“ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด หลังจากทนกับเสียงเรียกร้องที่เป็นความฝันของตัวเองไม่ได้ กับการกลับมาที่บ้านเพื่อเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้เป็นภูเขาต้นไม้ เพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ เพื่อที่ป่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนของเรามีรายได้” เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางความฝันสายนี้ของ “อิ๋ม-สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์” ที่ทิ้งเมืองกรุงหอบความฝันกลับบ้านเพื่อจะสานฝันให้สำเร็จ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวเส้นทางชีวิตของเธอมาเล่าสู่…

“อิ๋ม-สุรีรัตน์” สาวเจ้าของเรื่องราวนี้ เธอเป็นผู้ก่อตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลองเลย” บ้านนาปอ อ.นาแห้ว จ.เลย อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ “ไร่ลองเลย” และกาแฟที่มีชื่อแบรนด์เดียวกัน โดยเธอเล่าว่า เลือกโบกมือลาชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อทำตามฝันของตัวเองที่มีมานาน คือ “เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นภูเขาต้นไม้” โดยชักชวนชาวบ้านร่วมกันปลูกป่า เปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบเดิม จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยมีไร่ของตัวเองเป็นพื้นที่ทดลองนำร่อง จนสามารถเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ซึ่งปัจจุบันในไร่ของเธอมีพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้กว่า 100 ชนิด

ทั้งนี้ อิ๋มเล่าให้ฟังว่า เธอเกิดและเติบโตในหมู่บ้านที่เรียกได้ว่าเป็น ชุมชนชายแดน บ้านของเธออยู่บริเวณชายแดนไทยด้านที่ติดกับลาว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง จ.เลย ค่อนข้างมาก โดยเส้นทางที่เข้าสู่หมู่บ้านนั้นคือเส้นทางที่ถูกพัฒนาจากสมัยสมรภูมิการรบบ้านร่มเกล้า และในหมู่บ้านก็มีโรงเรียนแค่แห่งเดียวคือโรงเรียน ตชด. ซึ่งแน่นอนว่าเธอก็เป็นหนึ่งในเด็กนักเรียนที่นั่น แต่เธอโชคดีที่สุด เพราะเธอได้รับเลือกเป็น นักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้มีโอกาสได้เรียนต่อในเมือง จนเธอสามารถเรียนจบปริญญาตรี ด้านบัญชี ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เทคนิคกรุงเทพ ในสมัยนั้น หรือปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

“ถือเป็นบุญและโชคของเรามาก ๆ ที่ได้รับทุนจากพระองค์ท่าน เพราะความที่เราเกิดและโตในหมู่บ้านชายแดน เป็นเด็กชายขอบ ทำให้เราไม่กล้าที่จะฝันไปไกลเกินตัวหรอกว่าเราจะได้เรียนในกรุงเทพฯ หรือไม่แม้แต่จะฝันว่าจะได้เรียนจนถึงระดับปริญญาตรี” เธอกล่าว ก่อนจะเล่าอีกว่า ทุนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้ ไม่เพียงพลิกชีวิตเด็กชายขอบคนหนึ่งให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แต่ยังเปิดโลกใบใหม่ให้กับเธอ เพราะทำให้ได้มีโอกาสมองเห็นโลกใบเดิมในมุมที่กว้างมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่เป็นนักเรียนทุนนั้นเธอได้มีโอกาสเจอกับรุ่นพี่ ๆ นักเรียนทุนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งเธอก็ได้รับความเมตตา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ก็เอ็นดูเธอ ทำให้เธอรู้สึกประทับใจมาก รวมถึงทำให้เธอได้สัมผัส “พลังของการให้” จนทำให้เธอ “เกิดแรงบันดาลใจ” ในตอนนั้นว่าเธออยากจะกลับมา “เป็นผู้ให้” เหมือนพี่ ๆ อา ๆ ป้า ๆ ที่เธอได้มีโอกาสสัมผัส

ช่วงที่เริ่มต้นในการทำตามฝัน

อิ๋มเล่าอีกว่า หลังเรียนจบตอนนั้นมีทางเลือกว่าจะกลับมาเป็นครูโรงเรียน ตชด. ดีไหม ซึ่งใจเธอก็อยากจะเป็น แต่ด้วยความที่ยังคิดแบบเด็ก ๆ ในตอนนั้น คือห่วงสวย ไม่อยากตัดผม ไม่อยากฝึกแบบทหาร จึงลองหาทางใหม่ที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์เหมือนการเป็นครู ตชด. ได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เจอเป้าหมาย จึงตัดสินใจทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่ข้อมูลทางการแพทย์ที่กรุงเทพฯ จนมีครั้งหนึ่งเมื่อได้กลับบ้าน ได้เห็นว่าพ่อแม่ยังทำไร่ข้าวโพดโดยยังใช้สารเคมี ซึ่งทำไปเงินก็แทบไม่เหลือพอไว้ใช้จ่าย อีกทั้งสุขภาพก็แย่ลงเรื่อย ๆ จึงทำให้ความฝันเดิมเรื่อง “เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นภูเขาต้นไม้” หวนกลับมา

เธอบอกว่า ตอนนั้นมีเหตุผลแค่อยากให้พ่อแม่เลิกทำไร่ข้าวโพด และจากจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้เธอเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเดิมของพ่อแม่เป็น “ไร่ลองเลย” สวนเกษตรผสมผสาน โดยอิ่มบอกว่าเริ่มต้นเมื่อปี 2554 โดยเธอพยายามหาข้อมูลการทำเกษตรแบบผสมผสาน และใช้เวลาวันหยุดจากงานประทำ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ติดตามพี่ ๆ ที่ทำเกษตรแบบผสมผสานไปเรียนรู้เรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า จากนั้นก็เริ่มเสาะหาเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ต่าง ๆ และซื้อมาเก็บไว้ เพื่อส่งให้ที่บ้านนำไปเพาะ โดยช่วงนั้นถึงขั้นยอมกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อเก็บเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ แต่ปรากฏเมื่อที่บ้านนำไปเพาะกลับไม่งอก เธอก็เลยลองเพาะเองที่ระเบียงหลังห้องเช่าที่กรุงเทพฯ จนที่สุดก็ได้ต้นกล้า จึงส่งไปให้ที่บ้านเพื่อให้นำไปปลูกลงดิน

“ต้อม-รณกร จันทโรทัย” แฟนอิ๋ม

“ต้นกล้าที่ส่งไป ทำให้เรายึดที่ดินพ่อแม่มาได้ 1 แปลง (หัวเราะ) ซึ่งพ่อแม่เห็นว่าเรามุ่งมั่นและเป็นห่วงท่านจริง ๆ ที่สุดเลยเลิกปลูกข้าวโพด หันมาปลูกไม้ผลเต็มตัว ซึ่งอิ๋มก็ใช้แปลงปลูกข้าวโพด 50 ไร่ทำเกษตรผสมผสาน พืชที่ปลูกก็เป็นแมคคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า และไม้ยืนต้นกับสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งช่วงวันหยุดอิ๋มจะนั่งรถกลับบ้านที่ จ.เลย เพื่อปลูกต้นไม้ เรียกว่าไม่เคยไปเที่ยวไหนเลย วันหยุดทีไรก็มุ่งหน้ากลับบ้านมาปลูกต้นไม้ของเรา” เธอเล่า

และจากจุดเริ่มต้นนี้ เธอเล่าว่า ช่วงแรกรายได้หลักจะได้จากสตรอเบอรี่ ที่ปลูกไว้ 2 งาน โดยสามารถทดแทนรายได้ที่เคยได้จากข้าวโพด 50 ไร่ได้แบบสบายเลย ส่วน “ความเปลี่ยนแปลง” หลังทำเกษตรผสมผสาน อิ๋มบอกว่า การปลูกผสมผสานอาจทำให้เกษตรกรต้องขยันกว่าเดิม เพราะมีงานให้ทำตลอด แต่ไม่ใช่งานที่หนัก และไม่มีความเสี่ยงสุขภาพ เพราะไม่ใช้สารเคมี ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย ที่สำคัญพอลดละเลิกใช้สารเคมี ปรากฏทำให้ดินดีขึ้น จากที่ขุด 3 หลุมก็มือแตกเพราะแข็ง ตอนนี้กลายเป็นดินนิ่ม แค่เอาเสียมไปขุดง่าย ๆ ก็ได้หลุมปลูกต้นไม้แล้ว ที่สำคัญ เธอบอกว่า หลังปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำใหม่ ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อนรายได้จากไร่ข้าวโพดที่ทำบวกลบแล้วจะมีรายได้ปีละ 15,000-30,000 บาท แต่หลังเปลี่ยนมาทำตรงนี้ ทั้งรายได้จากสตรอเบอรี่ และผลผลิตต่าง ๆ ที่ปลูกขาย รวมถึงรายได้จากการเก็บเห็ดและหน่อไม้ในป่าที่ปลูกไว้ นำมาขายตามฤดูกาล ก็ทำให้ครอบครัวของเธอมีรายได้เฉลี่ยปีละเป็นหลักแสนบาท …อิ๋มบอกเล่าความสำเร็จนี้

ขณะที่ “ความฝันในการเป็นผู้ให้” ของเธอก็ยังคงอยู่ ดังนั้น หลังพัฒนาพื้นที่ตัวเองสำเร็จ ในปี 2557 เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพฯ เพื่อจะพัฒนาชุมชนตามที่เคยตั้งใจไว้ โดยเธอตั้งใจจะใช้แนวคิดจาก โครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” ที่มุ่งเน้นฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมฟื้นฟูป่ารักษาป่า เพื่อมีรายได้จากป่าที่สร้างขึ้นอย่างยั่งยืน โดยหลังลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการฯ เธอได้ออกให้ความรู้ชาวบ้าน รวมทั้งเดินทางไปบรรยายตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อจะขยายผลให้เกิดเครือข่ายที่กว้างมากขึ้น

“เรามองว่าทำงานที่นี่มีประโยชน์มากกว่า จึงลาออกมาทำตรงนี้ จากนั้นอีก 1 ปี แฟนอิ๋ม (ต้อม-รณกร จันทโรทัย) ก็ตัดสินใจลาออกจากงานวิศวกรบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ยอมทิ้งเงินเดือนประจำกว่า 50,000 บาท มาทำงานในทีมที่เข้ามาช่วยโครงการฯ โดยแฟนได้รับเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท แต่เขาก็บอกว่ามีความสุขมากที่ได้ทำตรงนี้ โดยเขามาช่วยทำส่วนที่ใช้ความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์” อิ๋มพูดถึงแฟนของเธอด้วยรอยยิ้มมีความสุข

“อิ๋ม” บรรยายแนวคิด “ลองเลย”

นอกจากทำเกษตรผสมผสานแล้ว อิ๋มบอกว่า เธอมองว่า “กาแฟ” ต้นไม้ที่มีในชุมชน สามารถเป็น “พืชเศรษฐกิจของชุมชน” และเป็น “พลังชูใจ” ให้คนในชุมชนมุ่งมั่นต่อไปได้ เพราะปลูกป่าต้องใช้เวลา กว่าชาวบ้านจะสามารถมีรายได้จากการปลูกต้นไม้ก็อาจทำให้บางคนถอดใจเสียก่อน เธอจึงมองหาพืชที่สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ระหว่างรอให้ป่าสมบูรณ์ จึงโฟกัสที่กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่มีอยู่หลังบ้านทุกบ้านอยู่แล้ว เธอจึงตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลองเลย” รับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้าน และได้ขออนุญาตลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานโครงการฯ เพื่อมาส่งเสริมชาวบ้านปลูกกาแฟเต็มตัว

“ต้นกาแฟต้องมีต้นไม้พี่เลี้ยง คือควรปลูกอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่จึงจะทำให้ผลผลิตได้คุณภาพ ดังนั้นแม้สถานะจะเปลี่ยน แต่แนวคิดที่จะพลิกภูเขาหัวโล้นให้เป็นภูเขาต้นไม้ของเราจึงยังไม่เปลี่ยน เพราะเวลาที่ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ เราจะย้ำเสมอว่าเขาจะต้องดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่นะ ผลผลิตกาแฟจึงจะได้คุณภาพที่ดี ปรากฏว่าการปลูกกาแฟตอบโจทย์การดูแลรักษาป่าและการสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้แบบยั่งยืน จึงทำให้มีกำลังใจที่จะทำให้แบรนด์กาแฟชุมชนแบรนด์นี้เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ” เธอพูดถึงความสำเร็จนี้

ก่อนจบบทสนทนากัน “อิ๋ม-สุรีรัตน์” ซึ่งเธอเป็น “เกษตรกรหัวขบวน ธ.ก.ส.” ด้วย เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังถึง “เป้าหมายข้างหน้า” ว่า อยากทำสิ่งที่ทำอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคมให้มากที่สุด ให้มีกำไรทางสังคมมากขึ้นอีก จึงสนใจเรื่อง “Zero West” ลดการเกิดขยะ และจะใช้ “พลังงานทดแทน” กับกิจกรรมที่ทำอยู่ โดยเธอบอกว่า แม้จะทำเรื่องกาแฟเต็มตัว แต่เรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเป็นศูนย์เรียนรู้ ยังเป็นภารกิจสำคัญสำหรับเธอ ถ้าใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการปลูกป่า หรือจะเป็นเรื่องกาแฟก็ตาม เธอยินดีถ่ายทอดให้หมดเปลือก… “ยืนยันว่าแนะนำแบบไม่มีกั๊กแน่นอน สำหรับคนที่สนใจจริง ๆ เพราะอิ๋มอยากจะทำให้ได้ความรู้กลับไปให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเหมือนกับเราในอดีต…เพื่อช่วยให้เขาเดินหน้าได้เร็วขึ้น”.

“กาแฟลองเลย” อีกกลไกทำให้ความฝันสำเร็จ

‘รางวัลจากความอดทน’

“อิ๋ม-สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์” บอกเล่าไว้ด้วยว่า “รางวัลจากความอดทน” ที่เธอได้รับ คือ “เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นเป็นภูเขาต้นไม้ได้” วันนี้เธอได้เห็นฝืนป่าที่สมบูรณ์สมกับความตั้งใจแล้ว และทำให้ทุก ๆ วันจึงมีผลผลิตออกมาให้เก็บ แถมมีสัตว์นานาชนิดเข้ามาอาศัยพึ่งพิง ที่สำคัญคือการทำให้คนในหมู่บ้านหันมาทำตามแบบเธอกันมากขึ้น จนส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น จนตอนนี้เริ่มมีโครงการหลาย ๆ โครงการเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชุมชนเริ่มมีความเจริญเข้ามา… “ตอนนี้เรียกว่าถนนหนทางการคมนาคมดีขึ้นเยอะกว่าในอดีตเลยค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราดีใจที่สุด เพราะเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็ทำให้คนในหมู่บ้านเดินทางไปโรงพยาบาลได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการทำเกษตรผสมผสานนั้น อาจไม่ได้ทำให้ร่ำรวยหวือหวา แต่เชื่ออิ๋มเถอะว่า…ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างแน่นอน”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน