“Campus Life” มีโครงการดีๆในรั้วมหาวิทยาลัยมาฝากกันอีกแล้วจ้า…
สัปดาห์นี้เป็นคิวของวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดโครงการบูรณาการวิชาชีพนิเทศศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชน ปลูกฝังกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมชุมชนร่วมกัน ผ่านการนำเสนอความคิดเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการทำเป็นโครงงานปลายภาคในรูปแบบนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Gen-z คิดเปลี่ยนโลกเพื่อความยั่งยืน”
ว่าแล้วจะรอช้าอยู่ไย ไปดูโครงงานที่ถูกกลั่นออกมาจากแนวคิดเจ๋งๆ กันเลยดีกว่า เริ่มจาก “Makeup no gender” ซึ่ง “แสนศิริ วันทา” เฟรชชี่ปี 1 สาขามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ เป็นตัวแทนของกลุ่ม บอกว่า Makeup no gender เป็นโปรเจกต์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งหน้าและดูแลตัวเองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทุกเพศ และยังสนับสนุนให้ทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร มีความกล้าที่จะแสดงรสนิยมของตัวเองผ่านการแต่งหน้า และอยากเชิญชวนเพื่อนๆ หากสนใจกิจกรรรมดีๆ อย่างนี้สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการแชร์ Makeup look ของตัวเองลงสื่อโซเชียลและติด #makeupnogender ในโพสต์ของตัวเอง มาเป็นกระบอกเสียงให้กับทุกคนรวมถึงตัวน้องๆ ด้วยกัน
ขณะที่ โครงงาน “gen z เปลี่ยนโลก WildFire Project” ก็เกิดจากไอเดียที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดย “จันทณิสา นีน่า เตมิยาคาร” ปี 3 สาขาสื่อสารการแสดง วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ อาสาเป็นตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า กลุ่มเราจัดโครงงาน “gen z เปลี่ยนโลก WildFire Project” เพื่อรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผลกระทบของไฟป่าในด้านของอากาศ มลพิษที่เกิดจากไฟป่าใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด โดยได้รับประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับไฟป่า ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า ผลกระทบของไฟป่า เช่น ร่างกาย สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตในป่า ได้เรียนรู้วิธีการเตรียมตัวหรือรับมือกับตอนที่เกิดไฟป่าและข้อควรระวังเมื่อไปตั้งแคมป์ใกล้อุทยานหรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงได้และทำให้เรารับมือกับสถานการณ์จริงได้
นอกจาก 2 โครงงานที่ทางทีมงาน “Campus Life” หยิบยกมานำเสนอแล้ว ต้องขอบอกว่า ทุกโครงงานที่นำมาจัดแสดงในโครงการบูรณาการวิชาชีพนิเทศศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนครั้งนี้ ล้วนผ่านความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญและความรับผิดชอบต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม อย่างแท้จริง