ซึ่งถ้าเกิดลิ่มเลือดในปริมาณมากจะนำไปสู่การอุดตันของท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้ แต่ในกรณีที่มีเลือดออกในปริมาณเพียงเล็กน้อย มักจะพบว่าปัสสาวะมีสีเหลืองใสปกติ แต่เมื่อนำปัสสาวะไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเป็นจำนวนที่มากเกินค่าปกติ ซึ่งกรณีดังกล่าวมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ได้

โดยสาเหตุของของการมีเลือดออกในปัสสาวะ สามารถพบได้ตั้งแต่โรคนิ่วในระบบปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ต่อมลูกหมากโต การบาดเจ็บของอวัยวะในระบบปัสสาวะ ภาวะเลือดออกง่าย จนไปถึงมะเร็งในระบบปัสสาวะซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ที่ปัสสาวะเป็นเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากยิ่งขึ้น

ในกรณีที่ปัสสาวะเป็นเลือดควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนำปัสสาวะไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หากพบเม็ดเลือดแดงมากกว่า 3 ตัวจะเป็นการยืนยันว่ามีภาวะเลือดออกในปัสสาวะจริง จากนั้นจะมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจดูทางเดินปัสสาวะส่วนบน ได้แก่ ไตและท่อไต ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องและระบบปัสสาวะ (CT urography) ร่วมกับการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อตรวจดูเยื่อบุบริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ หากมีมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็จะสามารถตรวจพบก้อนเนื้อในการจากการส่องกล้องดังกล่าว ในกรณีพบก้อนเนื้อบริเวณเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะแพทย์จะทำการเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีลักษณะเป็นมะเร็งหรือไม่

ปัสสาวะปนเลือด

หากพบว่ามีมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา  โดยวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความลึกของมะเร็งว่าลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ โดยถ้ามะเร็งยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ กล่าวคือยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาคือการผ่าตัดผ่านทางกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะเพื่อตัดก้อนมะเร็งของจากเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ (TUR-BT : Transurethral Resection of Bladder tumor) ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวจะทำการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใส่อุปกรณ์ผ่านทางท่อปัสสาวะ ทำให้ไม่มีแผลหลังผ่าตัด และอาศัยการพักรักษาที่โรงพยาบาลค่อนข้างสั้น

หลังผ่าตัดผู้ป่วยยังสามารถปัสสาวะทางท่อปัสสาวะปกติได้ แต่ถ้ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างและลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ การรักษาจะเป็นการผ่าตัดเพื่อเอากระเพาะปัสสาวะและต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงออก ร่วมกับการทำช่องปัสสาวะเทียมทางหน้าท้องแบบถาวร หรือการนำลำไส้มาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะเทียม นอกจากนี้การได้รับการรักษาร่วมได้แก่ การใส่ยาเคมีบำบัดในกระเพาะปัสสาวะ การใส่วัคซีนเชื้อวัณโรคชนิดเชื้อเป็นในกระเพาะปัสสาวะ การให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือด การฉายแสง หรือการให้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ก็มีบทบาทในการลดอัตราการเกิดเป็นโรคซ้ำ และเพิ่มโอกาสการหายของโรคได้

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

สำหรับผู้ที่ยังไม่พบสาเหตุของการมีเลือดปนในปัสสาวะจากการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะมีการนัดตรวจปัสสาวะเพื่อติดตามเป็นระยะ หากพบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น หรือยังมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดเป็น ๆ หาย ๆ อาจจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีการสัมผัสสารเคมีเป็นประจำ เป็นต้น

การพบเลือดในปัสสาวะ อาจเป็นภาวะที่นำไปสู่โรคร้าย เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ฉะนั้นการรีบมาพบแพทย์หากอาการผิดปกติรวมถึงการหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารหรือเนื้อสัตว์แปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งร้าย และมีสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้เพิ่มเติม ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านทางเว็ปไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง

https://allaboutcancer.nci.go.th/ Facebook: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ  Line : NCI รู้สู้มะเร็ง

ข้อมูลจาก นายแพทย์ พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์   ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่