ในรายละเอียดนั้น ทาง นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า โรคข้อตะโพกหลุดแต่กำเนิด อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่อาการจะแสดงชัดขึ้นเมื่อเด็กเข้าวัยที่สามารถเดินได้
โดยสาเหตุของโรคข้อตะโพกหลุดแต่กำเนิดยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน อัตราเฉลี่ยการพบโรคประมาณ 1 ต่อ 1,000 คน ของเด็กทารกแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติ “คลอดท่าก้น” แต่มักวินิจฉัยได้ล่าช้า เนื่องจากข้อตะโพกเป็นข้อที่อยู่ลึกถูกห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อหลายชั้น จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ถ้าตะโพกหลุดข้างเดียวอาจสังเกตเห็นว่าขาไม่เท่ากัน แต่ถ้าตะโพกหลุด 2 ข้าง จะสังเกตยากกว่า
ดังนั้นพ่อแม่ควรสังเกตความเท่ากันของขา และถ้าลูกเข้าสู่วัยเดินได้แล้วแต่ท่าเดินผิดปกติ การเดินกะเผลกตัวส่าย หรือนั่งขัดสมาธิไม่ได้ กางขาได้ไม่สุด ก้นยื่นหลังแอ่น แต่อย่างไรก็ตามถ้าตะโพกเคลื่อนแต่ยังไม่หลุด อาการจะดูปกติ อย่างไรก็ตาม กรณีเด็กคนคลอดท่าก้น ควรปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญตั้งแต่หลังคลอดทุกคน
สำหรับ การรักษาในช่วงวัยทารกซึ่งตะโพกยังเป็นกระดูกอ่อนเนื้อเยื่อยังนิ่ม การเอาหัวตะโพก เข้าที่มักทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ต้องใส่อุปกรณ์กางขาตลอดเวลา ประมาณ 2 เดือน แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดึงตะโพกเข้าได้ การผ่าตัดเพื่อเอาตะโพกที่หลุด และดามขาในท่ากางขาประมาณ 2 เดือน อาจแก้ไขได้
ส่วนเด็กตะโพกเคลื่อนหลุด และเข้าสู่วัยที่เดินได้แล้ว โอกาสในการใส่อุปกรณ์กางขาอย่างเดียวโดยไม่ผ่าตัดเป็นเรื่องยากขึ้นและยังรบกวนพัฒนาการการเดินของเด็กเพราะเด็กอาจต้องใส่ที่กางขานานหลายเดือน การผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ขวางในเบ้าออกจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จโดยใส่ที่กางขาต่อเพียง 2-3 เดือนหลังผ่าได้
ในรายที่กระดูกตะโพกมีความผิดรูปมาก เบ้าตะโพกแบนมากอาจต้องเพิ่ม การตกแต่งกระดูกเบ้าตะโพกและหรือหัวตะโพกให้มั่นคงขึ้นก่อนใส่อุปกรณ์กางขา ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแก้ไขตะโพกหลุดคือ การหลุดเคลื่อนซ้ำ ซึ่งป้องกันได้โดยแพทย์ที่มีประสบการณ์เพียงพอ ซึ่งในกรณีเด็กมีภาวะตะโพกหลุดซับซ้อนที่มีกล้ามเนื้อรอบตะโพกอ่อนแรงหรือหดเกร็ง แพทย์จะสามารถแนะนำความเสี่ยงก่อนผ่าตัดได้
การผ่าตัดแก้ตะโพกเคลื่อนหลุดแต่เกิดที่ไม่ซับซ้อนให้ผลสำเร็จสูงกว่า 95% ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5-6 ปี การผ่าตัดที่อายุมากกว่านี้มีความเสี่ยงว่าจะไม่สำเร็จได้มากขึ้น ผ่าเข้าที่แล้ว มีโอกาสหลุดซ้ำ ยิ่งถ้าเข้าวัยรุ่นแล้ว ความพยายามผ่าเอาตะโพกเข้าที่อาจทำให้เจ็บได้ เนื่อง จากหัวตะโพกแข็งผิดรูปมากแล้วเมื่อเสียดสีกับเบ้าโอกาสเกิดกระดูกอ่อนสึกจนเจ็บปวดอาจเกิดขึ้น รวมทั้งเนื้อเยื่อรอบตะโพกที่แข็งเสียความยืดหยุ่นจนไม่สามารถให้ความมั่นคงต่อตะโพกได้
ดังนั้นทางที่ดีควรรู้และรักษาเร็วก่อนเข้าวัยประถม ผู้ปกครองเตรียมตัวและทำใจให้พร้อม กับวิธีการรักษา ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดจะเกิด 1-2 วันแรก หลังผ่า ซึ่งแพทย์วิสัญญีจะใช้ยาควบคุมความปวดไม่ให้เกิดขึ้นมาก การดูแลหลังผ่าจะมีมาตรการตามขั้นตอนเพื่อป้องกันผลข้างเคียง การติดเชื้อและภาวะแทรก ซ้อนอื่น ๆ หลังผ่า ความลำบากในการอยู่ในเฝือกกางขากว่า 2 เดือน เป็นสิ่งที่ต้อง
เตรียมใจ เมื่อเอาเฝือกออก แล้วตะโพกยึด เป็นเรื่องปกติที่จะค่อย ๆ หายเองใน 3 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับอายุที่ผ่าตัด ยิ่งอายุมากยิ่งใช้เวลานาน
อภิวรรณ เสาเวียง