สวัสดีจ้า เมื่อเร็วๆนี้ ทีมงาน “ขาสั้น คอซอง” ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเปิดตัว ชุมชนคุณธรรมฯ วัดท่าขนุน เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ.2566 ที่ลานวัฒนธรรมสร้างสุข ตลาดริมแควเมืองท่าขนุน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เดินไปเดินมาไปเจอบูธหนึ่งโดดเด่นด้วยสีสันสวยงามสะดุดตาของแผ่นสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม ลักษณะคล้ายใยแมงมุมที่พันไว้ด้วยเส้นไหมพรมหลากสี ชวนให้ผู้พบเห็นแวะชมและสอบถามกันตลอดทั้งงาน
ว่าแล้วก็ดิ่งเข้าไปสอบถามได้ความว่า บูธดังกล่าว คือ การสาธิตทำ “คังด้ง” ของนักเรียนจากโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา จ.กาญจนบุรี โดย “ออมสิน” ขณิศรา เนตรสว่าง นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา เป็นตัวแทนเพื่อนๆ เล่าว่า “คังด้ง” เป็นภาษากะเหรี่ยง หมายถึง ใยแมงมุม มาจากความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง เมื่อเดินทางเข้าป่า หากพบเห็น “คังด้ง” หรือใยแมงมุมระหว่างทางให้ทำการเคารพสักการะ ถือว่าขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้ปลอดภัย ซึ่งที่โรงเรียนมีชุมนุม “คังด้งสร้างสมาธิ” ตั้งขึ้นเมื่อปี 2566 และมีคุณครูสมรส สวรรค์งาม เป็นครูที่ปรึกษาและสอนนักเรียนทำ “คังด้ง” โดยได้รับการสนับสนุนจากพระครูวิลาศกาญจนธรรม เจ้าอาวาสวัดท่าขนุนให้ไปศึกษาดูงานและได้เรียนรู้วิธีทำ “คังด้ง” มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตลาดโอ๊ะป่อย รวมทั้งเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านจากชุมชนในต.ท่าขนุนด้วย ปัจจุบันชุมนุมมีสมาชิกเป็นนักเรียนชั้นม.1 -6 รวมกว่า 50 คน
“ออมสิน” อธิบายถึงวิธีทำ “คังด้ง” ว่า นำเอาไหมพรมมามัดติดกับไม้ไผ่ทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม และสลับสีไหมพรมเพื่อให้เกิดความสวยงามตามต้องการแล้วประดับด้วยลูกปัดสีต่างๆ รวมทั้งนำมาต่อยอดทำเป็นพวงกุญแจรูปต่างๆ เช่น รูปดาว หัวใจ เป็นต้น ชาวบ้านนิยมนำ “คังด้ง” ไปประดับตามสถานที่ต่างๆโดยแขวนไว้บนที่สูง เช่น วัด สถานที่จัดงานบุญ แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร เป็นต้น จึงมีชาวบ้านมาสั่งทำคังด้งกับชุมนุมโดยเฉพาะช่วงที่มีเทศกาลประเพณีงานบุญ ทำให้ชุมนุมมีรายได้นำมาแบ่งปันให้แก่สมาชิกและไว้เป็นทุนซื้ออุปกรณ์
นอกจากการทำ “คังด้ง” จะช่วยสร้างรายได้ให้กับนักเรียนโรงเรียนทองผาภูมิวิทยาแล้ว ชุมนุม “คังด้งสร้างสมาธิ” ยังได้รับรางวัลจากโครงการเด็กทำดีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2566 ระดับพลอย โดยเป็นรางวัลพิเศษด้านการมีส่วนร่วมและเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงพื้นที่จากการจัดทำโครงการมัคคุเทศก์อาสาอนุรักษ์ภูมิปัญญาคังด้ง และได้รับรางวัลเหรียญทองระดับประเทศในงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 71
ต้องบอกว่า ยอดเยี่ยมจริงๆ สำหรับโรงเรียนทองผาภูมินัวิทยาที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการทำ “คังด้ง” มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับนักเรียนอีกด้วย