเราชูมาขายเป็นจุดเด่นได้ อย่างจีโน่เคยตั้งคำถามในเฟซบุ๊กว่า อาหารอะไรสื่อความเป็น LGBT+ ที่สุด ก็ได้คำตอบหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เป็นอาหารหลายรสหรือมีความจัดจ้าน มันก็ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเนี่ยมอง LGBT+ เป็นกลุ่มที่มีสีสันโดดเด่นนะ ก็เป็นโจทย์ที่ยิ่งสนุกเลยว่า ถ้าเราจะออกแบบอาหารในงาน pride นี่จะทำอะไรดี พลิกแพลงอะไรได้แค่ไหน”

สิ่งที่ทั้ง 3 คนที่เราได้พูดคุยด้วยมีร่วมกัน คือ หวังว่าแคมเปญของเขา จะอยู่ในกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( SDGs ) ข้อใดข้อหนึ่ง เช่น การสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ( ข้อ 4 ) ลดความไม่เสมอภาค ( ข้อ 10 ) และยังต้องการจะบอกว่ากรอบเพศ หรือความเป็น LGBT+ ไม่ได้สำคัญไปกว่าการที่เรามีจิตอาสาเพื่อสร้างสังคม.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่