เมื่อไม่นานมานี้ การจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นสายลับจีนในเยอรมนี และสหราชอาณาจักร ถือเป็นสิ่งเตือนใจล่าสุด เกี่ยวกับเครือข่ายข่าวกรองขนาดใหญ่ของรัฐบาลปักกิ่ง และความสามารถในการเจาะเข้าถึงใจกลางเมืองหลวงหลายแห่งของยุโรป แต่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธมาตลอด

“หน่วยข่าวกรองจีนมีธรรมเนียมอันยาวนาน ในการมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมทรัพย์สินสารสนเทศ, สิทธิบัตร และทรัพยากรทางปัญญาเชิงกลยุทธ์” นายอาแล็กซ็องดร์ ปาปาเอ็มมานูเอล ผู้สันทัดกรณีด้านข่าวกรองในกรุงปารีส กล่าว “แต่ยุโรปเมินเฉยต่อสิ่งเหล่านี้มานาน และเกิดการตระหนักรู้อย่างล่าช้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไร้เดียงสา และความมั่นใจมากเกินไปต่อโลกาภิวัตน์ในรูปแบบยูโทเปีย

เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว “สถาบันมงตาญ” คลังสมองในกรุงปารีส ชี้ว่า สหรัฐใช้เครื่องมือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมีความทะเยอทะยานที่จะนำหน้าประเทศอื่น ๆ หนึ่งก้าว ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ไม่มีการตอบสนองเชิงกลยุทธ์เช่นนี้ และสร้างตัวเองบนหลักการของการค้าเสรี และพหุภาคีนิยม อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวกรองของจีน ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง

อนึ่ง จีนอาศัยเครือข่ายองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อดำเนินกิจกรรมจารกรรม ซึ่งนายพอล ชารอน ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน จากสถาบันเพื่อการวิจัยยุทธศาสตร์ (ไออาร์เอสอีเอ็ม) ของกองทัพฝรั่งเศส ในกรุงปารีส ประมาณการว่า หน่วยข่าวกรองของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีน มีเจ้าหน้าที่ระหว่าง 80,000 – 100,000 คน ส่วนแหล่งข่าวบางแห่งระบุว่า กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีน มีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองมากถึง 200,000 คน

เมื่อปีที่แล้ว ศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ซึ่งเป็นคลังสมองในกรุงวอชิงตัน เพิ่มกองทัพจีน, กระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีน, กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐจีน, กระทรวงการต่างประเทศจีน, กระทรวงอุตสาหกรรมจีน และองค์กรต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ลงในรายชื่อองค์กรชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านอิทธิพล และการแทรกแซง

ขณะที่ ชารอน กล่าวเสริมว่า ผู้คนมักคิดว่า จีนเป็นประเทศที่มีระบบราชการประสิทธิภาพสูง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่จีนอยากให้เชื่อว่าเป็นแบบนั้น แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของจีนมักดำเนินการโดยไม่ได้ตระเตรียมมาก่อน อีกทั้งแนวปฏิบัติของพวกเขา ยังคงคลุมเครือ “และเป็นสัญลักษณ์”

ทั้งนี้ทั้งนั้น การขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับจีน ของชาติตะวันตก และวิกฤติต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สงครามในยูเครน และในฉนวนกาซา รวมถึงการก่อการร้าย ส่งผลให้ยุโรป ซึ่งขาดทรัพยากรในการเผชิญกับศัตรูที่มีอำนาจ อ่อนแอกว่าเดิม

แม้หน่วยงานความมั่นคงของยุโรป จัดตั้งปฏิบัติการต่อต้านการจารกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ แต่พวกเขายังคงทราบข้อมูลน้อยมาก เกี่ยวกับหน่วยงานของจีน ทั้งองค์กร, ความสามารถ และวิธีดำเนินการของอีกฝ่าย ซึ่งการตรวจสอบทางดิจิทัล ถือเป็นแหล่งความรู้ที่ควรนำมาใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อชดเชยข้อบกพร่องเหล่านี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES