“ตั้งแต่จำความได้ก็ใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว ตอนเด็ก ๆ มีหน้าที่เก็บไข่ ให้อาหารสัตว์ รดน้ำแปลงผัก ก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า พอวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ไปช่วยคุณพ่อทำงานในไร่ ทั้งตัดหญ้า ทั้งเลี้ยงวัว แต่ไม่เหนื่อย และไม่รู้สึกเบื่อ เพราะสนุก มีความสุขที่ได้ทำคะ” เสียงจาก “เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์” สาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่กำลังเป็น “คนดังโซเชียล” จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับ “เกษตรกรสาวลูกครึ่ง” คนนี้…

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“เจน” หรือชื่อเต็ม “เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์” สาวคนนี้กำลังได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากบนโลกโซเชียล โดยเธอเลือกเส้นทางชีวิตเป็น “เกษตรกรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ” และเธอเป็นเจ้าของฟาร์มด้วย ชื่อ อุดรออร์แกนิคฟาร์ม (Udon Organic Farm) ซึ่งฟาร์มนี้อยู่ที่ บ้านโนนคาม ต.เชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยเจนได้เล่าว่า อาชีพเกษตรกรนี้ เริ่มจาก คุณพ่อ-นิโคลัส อินเนส-เทเลอร์ เดินทางมาจากประเทศอังกฤษเพื่อมาทำงานที่ประเทศไทย และได้พบรักกับ คุณแม่-แสงมรี อินพักทัน หลังแต่งงานกันทั้งคู่ก็ได้พากันมาตั้งถิ่นฐานที่ จ.อุดรธานี โดยซื้อที่ดิน 8 ไร่ สร้างที่อยู่อาศัย และทำเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ กับแบ่งที่เพื่อทำนาปลูกข้าว 1 ไร่ โดยมีเป้าหมายไว้กินกันเอง และระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มลงหลักปักฐานก็ได้ให้กำเนิด พี่ชาย-สตีเวน อินเนส-เทเลอร์ พี่ชายของเธอ และก็ให้กำเนิดเธอ เธอเกิดและเติบโตที่นี่-ที่ไทย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เกษตรกรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ บอกว่า ที่ดินตั้งต้น 8 ไร่ที่คุณพ่อคุณแม่บุกเบิกนั้น ตอนนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือทำเกษตรไว้กินกันเองในครัวเรือน โดยที่ดินที่คุณพ่อซื้อไว้ อดีตเคยเป็นไร่มันสำปะหลัง ทำให้ดินที่นี่จึงมีความเสื่อมโทรม จนต้องปรับปรุงดินให้ดีก่อน ซึ่งคุณพ่อนำหลักเกษตรฟื้นฟูมาใช้ โดยได้ศึกษาและนำภูมิปัญญาของเกษตรกรรุ่นเก่ามาลองผิดลองถูก ซึ่งเธอเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับคุณพ่อด้วย จนที่สุดก็ประสบความสำเร็จด้วยการเลี้ยงวัว และการจัดพื้นที่ให้วัวกินหญ้า แล้วนำมูลวัวไปผสมกับดินแปลงอื่นเรื่อย ๆ โดยเมื่อดินเริ่มดีขึ้นก็เริ่มปลูกพืชผักผสมผสาน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะหากพืชที่ปลูกอย่างเดียวเป็นโรคก็จะเสียหายทั้งหมด …เจนเล่าถึงเส้นทางการตั้งรกรากของครอบครัวของเธอ

และเล่าอีกว่า เธอใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรมาตั้งเด็ก โดยเธอเติบโตขึ้นมาที่ไร่ที่สวน จึงได้ช่วยคุณพ่อทำไร่ทำสวนปลูกผักเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่จำความได้แล้ว เรียกว่า เธอขับรถแทรกเตอร์ รถไถดินเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อเป็นคนสอนให้ ซึ่งชีวิตในวัยเด็กเธอจะอยู่ที่สวนที่ไร่เป็นหลัก และทุกครั้งเวลาที่จะออกไปไหนกับเพื่อน ๆ เธอจะต้องทำงานให้เสร็จตามที่คุณพ่อสั่งเอาไว้ก่อน เพราะเป็นข้อแลกเปลี่ยนระหว่างเธอกับคุณพ่อ ซึ่งเธอเองก็เข้าใจ เพราะคุณพ่ออยากปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบ

ลุคสาวมหาวิทยาลัย

ส่วนถ้าถามว่า…เป็นผู้หญิงแล้วมาเป็นเกษตรกร ต้องตากแดดคลุกดิน ไม่กังวลกับเรื่องความสวยความงามหรือ? กับคำถามนี้ เธอตอบว่า ไม่กลัวและไม่กังวลอะไร เพราะอย่างที่บอกว่า “รักการทำการเกษตร” ซึ่งถ้าเป็นเรื่องแดด ก็แค่หาวิธีป้องกัน และพอรู้ตัวว่าอยากเป็นเกษตรกร ก็รู้แล้วว่าทำเล็บสวย ๆ ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เธอไม่ชอบทำอยู่แล้ว หรือการแต่งหน้าทำผม ก็ไม่ค่อยทำ จนเพื่อน ๆ ยังแซวประจำว่า…ขอให้เธอหัดหวีผมบ้าง …เจนเล่าเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขัน

ลุคสาวฟาร์มเมอร์

ด้านการศึกษา เจนบอกว่า เธอใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก จนมาช่วงเรียนมัธยมปลาย เธอลดภาระหน้าที่ลงไป เนื่องจากต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเธอสอบเข้า มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ แม้ความจริงแล้วคุณพ่ออยากให้เธอเรียนด้านเกษตร แต่เธอรู้สึกว่าทำเกษตรมาเยอะแล้ว จึงอยากเลือกเรียนสาขาที่ชอบและสนใจมากกว่า ซึ่งคุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะตามใจลูกอยู่แล้ว

หลังเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ 2 ปี เธอก็ย้ายไปเรียนที่ประเทศสกอตแลนด์อีก 2 ปีในสาขาเดิม จนที่สุดก็คว้าปริญญาตรีมาได้สำเร็จ โดยเธอเล่าถึงการย้ายไปเรียนที่สกอตแลนด์ว่า เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนต่อที่ไทย หรือไปเรียนต่อที่สกอตแลนด์ ซึ่งเธอเองเลือกที่จะไปเรียนต่อที่สกอตแลนด์ เพราะอยากได้มุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ อีกอย่างเธอเป็นลูกครึ่งอังกฤษ และมีบ้านคุณย่าอยู่ที่อังกฤษ จึงรู้สึกว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ซึ่งการไปเรียนที่สกอตแลนด์นั้นคุณพ่อจะจ่ายให้แค่ค่าเทอม ส่วนค่ากินอยู่ต่าง ๆ เธอหาเองทั้งหมด โดยการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ซึ่งเธอบอกว่า ตอนนั้นอาชีพอะไรที่ได้เงิน เธอรับทำหมด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านของชำ แคชเชียร์ ทำงานในร้านอาหาร รับออกแบบเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งงานช่าง เช่น รับทาสีบ้าน ซ่อมประปา เธอก็ทำหมด

“การไปเรียนที่สกอตแลนด์ ถือว่าคุ้มจริง ๆ เพราะทำให้เราโตขึ้น และรู้สึกมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความภาคภูมิใจมากขึ้น ที่สำคัญได้ประสบการณ์ชีวิตมากกว่าแค่เรียนในห้องเรียนอีกด้วย” เจนกล่าว

กิจกรรมในฟาร์มที่ทำประจำ

ด้วยความที่ช่วงไปเรียนสกอตแลนด์นั้น อยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้กลับมาบ้านที่ไทยเลย ดังนั้น หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอก็ตัดสินใจรีบเดินทางกลับบ้านที่ไทยทันที… “ตอนแรกจริง ๆ คิดว่าอยากลองหางานทำที่ต่างประเทศ แต่ก็ขอกลับมาบ้านก่อน แล้วค่อยคิดอีกทีว่าจะไปทำงานที่ไหน ซึ่งพอกลับมาก็มาเป็นเกษตรกร ช่วยคุณพ่อทำงานในไร่ในสวนเหมือนเดิม แถมยังช่วยจัดการระบบในการขายผลผลิตให้คุณแม่ เรียกว่าเราเห็นอะไร เราก็สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปได้ ทำให้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่ไร่ นอกจากนี้เรายังดูแลเรื่องการตลาด โดยเราทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตร จนทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ซึ่งจากตอนแรกจะขอแค่แวะกลับมาบ้าน แต่สุดท้ายก็ทำมาเรื่อย ๆ จนไม่คิดจะไปไหนแล้ว”

เกษตรกรสาวลูกครึ่งบอกเรื่องนี้ พร้อมเล่าต่อไปว่า พอได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนที่เคยทำตอนเด็ก ก่อนที่จะไปเรียนต่างประเทศ ก็ทำให้เธอพบคำตอบชีวิตของตัวเองว่า ชีวิตแบบนี้คือสิ่งที่เธอโหยหามาตลอด เพราะช่วงที่ไปเรียนต่างประเทศ เธอแทบไม่ได้แตะงานเกษตรเลย จนรู้สึกเหมือนชีวิตมีอะไรขาดหายไป พอได้กลับมาทำ ก็รู้สึกมีความสุขอีกครั้ง

ทั้งนี้ “จุดเริ่มต้น” การเป็น “เกษตรกรเต็มตัว” นั้น เจนบอกว่า เกิดขึ้นหลังจากเธออยากตั้งฟาร์ม Udon Organic Farm ขึ้นมา เพราะมองว่าเกษตรแบบออร์แกนิกมีแนวโน้มเติบโต เพราะคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับมีคนหลายประเทศมาศึกษาดูงานที่ฟาร์มมากขึ้น เธอจึงต่อยอดด้วยการเปิดฟาร์มทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเปิดให้คนที่สนใจจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาดูงาน โดยพยายามทำข้อมูลทั้งภาษาอังกฤษและไทยออกมาเพื่อให้สื่อสารได้ง่ายที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย

อีกเรื่องที่น่าสนใจของ เจน เกษตรกรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ คนนี้ก็คือ “มายด์เซ็ท” ของเธอ ที่เธอได้มีการปรับวิธีคิดมาทำเกษตรเพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยเรื่องนี้เธอได้เล่าให้ฟังว่า เวลาพูดถึงการทำการเกษตร คนจะคิดว่าผลผลิตต่อไร่ได้เท่าไหร่? ปลูกข้าว 1 ไร่ได้เท่าไหร่? ซึ่งเธอพยายามบอกคนอื่น ๆ อยู่เสมอว่า…ให้คิดว่า อย่าเพิ่งคิดเรื่องกำไร แต่ให้คิดเรื่องการบริหารดีกว่า เพราะการสร้างรายได้เป็นเรื่องของการบริหาร เช่น ถ้าปลูกข้าว 1 ไร่ บางคนปลูกข้าวพอเก็บเกี่ยวแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินต่อ แค่ปล่อยไว้รอปลูกข้าวรอบต่อไป ทั้งที่สามารถใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ให้เพิ่มได้ เช่น เอาวัวเอาไก่ไปเลี้ยง หรือจะปลูกพืชผักสวนครัวก็ได้ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ระหว่างรอฤดูกาลใหม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิดมากกว่า หากเกษตรกรต้องการสร้างรายได้เพิ่ม ก็ต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“เมื่อก่อนก็เคยมองว่าทำเกษตรเหนื่อย ทำไปก็ไม่รวย ทำไปก็เหนื่อยเปล่า ซึ่งถ้าเป็นเกษตรกรที่ผลิตอย่างเดียวจะถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ถ้าทำเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผลิตเอง ขายเอง และไม่มองว่าเราเป็นแค่เกษตรกร แต่มองให้เป็นนักธุรกิจการเกษตร ก็จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างดี” เป็นวิธีคิดของเกษตรกรสาวคนนี้

กับครอบครัววันรับปริญญาที่สกอตแลนด์

และเกษตรกรสาวลูกครึ่งคนเดิมยังขยายความวิธีคิดนี้ว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตในฟาร์มด้วยการนำมา “แปรรูป” เป็นวิธีที่สามารถเพิ่มรายได้จากผลผลิต โดยเธอได้แนะนำเพื่อน ๆ เกษตรกรว่า อยากให้หันมาโฟกัสเรื่องการ “เพิ่มมูลค่า” มากกว่าเรื่องการ “เพิ่มผลผลิต” เช่น เนื้อหมูสด ที่ฟาร์มขายกิโลกรัมละ 250 บาท แต่พอฟาร์มนำมาแปรรูปทำเบค่อน ก็ขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าแล้วยังเก็บได้นานมากขึ้นด้วย และนอกจากนั้น เรื่องของ “เทคโนโลยี” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรสมัยใหม่ ที่จะช่วยทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เช่น ระบบไทม์เมอร์เพื่อตั้งเวลารดน้ำเอง รวมถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้ขายสินค้าได้กว้างมากขึ้น

ก่อนจบการสนทนากัน “เจน-เจนนิเฟอร์” เกษตรกรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ บอก “เป้าหมายชีวิต” ของเธอว่า ตอนนี้งานหลักจริง ๆ คืออาชีพเกษตรกร แต่ก็สวมหมวกเป็นนักธุรกิจด้านเกษตรด้วย ทำให้ตอนนี้เธอพยายามจะพัฒนาสินค้าเพิ่ม เพราะอยากให้ที่ฟาร์มมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมามากขึ้น ขณะเดียวกันก็อยากจะ “สร้างเครือข่ายเกษตรกร” จึงเปิดฟาร์มให้คนอื่น ๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยให้ความรู้ทุกอย่างแบบไม่กั๊ก เพราะอยากทำให้คนเห็นภาพมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดที่ไร่หรือฟาร์มของแต่ละคน หรืออย่างน้อยก็ไปทดลองปลูกกินกันเองในครอบครัว… “ถ้าถามว่าเจนฝันอะไรไว้ เจนอยากให้คนรุ่นใหม่ ๆ หันมาทำการเกษตรมากขึ้น เพราะยิ่งมีเยอะก็ยิ่งดี เพราะคนจะได้กินอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น แถมตอนนี้โลกของเราเกิดภาวะแปรปรวนมาก ๆ ซึ่งการที่เรามาเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยวิถีเกษตรแบบนี้…ถือว่าเป็นการช่วยโลกด้วย”.

รับเชิญบรรยายให้คนรุ่นใหม่ฟัง

‘ฟื้นฟู’ คือ ‘หัวใจออร์แกนิก’

“การทำการเกษตรฟื้นฟูเป็นหัวใจหลักของการทำการเกษตรออร์แกนิกในฟาร์มเรา” เป็นการระบุจาก “เจน-เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์” เกษตรกรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ โดยเธอบอกว่า ที่ฟาร์มให้ความสำคัญกับการ “ฟื้นฟูระบบนิเวศ” เพราะสภาพแวดล้อมที่ดีจะส่งผลให้พืชผัก รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ แข็งแรงมากขึ้น เห็นได้จากตอนนี้ที่อากาศร้อนจัดมาก ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายเกิดปัญหา แต่ที่ฟาร์มไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการปลูกป่าไม้สร้างความร่มรื่น ทำให้ในพื้นที่มีระบบนิเวศดี ทั้งนี้ เธอยังให้คำแนะนำเรื่องนี้ด้วยหลักเบื้องต้นง่าย ๆ ว่า เลี้ยงสัตว์ทางเกษตร ใช้มูลทำปุ๋ยหมัก, ต้องมีพืชปกคลุมหน้าดินเสมอ อย่าให้ดินเปิดว่าง, ลดการรบกวนดิน ไม่ไถ ไม่ขุด หรือพรวนดินมากไป, ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด ให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด, เก็บรักษารากไว้ในดินเสมอ เพราะตรงไหนมีรากพืช ดินจะมีความอุดมสมบูรณ์ …เหล่านี้เป็นหลักสำคัญ “เกษตรฟื้นฟู” ที่เกษตรกรสาวลูกครึ่งแนะนำไว้ ที่เกษตรกรรายใดจะนำไปใช้ก็ได้ไม่มีค่าลิขสิทธิ์.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน