ซึ่งอย่างที่ได้เขียนไปในครั้งก่อนๆ ว่า เมื่อเทียบกับพัฒนาการของเวทีผู้หญิงแล้ว เวทีผู้ชายถือว่า“ยังตั้งไข่” เนื่องจากภาพที่ใครๆ เห็น คือเป้าหมายที่ชัดเจนของเวทีผู้หญิง ในการสร้างพลังใจ เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง สะบัดทิ้งภาพของการเป็นวัตถุทางเพศ ..หรือบางเวที ก็มีบุคลิกที่ชัดเจนในเรื่องของการทำธุรกิจ แต่ในการทำธุรกิจนั้นต้องสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ด้วย

ขณะที่เวทีผู้ชายที่ยังตั้งไข่ เพราะบุคลิกของแต่ละเวทีคือการปั้นคนไปเป็นนายแบบ หรือดารา หรือเป็นการที่ผู้มาประกวดต้องการใช้พื้นที่แสดงตัวว่า“มีของ” จะเป็นด้านสรีระความงามก็ได้ เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจ เช่น รับโฆษณาผ่านโซเชี่ยลมีเดียของตัวเอง หรือรับเป็นเคสรีวิวให้สินค้า บริการความงามบางตัว .. ซึ่งมันก็เป็น “ความสุขในช่วงหนึ่งของชีวิต” ที่เราจะไปตัดสินใครไม่ได้ว่า คนๆ นี้หิวแสงหรืออะไร ในโลกยุคนี้ใครๆ ก็ล้วนอยากมีตัวตน  

ปัจจุบัน บางเวทีประกวดทั้งชายและหญิง เริ่มสร้างตัวตนโดยมุ่งเน้นสาระด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( Sustainability Development Goals  : SDGs ) มากขึ้น ท่ามกลางกระแสที่ว่า “เราจะต้องส่งต่อโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเรา”  บางเวทีจึงมีส่วนร่วมโดยการ “ขายไอเดีย” ( pitching ) เพื่อการรณรงค์บางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราอาจเจออะไรที่เป็นแรงบันดาลจจากเวทีนั้นได้ … การพัฒนาภาพลักษณ์ตรงนี้ ทำให้ผู้เข้าประกวดมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกับ “ผู้ชายหลายสีสัน”ที่คิดว่า “เวทีคือพื้นที่ในการสื่อสารสิ่งที่เขาต้องการทำ” คือ “ศุภอัฑฒ์ สัตยเทวา หรือ ดร.อาร์ต” ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรามักจะพบ ดร.อาร์ตในอิริยาบถสบายๆ ภายใต้อิริยาบถนั้น เขาเป็นคนที่มีพลังล้นเหลือ เป็นทั้งอาจารย์พิเศษสอนในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพ , สอนเรื่องความยั่งยืน เมื่อสลัดภาพนักวิชาการ เขาคือชายหนุ่มที่เป็นบาริสต้าระดับเคยประกวดได้รับรางวัล และเปิดร้านกาแฟเองชื่อร้านเซนิน สอนเล่นหมากล้อมหรือโกะ การ์ดยูกิ เป็นช่างภาพฝีมือดี และอีกด้านหนึ่ง ในวันว่าง เขาจะไปใช้พื้นที่พิเศษในซาวน่าแห่งหนึ่ง เพื่อรับปรึกษาปัญหาทางใจของกลุ่มเกย์ ซึ่งหลายคนพร้อมจะพูดในพื้นที่นั้นเพราะรู้สึกว่า เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการตัดสินจากกลุ่ม cisgender ( เพศสภาพตรงเพศกำเนิด )   

“ผมเป็นคนมีความสนใจหลายอย่าง” ดร. อาร์ตเล่าถึงตัวเองง่ายๆ “ทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงมันเยอะ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่ผมว่าจำเป็นนะ ที่จะต้องเข้าใจ ตามมันให้ทัน อย่างเรื่อง SDGs นี่ มันก็มีหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางด้านสังคม ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็มี กระทั่งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็มีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 5 คือ บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทสตรีและเด็กหญิงทุกคน ซึ่งประโยคแรก ความเสมอภาคระหว่างเพศ ก็คือความเสมอภาคของกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย”

“สาเหตุที่ชอบประกวด ก็เพราะผมมีความสนใจในเรื่องของการสื่อสารแก่นของแต่ละเวที ที่เขาพูดถึงการใช้เวทีเพื่อสังคม” ดร.อาร์ตเล่า ก่อนหน้านี้เขาเคยประกวด Mr Gay World Thailand ได้รองอันดับ 4 และได้สมัครเข้าประกวด Mr Global Thailand 2024 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเวที “แกรนด์สแลม” ของเวทีผู้ชาย

“บางคนอาจว่า เวทีประกวดเป็นเวทีโชว์ตัวฉาบฉวย แต่หลายๆ เวทีก็พยายามยกระดับ สร้างตัวแทนในการพูดปัญหา หรือมีการสร้าง brand ambassador ที่ดูดึงดูดในการรณรงค์ อย่างเวที Mr Gay World นี่เขาก็เน้นเรื่องการทำแคมเปญเพื่อพัฒนาชีวิต และเชิดชูความสามารถของกลุ่ม LGBT+  ขณะที่เวที Mr Global Thailand นี่ก็กำลังปรับภาพลักษณ์ที่จะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างนะครับ อย่างน้ำทะเลร้อนจัดมันจะทำให้หญ้าทะเลตาย แล้วสัตว์ทะเลบางพันธุ์ก็ไม่มีอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพในเขตร้อนหมดไป ตอนผมทำกิจกรรมกับเวที Mr Global Thailand ก็ได้ลงพื้นที่เกาะเต่า ดูปะการังฟอกขาว แล้วก็ได้รับฟังผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาพูดถึงปัญหา สิ่งที่เราควรทำ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นก้าวแรกๆ ของเวทีที่จะฉีกออกจากความเป็นเวทีเพื่อความงามเท่านั้น และไม่แน่ว่า การเก็บตัว การประกวดจะมีลักษณะเหมือน soft power สื่อสารปัญหาแบบเนียนๆ ในรูปแบบความบันเทิง ”

“ขณะที่เวที Mr Gay World Thailand วิธีมันต่างออกไปเลย คือ เขาจะมาเรื่องสิทธิมนุษยชนล้วนๆ การแก้ไขปัญหาที่ LGBT+ ต้องประสบ ซึ่งบางทีมันก็เป็นปัญหาเก่าๆ แต่ก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมคิดว่า มันดีไหมถ้าแต่ละเวทีจะเป็น ‘แนวหน้า’ส่วนหนึ่งในการพูดถึงปัญหา ไปจนถึงมีโอกาสออกแบบแคมเปญแก้ปัญหา ปั้นนักอนุรักษ์เพื่อคนรุ่นใหม่ อย่างการประกวด Mr Gay World Thailand นี่ มันหลากหลายตั้งแต่ช่วงอายุ 50 กว่าปียังประกวดได้ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV คนพิการ ก็ประกวดได้ถ้าเขามีแคมเปญรณรงค์ทางสังคมที่เขาสนใจ อาจเป็นสิ่งที่เขาเคยประสบปัญหา และหวังว่าจะกรุยทางให้คนรุ่นต่อๆ ไปมีวิธีจัดการปัญหาที่ดีขึ้น ลำบากน้อยกว่าตอนที่เขาประสบ หรือไม่ต้องพบปัญหาอีก”

เราถามถึงสิ่งที่ ดร.อาร์ตสนใจ เขาหัวเราะพลางบอกว่า ไม่ทราบจะพูดอะไรเลยครับเพราะมันหลายอย่างมาก แต่เมื่อให้เลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาเลือกเรื่องการสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathy communication ที่กำลังเป็นกระแสสำคัญในโลกยุคที่หลายต่อหลายคนมีความทุกข์หลายอย่างในชีวิตจนเป็นซึมเศร้า โดยเฉพาะคนในเมือง   

“ผมขอเรียก Empathy communication ว่า การสื่อสารด้วยความเข้าใจครับ” ดร.อาร์ตบอก  “คือการแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เน้นในเรื่องของความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งกันและกัน การเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การสื่อสารด้วยความเข้าใจนั้น มักจะถูกใช้ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตเบื้องต้น และการให้คำปรึกษา ไปจนถึงงานบริการต่างๆ”

“ปัจจุบันผู้คนบนเรากำลังประสบปัญหาของภาวะสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยมีหลายอย่าง ทั้งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจนเกิดภัยธรรมชาติก็ทำให้คนเป็นทุกข์นะครับ อย่างเกษตรกร เจอหน้าร้อนแดดปีนี้เครียดมาก แดดแรงจนลงกล้าไม้แทบไม่ได้ ขณะที่รายจ่ายก็ยังมี และภาวะสงคราม ที่เป็นตัวแปรให้ราคาพลังงานแพง หรือเกิดความตึงเครียดด้านอื่น รอบๆ ตัวเรามีปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น คนที่อยากพูดหลายคน เขาอยากหา ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่พวกเขาจะสามารถบรรเทาภาวะดังกล่าวได้ เพราะ Empathy สามารถส่งเสริมความเข้าใจ และความเคารพในความหลากหลายในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติ  ฐานะ ศาสนา เพศวิถี ตลอดจนความเชื่อต่างๆ  คือการไม่ตัดสิน แต่เราเหมือนกับต้องลองเอาตัวเองเข้าไปแทนที่เขา ฟังให้มากที่สุด เพื่อการสามารถเยียวยาสภาวะความตึงเครียดภายในจิตใจ ที่สามารถนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด”

ดร.อาร์ตมี “พื้นที่ปลอดภัย”ในการสื่อสาร อาจเป็นที่ร้านเซนินของเขา หรือซาวน่าที่เขาขอจัดพื้นที่ทำโครงการ “ผมอยากให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้ฟังที่ดี ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่นมากขึ้น สิ่งที่ผมตั้งใจจะทำคือโครงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี (Empathic listener) โดยจุดประสงค์ของโครงการก็คือสร้างคนที่มีทักษะการฟังอย่างเข้าใจ ช่วยแบ่งเบา ให้คำแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาพ้นทุกข์  ซึ่งประโยชน์ตรงนี้ก็คือสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของจิตแพทย์ได้ระดับหนึ่ง ในภาวะจิตแพทย์ไทยขาดแคลน  เปรียบเสมือนได้กับการปฐมพยาบาลก่อนนำตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาเยียวยาต่อไป”

“ความเข้าใจหรือ Empathy มีบทบาทสำคัญในส่งเสริมเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักๆ สามด้าน ก็คือด้านแรก ด้านสุขภาวะ Good Health and Well-being  ซึ่งการมีความเข้าใจ หรือความเห็นอกเห็นใจ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต  รวมไปถึงมีเป้าหมายของการลดความเหลื่อมล้ำ (Inequality) เมื่อความเข้าใจเข้ามามีบทบาท เราจะมองเห็นความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ของสังคมมากขึ้น และกระตุ้นทำให้เกิด การรณรงค์ การพูดคุย หรือการกระทำที่นำไปสู่การลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเหล่านั้น”

“เช่นเดียวกับเป้าหมายในด้านของการจัดการปัญหาด้านภูมิอากาศ  Climate action เพราะการนึกถึงผู้อื่น นึกถึงอนาคต ก็รวมไปถึงกลุ่มประชากรชุดใหม่ในวันข้างหน้า  จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมได้มากยิ่งดังขึ้น ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่า ความเข้าใจ หรือ Empathy เป็นพื้นฐานการคิดที่มีประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้เราตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจในความแตกต่างของสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และนำมาซึ่งการกระทำ หรือ action ที่จะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการในการพัฒนาที่ยั่งยืน”

สิ่งที่ ดร.อาร์ตย้ำเสมอคือ ในการสื่อสารเชิง empathy ต้องการการใช้พื้นที่ปลอดภัย เขาอธิบายว่า “มันมีความสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ปลอดภัยเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผู้ที่เข้ามารู้สึกได้รับกำลังใจ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีอันตราย ไม่มีการตัดสิน สามารถลดความวิตกกังวลและความเครียดที่เกิดขึ้นได้ พื้นที่ปลอดภัยเป็นได้ทั้งพื้นที่พบหน้าค่าตากันที่ใดที่หนึ่ง สำหรับคนที่เขามีความไว้ใจเรา หรือเป็นพื้นที่ปลอดภัยออนไลน์แบบอำพรางตัวตนได้ระดับหนึ่ง การสื่อสารที่พบหน้าค่าตาจะทำให้ประเมินถึงอาการที่เขาแสดงได้ด้วยว่า เขาคล้อยตามหรือต่อต้าน แต่เราก็ไม่ตัดสินคนที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เพียงแค่เราจริงใจต่อการรับฟังประสบการณ์ ปัญหาของเขา และเป้าหมายสูงสุดคือ การที่เราสามารถเอาปัญหาเขามาวิเคราะห์จนสามารถเยียวยาใจผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้ หรือทำให้เขามีวิธีคิดที่พร้อมจะเผชิญปัญหาอย่างเข้มแข็ง”

ย้อนกลับไปตรงที่ ดร.อาร์ตบอกว่าชอบประกวด ส่วนหนึ่งเขาบอกว่า มันเป็นพื้นที่ให้เขารู้จัก และเข้าใจคนเพิ่มขึ้น เหมือนเป็นการเปิดสังคมใหม่ที่บางครั้งเป็นการปะทะสังสรรค์ทางความคิดระหว่างกัน เห็นมุมมองที่เราอาจคาดไม่ถึง เมื่อถามว่า การประกวดความงาม มีส่วนให้การสื่อสาร empathy เรามีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไร คำตอบของเขาคือ “จากประสบการณ์ผมนะ การประกวดให้พื้นที่สำหรับผู้เข้าประกวดในการแสดงความคิดเห็น  สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญ อย่างที่ผมบอกแต่ต้นว่า หลายเวทีพยายามยกระดับเรื่องเป้าหมายของเวทีมากขึ้น  และสุดท้าย เวทีได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาต่างๆ”

“ผู้เข้าประกวดมักใช้เวทีประกวดในการพูดถึงปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาสังคมที่พวกเขาใส่ใจ ตั้งแต่ในหมู่ผู้เข้าประกวดด้วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ถ้าเป็นปัญหาส่วนตัว พวกเขาสามารถสร้างความตระหนักรู้ความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชมและกรรมการได้โดยแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวหรือบอกเล่าประเด็นสำคัญในสังคม ณ ขณะนั้น เช่น การรับรู้ภาวะปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบัน สิทธิ ความเท่าเทียม ไปจนถึงเรื่องต่างๆ นานาหลายเรื่อง กระทั่งเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม การตอบคำถามความงามบางเวทีถูกนำมาวิเคราะห์หลังประกวดเสร็จ ซึ่งพัฒนาการก้าวต่อๆ ไปอาจเป็นการที่เรื่องเหล่านี้ได้รับการยกระดับพัฒนาเป็นนโยบายก็ได้ เราไม่ได้มีพื้นที่ในภาครัฐ แต่เราใช้ภาคการประกวด ที่ออกจะเป็นความบันเทิงส่วนหนึ่ง เป็น soft power ในการสื่อสารปัญหาได้ แล้วคนจะค่อยๆ ตระหนักเห็นความสำคัญโดยไม่รู้สึกโดนยัดเยียด”

“นอกจากนี้ การประกวดหลายเวที สนับสนุนให้ผู้เข้าประกวดมีส่วนร่วมในการบริการชุมชนและกิจกรรมการกุศล การมีส่วนร่วมนี้สามารถช่วยให้ผู้เข้าประกวดเข้าใจถึงปัญหาที่ผู้อื่นเผชิญได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการสื่อสารด้วยความเข้าใจให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการได้รับโอกาสในการพูดต่อสาธารณชนและสื่อ หลังจากการประกวด ผู้ชนะและผู้เข้าประกวดมักมีโอกาสพูดในงานต่างๆหรือในการสัมภาษณ์สื่อ แพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถใช้ในการสื่อสารและแพร่กระจายข้อความของความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจได้เพิ่มเติม”

ดร.อาร์ต สรุปใจความเรื่องเวทีกับสังคมว่า “ในมุมมองผม  เวทีการประกวดสามารถช่วยพัฒนา และสร้างสรรค์สังคมได้หลากหลายแง่มุม หลายเวทีเริ่มให้ความสนใจวาระทางสังคมมากขึ้น นางงามบางคนก็ใช้พื้นที่พูดเรื่องที่ตัวเองอยากทำ และต่อมา เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ เช่น ถ้าคลาสสิคหน่อยก็พี่ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ที่ทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชนอยู่เรื่อยๆ เป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนมอบความรักให้เยาวชน ในสายตาผมพี่ปุ๋ยเป็นผู้ยกระดับการประกวดนะ ว่า การเป็นผู้ชนะเวทีใดเวทีหนึ่ง คือโอกาสที่คุณจะได้แสง แต่คุณจะใช้แสงนั้นอย่างไร ระหว่างเพื่อตัวเองและเพื่อสังคม หากคุณมีความต้องการณรงค์อะไรบางอย่าง มันก็ช่วยให้สิ่งที่คุณต้องการเรียกร้องได้รับการสื่อสารออกไปมากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์จนได้แนวคิดรอบด้านมาพัฒนาแผนที่สามารถพูดได้ครบ ทั้งที่มาและความสำคัญของปัญหา วิธีแก้ปัญหา กลุ่มเป้าหมาย ผลที่คาดว่าจะได้รับ  นำไปสู่การเป็นนักรณรงค์ได้”

ยิ่งถ้าเป็นเวทีใหญ่ ผมมองโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้มาก ทั้งภาครัฐ หรือภาคเอ็นจีโอระหว่างประเทศ  และสามารถช่วยให้นักรณรงค์มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในประเด็นที่ตัวเขาต้องการเรียกร้องมากขึ้นเช่นกัน ผมผ่านมาสองเวที ก็พบการพัฒนาการที่เขาต้องการสร้างคน เพื่อบรรลุภารกิจในการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเข้าใจนะครับว่าแต่ละเวทีนี่คือเป้าหมายหรือจุดขายต่างกัน เราไม่ตัดสินว่า เวทีอื่นเป็นเวทีไร้สาระ การได้รวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันบางทีมันก็ได้ประโยชน์ตั้งหลายอย่าง หรือเกิดแรงบันดาลใจอะไรก็ได้

“ผมเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในที่ทางไหน ถ้าเราคิดถึงผู้อื่น มองสภาพแวดล้อมรอบตัวแล้วเห็นว่า เออ เราทำบางอย่างให้มันดีขึ้นได้ และมีพื้นที่ให้ได้รณรงค์ มันเป็นเรื่องดีครับ สังคมจะได้ก้าวไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.ดร.อาร์ตทิ้งท้าย.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่