ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 และมาตรา 12 ของสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ได้จัดงานเสวนา เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ ร่วมกัน ภายใต้หัวข้อ “เสียงของเยาวชนโลก : ฟังเรื่องราวของพวกเรา” (Global Youth’s Voice: Hear Our Stories) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เปิดโอกาสให้เยาวชนจาก 6 ภูมิภาค ทั่วโลก ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะ แบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับการทำงานต่อต้านการสูบบุหรี่ ในหลายประเทศ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จากหลายองค์กร อาทิ องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ มาร่วมเสวนาด้วย

ดร.ทีบอร์ ซิเลกี หัวหน้าทีม รายงานและการจัดการความรู้ WHO FCTC เริ่มต้นด้วยการย้ำถึงความสำคัญและพลังของเยาวชน ในการต่อสู้กับอุตสาหกรรมบุหรี่ ด้วยเยาวชนไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้นำในอนาคต แต่เยาวชนยังเป็นส่วนสำคัญของปัจจุบัน การปฏิบัติและการเลือกของเยาวชน จึงเป็นสิ่งที่จะกำหนดโลกในขณะนี้

แม้เยาวชนจะต้องมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่เยาวชนก็ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของภัยร้ายจากบุหรี่ด้วย ข้อมูลจากยูนิเซฟ ระบุว่า “จากสถิติแล้ว 9 ใน 10 ของผู้สูบบุหรี่ เริ่มสูบตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นอีก”

เมื่อหันมาดูสถานการณ์ของปัญหาบุหรี่ในประเทศต่างๆ จากตัวแทนเยาวชนทั่วโลก ต้องบอกว่า แนวโน้มไม่สู้ดี ตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ เห็นตรงกันคือ ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศ เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตราย หรืออันตรายน้อย ด้วยแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนี้เอง ทำให้เด็กๆ ไม่กลัวที่จะเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า อันจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่อไป!!!

ดีมา อัลมาไอทาห์ นักศึกษาแพทย์ และผู้นำเยาวชน จากประเทศจอร์แดน บอกว่า ปัญหาที่เธอเห็น คือตอนนี้ คนรุ่นใหม่ไม่คิดว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องอันตราย หรือเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นเทรนด์ใหม่ไปแล้ว นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ผลิต จัดโปรโมชั่น ทำราคาให้ถูก และจำหน่ายรสชาติใหม่ๆ เพื่อล่อเยาวชนให้ติดกับ ซึ่งตนและกลุ่มเยาวชนได้พยายามสร้างความตระหนัก และการรับรู้ ให้กับเยาวชนในประเทศผ่านโครงการต่างๆ

สถานการณ์ในฟิลิปปินส์ ไม่ต่างกันนัก จูดี้ เดลอส เรเยส ผู้นำเยาวชน เล่าให้ฟังว่า เด็กๆ ในฟิลิปปินส์ คิดว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเท่ ยิ่งมีการโฆษณาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น ล่าสุด มีรายงานว่า เด็ก 9 ขวบ ก็เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว

โบเนด ทาโท เอ็มมาโก ตัวแทนเยาวชนจากแอฟริกาใต้ ชี้ถึงการรุกคืบของภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง หรืออินฟลูเอ็นเฟซอร์ มาโปรโมตบุหรี่ไฟฟ้า และในประเทศแอฟริกาใต้ กฎหมายที่ใช้ควบคุมยังไม่เพียงพอ ทำให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อ หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันเยอะขึ้นมาก ตนยังได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ให้ความสำคัญกับชีวิตประชาชนมาก่อนกำไร ถึงเวลาแล้วที่จะก้าวออกมา และให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยการออกกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อควบคุมการโฆษณาและการจำหน่ายบุหรี่ เพราะอนาคตของเด็ก เยาวชน และประชาชนของประเทศขึ้นอยู่กับสิ่งนี้

ในส่วนของประเทศไทย นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) เป็นตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าน่าเป็นห่วงมาก ยกสถิติในประเทศไทย ปี 2558 มีเยาวชนสูบบุหรี่ 3.3% แต่ผ่านไปเพียง 8 ปี คือในปี 2566 พบว่า เยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 25% ที่น่าตกใจคือ ขณะนี้สถิติพบเด็กหญิงก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบเท่าเด็กชายแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้เจอด้วยตนเอง พบผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำการตลาดอย่างหนัก เช่น การออกแบบเคสบุหรี่ไฟฟ้า เป็นรูปกล่องนม รูปขนม หรือทำเคสรูปการ์ตูน จนครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตามไม่ทัน ไม่รู้ว่าเด็กๆ ลูกๆ ของตัวเอง กำลังทำอะไร

ยท. ได้ดำเนินการ 3 ภารกิจ ในการต่อสู้กับปัญหาบุหรี่ คือ 1.ด้านนโยบาย ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ประกาศสถานศึกษาปลอดบุหรี่ 2.ร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ในการหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และ 3.ผลักดันแคมเปญ สร้างการรับรู้ จับมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่ง ผลิตคอนเทนต์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน” นายพชรพรรษ์ ระบุ

ปัญหาบุหรี่กับเยาวชน แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไข แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออก หากเยาวชนจะได้รวมพลังและส่งเสียงไปยังเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ และรัฐบาล กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพอย่างจริงจัง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป