“การที่เกษตรกรได้เห็นของจริง ได้สัมผัสด้วยตัวเองจริง ๆ จากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจโลกทางด้านการเกษตร ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้รับข้อมูลดี ๆ นำกลับไป แต่ยังช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ เกิดแรงบันดาลใจ และทำให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นด้วย” เป็นการระบุจาก ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ระบุถึง “หัวใจสำคัญ” ในการพา “เกษตรกรหัวขบวนของไทย” ทัศนศึกษาดูงานด้านเกษตรที่ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ได้เกาะขบวนติดตามคณะนี้ไปด้วย และวันนี้ก็นำเรื่องราวที่พบเห็นมาบอกเล่า พร้อม ๆ กับถ่ายทอด “มุมมองเกษตรกรหัวขบวน” ของไทย…

ทิวลิป ที่ Keukenhof Garden

จากอากาศร้อนแทบปรอทแตกของเมืองไทย แต่พลันที่เท้าแตะถึงพื้น สนามบินสคิปโฮล กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชาวคณะทุกคนก็หยิบแจ็คเก็ตมาใส่กันแทบไม่ทัน เพราะขณะนั้นเพิ่งเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูหนาวและกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของที่นี่ อากาศจึงยังคงหนาวเย็นอยู่ หลังผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว แม้หลายคนจะดูอิดโรยนิดหน่อยจากการเดินทางยาวกว่า 14 ชั่วโมง แต่ก็ตื่นตัวกับการเปิดมุมมองใหม่ ๆ กันเต็มที่ โดยเราเริ่มต้นนับหนึ่งกันทันที ซึ่งมีจุดหมายแรกคือ หมู่บ้านซานส์สคันส์ ที่เมืองซาน-ดานส์ หมู่บ้านอนุรักษ์กังหันลมสไตล์ดัตช์ โดยที่นี่มีทั้งที่พักอาศัย พิพิธภัณฑ์ และศูนย์หัตถกรรมต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมคนดัตช์ โดยที่นี่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนสร้างรายได้ให้ชาวบ้านแต่ละปีเป็นเงินมหาศาล ซึ่งหลังใช้เวลาพอสมควร เราก็เดินทางต่อสู่ใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เพื่อไปเดินเล่นที่ ถนนดัมรัก (Damrak Avenue) กับย่าน จัตุรัสดัม (Dam Square) ที่เป็นแลนด์มาร์คของเมืองกันต่อ ซึ่งถนนสายนี้มีร้านค้ามากมายที่มีตั้งแต่แบรนด์ท้องถิ่นจนถึงแบรนด์อินเตอร์ จากนั้นเราจึงกลับที่พักซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินสคิปโฮล ถือเป็นอันสิ้นสุดวันแรก

วันต่อมาคณะเราเดินทางกันแต่เช้าตรู่ โดยมี 2 ไฮไลท์สำคัญ ที่แรกคือ World Horti Center (WHC) ที่เมืองนาลด์วิจ์ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรร่วมกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ โดยที่นี่ถูกกล่าวขานว่าเป็น ศูนย์กลางความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรของโลก โดยมีทั้งห้องปฏิบัติการ ห้องสาธิต ห้องนิทรรศการ พื้นที่เวิร์กช็อป รวมถึงมีโรงเรือนกระจกครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร หรือเทียบได้กับสนามฟุตบอลเกือบ 2 สนาม ซึ่งจะใหญ่ที่สุดในโลกหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ แต่ถามว่าใหญ่ไหม ก็คงต้องใช้คำว่ามหึมาได้เลยแล้วกะน โดยโรงเรือนทั้งหมดถูกใช้ปลูกผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมถึงใช้เป็นที่ศึกษาวิจัยด้วย โดยจะควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งระบบทุกอย่าง ซึ่งถึงแม้จะมีพื้นที่มหาศาลต้องดูแล แต่กลับใช้แรงงานไม่เยอะเลย เพราะทุกอย่างถูกวางแผนไว้หมดแล้วก่อนจะลงมือเพาะปลูก และด้วยความน่าทึ่งนี้ ทำให้ เกษตรกรหัวขบวน จดบันทึกกับซักถามข้อมูลแบบละเอียดจากผู้บริหารที่นี่ เพื่อจะนำกลับมาถ่ายทอดให้เพื่อน ๆ เกษตรกรไทยปรับใช้ หรือแม้แต่ใช้เป็นไอเดีย และจากจุดนี้เราก็ไปกันที่จุดหมายซึ่งหลายคนรอคอย นั่นคือ สวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof Garden) ที่เมืองลิสเซ่ ซึ่งช่วงที่เราไปเป็นเทศกาลดอกไม้ของที่นี่ ที่มีการจัดแสดงสีสันของดอกไม้ที่อลังการมาก โดยหลังจากใช้เวลาหลายชั่วโมงที่นี่ เราก็เดินทางกลับที่พัก เป็นอันปิดทริปแบบสวยงามในวันนี้

Bloemenmarkt ปากคลองตลาดเนเธอร์แลนด์

วันถัดมา จุดหมายเรายังเป็นไฮไลท์ของทริป นั่นคือการเยี่ยมชม Flora Holland Aalsmeer เมืองอัลส์เมียร์ ซึ่งเป็น ตลาดประมูลซื้อขายดอกไม้ที่ใหญ่สุดในโลก และอาจเก่าแก่ที่สุดในโลกด้วยซ้ำ เพราะมีอายุนับตั้งแต่วันก่อตั้งถึงวันนี้ปาเข้าไป 112 ปีแล้ว โดยที่นี่เป็นศูนย์กลางซื้อขายดอกไม้จากทั่วโลก ภายใต้ขนาดพื้นที่กว่า 4.5 ล้านตารางเมตร ซึ่งแต่ละวันจะมีการซื้อขายดอกไม้กันคิดเป็นมูลค่าหลายล้านยูโร โดยดอกไม้ที่ซื้อขายที่นี่คิดเป็นกว่า 45% ของตลาดโลก และด้วยความที่มีดอกไม้มหาศาลอัดแน่นในพื้นที่รวมกัน กลิ่นดอกไม้จึงหอมฟุ้งไปทั่ว จนบางคนเปรียบที่นี่เป็นมหาสมุทรดอกไม้กันเลยทีเดียว

หมู่บ้าน Giethoorn เวนิสเนเธอร์แลนด์

ขณะที่วันสุดท้ายของทริปนี้ เราได้เดินทางแต่เช้าไปยัง หมู่บ้านกีธูร์น (Giethoorn) ซึ่งห่างจากอัมสเตอร์ดัม 120 กิโลเมตร โดยที่นี่ได้ฉายาว่าเป็น “เวนิสเนเธอร์แลนด์” เพราะไม่มีถนนเข้าถึง แต่ใช้เรือเป็นพาหนะหลัก อีกทั้งหมู่บ้านนี้ยังโดดเด่นเรื่องท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะนอกจากจะดูแลสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์แล้ว ยังเน้นใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษอีกด้วย และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ที่นี่ยังส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้อัปเลเวลตัวเองเป็นผู้ประกอบการ จึงส่งผลให้คนรุ่นใหม่ของชุมชนไม่ทิ้งถิ่นฐาน ซึ่งเรื่องนี้ในไทยก็มีชุมชนหลายแห่งทำสำเร็จเช่นกัน และจากจุดนี้เราได้เดินทางกลับเมือง เพื่อไปเยี่ยมชมอีกจุดหนึ่ง นั่นก็คือ Bloemenmarkt ตลาดขายดอกไม้ริมคลองกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตด้วย ซึ่งรูปแบบตลาดดอกไม้แห่งนี้ ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นจะเรียกว่าเป็น “ปากคลองตลาดอัมสเตอร์ดัม” ก็คงไม่ผิด เพราะคล้าย ๆ กัน ซึ่งหลังสิ้นสุดการเยี่ยมชมที่จุดนี้ ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมศึกษาดูงานที่เนเธอร์แลนด์แบบสวย ๆ

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนแดนกังหันลมครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตร” ที่ทาง ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พากลุ่ม เกษตรกรหัวขบวนของไทย ศึกษาดูงานเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนเรียนรู้วิธีคิด การบริหารจัดการ ของเกษตรกรเนเธอร์แลนด์ ช่วงวันที่ 27 เม.ย. ถึงวันที่ 2 พ.ค. 2567 เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ และเพื่อให้นำข้อมูลกลับมาใช้พัฒนากลุ่มของตนเอง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญของการเยือนแดนกังหันลมครั้งนี้ อนึ่ง นอกจาก “ทีมวิถีชีวิต” จะมีโอกาสเกาะขบวน “เกษตรกรหัวขบวน” ร่วมดูงานแล้ว เรายังได้รับฟัง “เสียงความประทับใจ” ส่วนหนึ่งจากเกษตรกรไทยที่ได้ร่วมดูงานครั้งนี้ด้วย…

กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์

เริ่มจาก กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เกษตรกรหัวขบวน ไร่แสงสกุลรุ่ง จ.กาญจนบุรี ผู้ประกอบการไข่ผำแปรรูป ที่บอกว่า ต้องขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่ให้โอกาสดี ๆ ครั้งนี้ ซึ่งพอได้มา และได้มาเห็นของจริง ก็ต้องยอมรับว่า ระบบเกษตรสไตล์ดัตช์นั้นแข็งแกร่งมาก ๆ ตั้งแต่วิธีคิด การบริหารจัดการ จนถึงรากฐาน ทำให้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแข็งแรงมาก และสิ่งที่ยอมรับว่าที่นี่เก่งอีกอย่างก็คือทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนความเป็นแบรนด์ดิ้งที่สูงมาก และเป็นสิ่งที่ไทยต้องปรับตัวกับสิ่งที่เรายังทำได้ไม่ดี คือเราอาจผลิตเก่ง แต่ขายไม่เก่งเท่าเขา ส่วนอีกเรื่องคือเขาเล่าเรื่องเก่ง ทำให้ของเดิม ๆ ดูน่าสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะนำไปถอดรหัสและนำไปปรับใช้แน่นอน

สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์

ด้าน สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์ เกษตรกรหัวขบวนจาก อ.นาแห้ว จ.เลย เจ้าของแบรนด์กาแฟลองเลย บอกว่า เธอดีใจมากที่รู้ว่า ธ.ก.ส. เลือกให้มาทริปนี้ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าชีวิตของเธอจะได้มาไกลถึงยุโรป โดยก่อนมาเธอศึกษาข้อมูลและมีคำถามมากมาย ซึ่งสิ่งที่สนใจคือพลังงานสะอาดและการจัดการน้ำของคนเนเธอร์แลนด์ จนเมื่อได้มาก็พบคำตอบว่า ที่เขาประสบความสำเร็จเพราะให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการที่ดีทุกมิติ โดยเธอบอกว่าจะนำความรู้กับประสบการณ์ล้ำค่าครั้งนี้กลับไปใช้กับชุมชน และเธอตั้งใจที่จะพัฒนาให้ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้ทั้งคนและโลก เหมือนชื่อกาแฟลองเลย ที่คำว่าลองภาษาอังกฤษแปลว่ายั่งยืน และเลยก็คือจังหวัดที่เธออยู่

ยงยุทธ เลารุจิราลัย

ส่วนเกษตรกรหัวขบวนจาก จ.ชลบุรี อย่าง ยงยุทธ เลารุจิราลัย เจ้าของสวนเดอะ ฟิกเนเจอร์ การ์เด้น ผู้ผลิตและจำหน่ายมะเดื่อฝรั่ง บอกว่า แต่ละจุดที่ได้ดูงานนั้นน่าสนใจ มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน และส่วนตัวแล้วสิ่งที่เด่น ๆ ที่เห็นของที่นี่คือ เนเธอร์แลนด์มีจุดเด่นเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการกับระบบการทำงานเป็นทีม ทำให้ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีความเข้มแข็งมาก จนอยากให้โมเดลนี้เกิดที่ไทยบ้าง ซึ่งก็จะนำแนวคิดกับไอเดียที่ได้ครั้งนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองมากที่สุด เช่น ระบบโรงเรือน หรืออย่างน้อยก็นำไปถ่ายทอดให้พี่น้องเกษตรกรในกลุ่มของตนเองได้รับรู้ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ

ทัพพ์ธนพนธ์ สภาพันธ์

ในขณะที่ ทัพพ์ธนพนธ์ สภาพันธ์ จากพี เจ ริช อินเตอร์ กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายผักผลไม้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ก็สะท้อนสิ่งที่ได้รับจากการดูงานครั้งนี้ว่า สิ่งแรกที่โดดเด่นและเห็นได้ชัด คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสู้ภัยธรรมชาติ เช่น การพัฒนาโรงเรือนขึ้นมาแก้ปัญหา ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล กับอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เกษตรกรที่นี่จะมองภาพรวมเป็นหลัก ทำให้ร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าสนใจ เพราะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งคงเป็นสิ่งที่จะนำกลับไปถอดบทเรียนว่าจะปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง …นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก เกษตรกรหัวขบวน รายนี้

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากเรื่องราว จากเสียงบอกเล่าของ “เกษตรกรหัวขบวน” ถึงสิ่งที่ได้รับจากการศึกษาดูงานที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ “โครงการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตร” ของ “ธ.ก.ส.” ที่มีเป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรไทยได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ด้วยการได้ดู-ได้สัมผัส “โมเดลเกษตรสไตล์ดัตช์” โมเดลของดินแดนที่เป็น…“มหาอำนาจโลกด้านการเกษตร”.

คณะ ธ.ก.ส. นำโดย ฉัตรชัย ศิริไล กับกลุ่มเกษตรกรหัวขบวนจากไทย

‘ธ.ก.ส.’ หนุน ‘สร้างแรงบันดาลใจ’

“ส่วนตัวมองว่าจำเป็นที่เกษตรกรของเราควรจะได้เห็นและเรียนรู้จากของจริง จึงเป็นเป้าหมายในการที่เราพามาที่นี่ครั้งนี้” เป็นการระบุจาก ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ถึงวัตถุประสงค์ในการนำคณะศึกษาดูงานครั้งนี้ ก่อนจะย้ำว่า ถ้าจะไปให้ถึงระดับโลก ก็จำเป็นที่เกษตรกรต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องปรับมายด์เซ็ทใหม่ โดยตอนนี้ ธ.ก.ส. เน้นคำว่า value added มากกว่าการแปรรูป ดังนั้นการพามาที่นี่ก็เพราะอยากให้เกษตรกรไทยได้เห็นตัวอย่างของเนเธอร์แลนด์ ที่วันนี้เขาไม่ได้ขายดอกไม้แล้ว แต่ขายแบรนด์ดิ้ง อีกทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มผลผลิตก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่เนเธอร์แลนด์ใช้ จนทำให้สินค้าเขากลายเป็นของพรีเมี่ยมระดับโลก ซึ่งส่วนตัวแล้วอยากให้เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรบ้านเราเช่นกัน

ขณะที่ พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เสริมว่า การนำเกษตรกรหัวขบวนดูงานที่เนเธอร์แลนด์นี้ เพราะอยากที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร จึงพามาให้เห็นระบบและกระบวนการทุกขั้นตอนของที่นี่ ซึ่งเชื่อว่าความรู้ที่ได้รับจะเป็นประโยชน์และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทยได้… “ธ.ก.ส. มองว่าการที่เกษตรได้เห็นสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดไอเดีย หรือช่วยให้รู้สึกมั่นใจว่า การพัฒนาคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรไทยก็ทำได้ ถ้ามีวิธีคิดมีการจัดการที่ดี”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน