เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นายโรดริโก ดูเตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นำครอบครัว และกลุ่มผู้สนับสนุนของเขา คัดค้านแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่า มาร์กอสติดยาเสพติด ซึ่งดูเตร์เต ได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน ก.พ. และ มี.ค. รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น บุตรชายคนหนึ่งของดูเตร์เต ยังเรียกร้องให้มาร์กอสลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน

แม้การมีนางซารา ดูเตร์เต รองประธานาธิบดี และรมว.ศึกษาธิการฟิลิปปินส์ อยู่ในคณะรัฐมนตรีของมาร์กอส ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร ทว่าในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นางลิซา อาราเนตา-มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ กล่าวหาว่า บุตรสาวของดูเตร์เต “ล้ำเส้น” โดยอ้างถึงการที่เธอปรากฏตัวในการชุมนุมต่อต้านมาร์กอส

“รองประธานาธิบดีควรแสดงมารยาทบางอย่าง ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการของเธอ เป็นอย่างน้อย เพราะครอบครัวของเธอเปิดฉากดูหมิ่นและโจมตีประธานาธิบดีโดยตรง แต่เธอกลับไม่ทำอะไรเลย และเพลิดเพลินกับสิทธิพิเศษจากการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล” สมาชิกสภาคองเกรสฟิลิปปินส์คนหนึ่ง กล่าวในแถลงการณ์

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรี 2 คน ในเขตวิซายัสตะวันตก ต้องการให้ซารา ลาออกเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า การปรากฏตัวของรองประธานาธิบดี ในการชุมนุมวิจารณ์ผู้นำของประเทศ “น่าวิตกกังวล”

อีกด้านหนึ่ง ซารา กล่าวว่า เธอให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มีสิทธิเก็บงำความรู้สึกไม่พอใจ และความโกรธ แต่ความรู้สึกส่วนตัวของคนอื่น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับอำนาจของเธอ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

ซารา ย้ำว่า ฟิลิปปินส์เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาวะเงินเฟ้อ, ความอดอยาก, ความยากจน, การขาดแคลนน้ำและพลังงาน, อาชญากรรม, การก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และสงครามยาเสพติด ขณะที่ ดูเตร์เต บิดาของเธอ ก็กล่าวเตือนว่า มาร์กอสกำลังหันเหไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้ง

ด้านมาร์กอสยืนกรานว่า เขาไม่คิดว่าดูเตร์เตเป็นศัตรูทางการเมือง ซึ่งไม่กี่วันต่อมา เขายอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานาธิบดี “มีความซับซ้อน” กระนั้น มาร์กอสก็เพิกเฉยต่อการเรียกร้องให้ซารา ลาออกจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลของฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเลวร้ายกว่าเดิม ก่อนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2568 เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2571

ท่ามกลางการแย่งชิงอิทธิพลระหว่างตระกูลมาร์กอส กับตระกูลดูเตร์เต ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก รู้สึกไม่พอใจที่กลุ่มการเมืองเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับการได้รับอำนาจมากขึ้น แทนที่ทุ่มเทให้การทำงาน เพื่อจัดการกับความกังวลเร่งด่วนของประชาชนทั่วไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES