กรมทางหลวง(ทล.) เจ้าของโครงการ(ฝั่งไทย) ก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานบนทางหลวงหมายเลข244 (ทล. 244เป็นทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ ) ระยะทาง 9.4 กม. พื้นที่ต.วิศิษฐ์  อ.เมือง จ.บึงกาฬ  เสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจรแล้ว 8 กม. (ยกเว้นช่วงที่เกี่ยวข้องกับงานด่านพรมแดนฝั่งไทย และ งานสะพาน ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางประชาชนเชื่อมต่อกับ ทล.222 สายพังโคน(สกลนคร)-บึงกาฬ  

การก่อสร้างสะพานทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวจะเสร็จทั้งหมดประมาณปลายปี 2567 โดยมีแผนทดลองเปิดบริการให้ประชาชนใช้ชั่วคราว(ฟรี)  รวมทั้งเตรียมจัดประชุมร่วม2ประเทศหารือเกี่ยวกับการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการใช้สะพานต่อไป 

สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 เป็นประตูการค้าชายแดนระหว่างไทยสปป.ลาวบานใหม่   ส่งเสริมการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาว  ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น

เพื่อเพิ่มศักยภาพของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 กรมทางหลวงยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงทล.หรือถนนมิตรภาพ-ทล. 222 อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 155.288 กม.  ค่าก่อสร้างประมาณ 19,730 ล้านบาท  เป็นทางลัดเชื่อมจ. บึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี  ย่นระยะทางจากเดิมถึง 75 กม. ลดเวลาเดินทางลงกว่า 2 ชม.  

สถานะโครงการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จและจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2566 อยู่ในขั้นตอนส่งแบบรายละเอียดให้สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินออก พรฎ.เวนคืนที่ดินประมาณ 7,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ครอบคลุม 3 จังหวัด อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ   10 อำเภอ 29 ตำบล วงเงินเวนคืน 2,512 ล้านบาท     คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการเวนคืนที่ดิน ตรวจสอบสิทธิและจ่ายค่าเวนคืนอย่างน้อย 2 ปี  โดยปรับแผนตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2573 จากแผนเดิมจะก่อสร้างปี 2568 แล้วเสร็จปี 2571  

แนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นที่ กม.424+484 ถนนมิตรภาพ  พื้นที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี สิ้นสุดโครงการบนทล.244 (ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ) ที่ กม.155+171 ต.วิศิษฐ์  อ. เมือง จ.บึงกาฬ  เชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 5 มีทางแยกต่างระดับ 3 จุดตัด   1.จุดตัดทล.2 (จุดเริ่มต้นโครงการ) กม.424+484 ถนนมิตรภาพ มีสะพานยกระดับแบบกึ่งตรง (Semi-Directional Ramp) ในทิศทางเลี้ยวขวา จาก จ.ขอนแก่นเข้าถนนโครงการ และมีทางเลี้ยววน (Loop Ramp) จากถนนโครงการเข้าจ.อุดรธานี   2.จุดตัดทล.22 กม. 24+673 แนวเส้นทางโครงการกับ ทล.22 กม.30+095 เป็นสะพานยกระดับบนถนนโครงการ ข้าม ทล.22 และมีทางเลี้ยวขวาแบบกึ่งตรงในทิศทางเลี้ยวขวาจากถนนโครงการเข้าทล.22 ไป จ.สกลนคร ฝั่งทิศทางจาก จ.บึงกาฬ   มีทางเลี้ยวขวาแบบกึ่งตรงในทิศทางเลี้ยวขวาจากถนนโครงการเข้าทล.22 ไป จ.อุดรธานี นอกจากนี้ออกแบบทางเลี้ยววนจาก ทล.22 เข้าถนนโครงการไป จ.ขอนแก่น และทางเลี้ยววนจาก ทล.22 เข้าถนนโครงการไป จ.บึงกาฬ 

3.จุดตัดทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ (จุดสิ้นสุดโครงการ) กม. 155+171 ของแนวเส้นทางโครงการบรรจบกม. 2+772 ของทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ  มีสะพานยกระดับแบบเลี้ยวกึ่งตรงในทิศทางเลี้ยวขวาจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เข้าถนนโครงการ  และมีทางเลี้ยววนจากถนนโครงการทิศทางเข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ เพื่อไป จ.บึงกาฬ  ทั้ง 3 แห่งมีงานสถาปัตยกรรมออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ เน้นปลูกต้นไม้ท้องถิ่นเป็นหลัก

นอกจากนี้มีสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงท้องถิ่น 7 แห่ง เป็นสะพานคู่ ขนาด 4 ช่องจราจรอนาคตขยายเป็น 6 ช่องได้ พร้อมสะพานข้ามทางรถไฟ 1 แห่ง เป็นสะพานคู่ขนาด 4 ช่องขยาย 6 ช่องได้ในอนาคต  ทั้งนี้แนวเส้นทางโครงการตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่ กม.1+207 และตัดโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ที่ กม.1+505

รวมทั้งมีจุดกลับรถตลอดแนวเส้นทาง 31 แห่ง อาคารระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และจุดพักรถ 1 แห่ง ที่ กม.103+550 ขนาดพื้นที่ 25 ไร่ ต.เฝ้าไร่ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย    ประกอบด้วย อาคารด่านชั่งน้ำหนัก สิ่งอำนวยความสะดวก ลานจอดรถ ห้องน้ำ ศาลาพักผ่อน พื้นที่สีเขียว สวนหย่อม และ ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 

โครงข่ายการเดินทางในปัจจุบันจากอุดรธานี-บึงกาฬ (จ.บึงกาฬ แยกมาจาก จ.หนองคาย ) มี 2 เส้นทางหลักๆ1.ใช้ทล.2 หรือถนนมิตรภาพ  ผ่านตัวเมืองหนองคาย และใช้ ทล.212 (สายหนองคาย–อุบลราชธานี หรือถนนชยางกูร) เลียบแม่น้ำโขงไป จ.บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 221 กม. ใช้เวลาเดินทาง 3 ชม. 25 นาที 

2.ใช้ถนนมิตรภาพ ผ่านตัวเมืองอุดรธานี แล้วใช้ ทล. 216 (ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี) สู่ จ.สกลนคร ผ่านทล.22 (สายอุดรธานี–นครพนมหรือถนนนิตโย) และ ทล. 222(สายพังโคน–บึงกาฬ) มุ่งหน้า จ.บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 230 กม. ใช้เวลาเดินทาง 3 ชม. 30 นาที

ทางหลวงแนวใหม่ จึงเป็นทางลัดวิ่งฉิวสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่รอสร้างตามหลังไม่ทันเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ถึง 5 ปี.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต