แม้จะมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ความจริงแล้วก็ยังมีสารพิษต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและนอกจากนี้พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ
สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า เกือบทั้งหมดจะมีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และสารนี้เองที่ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองในเด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ การเรียนรู้ อารมณ์ และการควบคุมตนเอง แม้ว่าเด็กหรือวัยรุ่นอาจเลือกใช้สารเคมีที่ปราศจากนิโคติน แต่สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าอาจยังมีโลหะหนัก เช่น สารหนู (arsenic) สารตะกั่ว และการเผาไหม้จากบุหรี่ยังทำให้เกิดสารพิษอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพทางกายและมีผลกระทบต่อสมองด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่สำคัญหนึ่งของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจากการสำรวจคือ การพบเห็นว่าเพื่อนหรือคนรอบข้างมีการใช้ ซึ่งการเห็นดังกล่าวส่งผลต่อทัศนคติของวัยรุ่นอย่างมาก เช่น การมองว่าการใช้เป็นเรื่องปกติ หรือหากบุคคลรอบข้างนั้นเป็นแบบอย่างที่สำคัญของวัยรุ่น เช่น ดารา ผู้มีชื่อเสียง ก็อาจส่งเสริมภาพลักษณ์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นเรื่องโก้เก๋ นอกจากนี้อีกสาเหตุของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าคือ เพื่อจัดการกับความรู้สึกทางลบต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกเครียด เศร้า หรือวิตกกังวล แม้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะช่วยจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ แต่ก็มักจะได้เพียงแค่ชั่วคราว และการใช้อย่างต่อเนื่องก็จะนำไปสู่วงจรการติดบุหรี่ และส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและใจต่อไป
นอกจากการมีภาวะอารมณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าหรืออาจทำให้ผู้ที่มีโรคซึมเศร้าอยู่แล้วมีอาการที่แย่ลงร่วมด้วย
นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเองยังอาจก่อให้เกิดภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) ซึ่งเกิดจากผลของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับรางวัล (brain’s reward system) ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตธรรมดาทั่ว ๆ ไป เช่น การไปเที่ยว การกินของโปรด การได้รับคำชื่นชม ความเพลิดเพลินจากงานอดิเรกต่าง ๆ และในที่สุดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณเดิมก็ไม่ก่อให้เกิดความสุขอาจต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้น หรืออาจเป็นประตูไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ ที่ให้ความสุขเพิ่มเติมต่อไป
การสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับปัญหาสุขภาพจิตนี้จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยทั้งสองสิ่งนี้อาจเป็นได้ทั้งต้นเหตุหรือผลลัพธ์ที่ตามมา การมีความรู้ เท่าทัน มีเกราะป้องกันจากการหาความสุขในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นภัยกับร่างกาย เช่น งานอดิเรกที่ดีมีประโยชน์ การออกกำลังกาย จะเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญของปัญหาดังกล่าวได้
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์