คณะผู้สังเกตการณ์การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ต่อเกาหลีเหนือ สิ้นสุดวาระการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 หลังรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) วีโต้หรือคัดค้าน การเพิ่มวาระทำงานให้กับคณะผู้เชี่ยวชาญ

คณะทำงานดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 ตามมติของยูเอ็นเอสซี ที่ให้จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเปียงยาง ให้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซี ซึ่งต้องการกดดัน ให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนาอาวุธและโครงการด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ คณะทำงานเผยแพ่รายงาน “ฉบับส่งท้าย” ว่าเกาหลีเหนือละเมิดมาตรการคว่ำบาตร 112 ครั้ง ภายในรอบระยะเวลา 12 เดือนล่าสุด ในจำนวนนี้รวมถึงการทำธุรกิจมืด โดยพลเมืองเกาหลีเหนือคนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า นายนัม ชอล-อุง

นายนัม ชอล-อุง

รายงานระบุว่า นายนัม ชอล-อุง มีอายุ 55 ปี เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานสอดแนมส่วนกลาง หรือ อาร์จีบี ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักด้านข่าวกรองของเกาหลีเหนือ โดยมีตำแหน่งสำคัญเป็นถึงหัวหน้าสาขาของเจ้าหน้าที่อาร์จีบี ในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดระยะเวลานานหลายทศวรรษ

แม้เกาหลีเหนือมีหน่วยข่าวกรองหลายแห่ง แต่อาร์จีบีมีความสำคัญอย่างมาก ในฐานะเป็น “กลจักรสำคัญ” เพื่อรักษาฐานอำนาจให้กับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน และตระกูลคิม อาร์จีบีเกี่ยวข้องกับธุรกิจมืดและการทำธรรมลับมากมาย อีกทั้ง “มีหลักฐานเชื่อมโยง” ว่าหน่วยข่าวกรองแห่งนี้มีส่วนพัวพัน กับการลอบสังหารนายคิม จอง-นัม พี่ชายต่างมารดาของนายคิม จอง-อึน ที่มาเลเซีย เมื่อปี 2560

ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนในรายงานฉบับสุดท้ายของคณะผู้สังเกตการณ์ ให้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของอาร์จีบีในต่างประเทศ ภายในการบริหารจัดการของนายนัม ชอล-อุง ซึ่งชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดมติ 2270 ของยูเอ็นเอสซี ซึ่งมีการรับรอง เมื่อเดือนมี.ค. 2559 โดยสถานที่ซึ่งนายนัม ชอล-อุง เดินทางเข้าไปทำธุรกิจที่เป็นการฝ่าฝืนมติของยูเอ็นเอสซีนั้น เกิดขึ้นในประเทศหลายแห่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย

รายงานของคณะผู้สังเกตการณ์ระบุว่า เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซี และการตรวจสอบของหน่วยงานอีกหลายแห่งให้ได้มากที่สุด นายนัม ชอล-อุง ใช้วิธีการเปิดบริษัทเงา โดยกิจการส่วนใหญ่มีสำนักงานอยู่ในไทยและลาว จดทะเบียนโดยใช้ชื่อของบุคคลที่สาม ที่เป็นพลเมืองของประเทศแห่งนั้น เนื่องจากมติคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซีระบุชัดเจน ไม่อนุญาตให้พลเมืองเกาหลีเหนือทำงานในต่างประเทศ เพราะมีความวิตกกังวลว่า รายได้เหล่านั้นจะต้องถูกส่งกลับไปให้กับรัฐบาลเปียงยาง หมายความว่า ผลประโยชน์จะไม่มีทางตกถึงมือของประชาชน

กองทัพเกาหลีเหนือฝึกซ้อมทางยุทธวิธี การใช้ระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567

นายนัม นัม ชอล-อุง ใช้เอกสารปลอมเพื่อทำข้อตกลงการค้ากับหลายฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อลักลอบนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบสำคัญหลายอย่างกลับสู่เกาหลีเหนือ โดยเฉพาะเชื้อเพลิง และวัตถุดิบสำคัญสำหรับโครงการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ และยังมีสินค้าฟุ่มเฟือยอีกหลายชนิด เพื่อปรนเปรอให้กับการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของตระกูลคิม และชนชั้นผู้ปกครองในเกาหลีเหนือ สวนทางกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ยังคงอยู่อาศัยกันอย่างยากลำบาก

รายงานระบุด้วยว่า นายนัม ชอล-อุง ลักลอบนำเข้าน้ำมันหล่อลื่น ผ่านบริษัทแห่งหนึ่งจากไทย ไปยังบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนพ.ค. 2566

กองทัพเกาหลีเหนือสวนสนาม และแสดงแสนยานุภาพ ที่จัตุรัสคิม อิล-ซุง ในกรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี การสงบศึกในสงครามเกาหลี

แม้การทำธุรกิจมืดทั้งหมดของนายนัม ชอล-อุง แน่นอนว่าผิดกฎหมายทั้งระดับประเทศ และระหว่างประเทศ อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงว่าจะถูกจับกุมเมื่อใดก็ได้ ทว่าเจ้าตัว “ยินดี” ที่จะทำส่งเหล่านั้น เนื่องจากรางวัลหรือสิ่งตอบแทนจากตระกูลคิม คือการมอบความร่ำรวยให้แก่นายนัม ชอล-อุง และครอบครัว ตลอดจนญาติพี่น้อง ในระดับที่ “ครอบครัวชนชั้นสูง” ครอบครัวอื่นในเกาหลีเหนือ แทบไม่เคยได้รับมาก่อน

ส่วนที่น่าจับตาคือบุตรชายของครอบครัว รายงานระบุว่า มีประวัติเคยฝึกงานอยู่ที่หน่วยงานแห่งหนึ่งของยูเอ็น และตอนนี้กำลังพยายามอย่างหนัก เพื่อให้ได้เข้าเป็นพนักงานประจำขององค์กรแห่งนั้น

ไม่ว่ามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องบุตรชายของนายนัม ชอล-อุง มีมากน้อยเพียงไหน แต่กรณีดังกล่าวถือว่า “ย้อนแย้งอย่างมาก” หากสหประชาชาติซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แสดงจุดยืนชัดเจน ว่าต้องการกดดันเกาหลีเหนือให้ได้มากที่สุด กลับรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายของรัฐบาลเปียงยาง ให้เข้าทำงาน ต่อให้บุตรชายของนายนัม ชอล-อุง เป็นผู้มีความรู้และความสามารถ แต่เป็นคำถามที่ยูเอ็นควรชี้แจงว่า “เหมาะสมหรือไม่”

ด้านภรรยาของนายนัม ชอล-อุง ปัจจุบันอาศัยอยู่ในจีน และมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของครอบครัว กระนั้น รัฐบาลปักกิ่งยังคงปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้

วิถีชีวิตของชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งจับกลุ่มนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ร้านแห่งหนึ่ง ในกรุงเปียงยาง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ระบุว่า นายนัม ชอล-อุง ก่อตั้ง “บริษัทเปล่า” หลายแห่ง ที่เมืองต้าเหลียนในจีน เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมการค้าผิดกฎหมาย อาทิ การใช้บริษัทเหล่านี้เป็นสถานที่พักสินค้า ที่นำเข้ามาจากประเทศที่สาม ก่อนลำเลียงต่อไปยังเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากรายได้ของการซื้อขายสินค้าเหล่านี้ จะเน้นใช้เพื่อโครงการพัฒนาอาวุธของประเทศเป็นหลักแล้ว รัฐบาลเปียงยางยังใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว ขับเคลื่อนกิจกรรมของแฮกเกอร์หลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ “ลาซารัส”

อนึ่ง รายงานของคณะผู้สังเกตการณ์ไม่ได้เจาะจงไปที่ นายนัม ชอล-อุง เพียงคนเดียว แต่ยังระบุชัดเจน ว่า เกาหลีเหนือส่งเจ้าหน้าที่อาร์จีบีแทรกซึมเข้าไปในหลายประเทศบนโลก เพื่อเคลื่อนไหวใต้ดินลักษณะเดียวกับนายนัม ชอล-อุง คณะผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้ประชาคมโลกเพิ่มความตระหนัก การตื่นตัว และยกระดับการตรวจสอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ โดยคณะผู้สังเกตการณ์เสนอให้มีการคว่ำบาตรนายนัม ชอล-อุง และกลุ่มลาซารัส

นายนัม ชอล-อุง เดินทางออกจากประเทศไทยไปนานระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ของยูเอ็นเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของนายนัม ชอล-อุง ในหลายประเทศ ซึ่งล้วนละเมิดกฎหมาย รายงานชิ้นนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษา และเป็นสัญญาณเตือนที่จริงจัง ไปยังผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศแล้วว่า จะอนุญาตให้นายนัม ชอล-อุง เดินทางเข้ามาหรือไม่ และประชาคมระหว่างประเทศจะดำเนินการกับบุคคลผู้นี้อย่างไร.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP