โดยฝ่ายเชียร์มองว่าหากคุณสมบัติผ่านคว้าชัยประมูลจะเป็นโอกาสเสริมสภาพคล่องให้บริษัทได้พัฒนาต่อไป เนื่องจากมีผลงานเป็นที่ยอมรับ  ส่วนอีกฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างทางด่วนสายนี้หรือไม่??

คณะกรรมการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการฯ  ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กำลังเร่งตรวจสอบคุณสมบัติ และผลงานของ 4 บริษัทที่ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลโครงการ  ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON

โดยเฉพาะการตรวจสอบในส่วนของผลงานที่เอกชนนำเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่ว่าจ้างเอกชนยืนยันผลงานการก่อสร้างต่างๆ หากตรวจสอบในทุกประเด็นแล้วเสร็จและผ่านคุณสมบัติจะพิจารณาให้ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะและเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. พิจารณาและประกาศผลประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.2567 แต่ยังไม่เรียกเอกชนมาลงนามสัญญาก่อสร้าง  เนื่องจากกทพ.รอให้ร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดินโครงการฯประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายก่อน

กระทรวงคมนาคมได้เสนอร่าง พ.ร.ฎ.ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว หากเห็นชอบจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้และดำเนินการควบคู่กัน โดยในส่วนของการประกาศผลผู้ชนะประมูลอาจจะแล้วเสร็จก่อนเล็กน้อย เมื่อร่าง พ.ร.ฎ.ใช้บังคับเป็นกฎหมาย  จะเร่งเวนคืนลอตแรกจำนวนมากพอประมาณ 30-40% ของพื้นที่เวนคืนทั้งหมด 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง  ให้เริ่มทำงานก่อสร้างได้

โครงการฯมีมูลค่าการลงทุนรวม 24,060.04 ล้านบาท ขอรับการอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 3,726 ล้านบาทจากรัฐบาลส่วนค่าก่อสร้าง ค่าควบคุมงาน และงานระบบ รวมประมาณ 20,334 ล้านบาท  จะใช้เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,960 ล้านบาท จะใช้เงินกู้

กทพ. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 1 ปี2568(ม.ค.-มี.ค.) ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จและเปิดบริการปลายปี 2570  ค่าผ่านทางคิดตามระยะทางรถ 4 ล้อ อัตรา 25-45 บาท รถ 6-10 ล้อ  55-85 บาท และมากกว่า 10 ล้อ  80-130 บาทคาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดบริการ อยู่ที่ 3.2 หมื่นคันต่อวัน

ทางด่วนสายใหม่เป็นทางด่วนยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร(ไป-กลับ) จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก(ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ เลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันอออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี(ระหว่างคลอง9และคลอง10) 

มีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่  ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ  ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1 ตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับหทัยราษฎร์  ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2ตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา รองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ

ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา  เป็นโครงการระยะ(เฟสแรก)ของทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 105 กม. มูลค่าลงทุนทั้งโครงการ 80,594.31 ล้านบาท  มีแผนเชื่อมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 ฝั่งตะวันออกต่อไป  สำหรับเฟสสองช่วงลำลูกกาถนนองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว  ถึงถนนรังสิต-นครนายก ระยะทาง20 กม., เฟสสาม ช่วงถนนรังสิต-นครนายก ถึงถนนสุวรรณศร ระยะทาง20 กม.และเฟส 4 ถนนสุวรรณศรถึงถนนมิตรภาพ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 40 กม.

จะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางจากภาคกลางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือตีโจทย์แตกช่วยแก้ไขวิกฤติรถติดบนทางหลวงหมายเลข305(ถนนรังสิต-นครนายก)  แต่จะก่อสร้างได้ครบสมบูรณ์ตลอดสายหรือไม่ต้องติดตาม.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่