ในสัญญาที่ 1  ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ และ สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า  เมื่อวันที่  26 เม.ย.  2567  โดยมีรมว. คมนาคม  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานในพิธีเปิดเดินหัวเจาะในพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ (Cut & Cover) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ  โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล( บมจ.ช.การช่าง (CK)และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)

บรรยากาศคึกคักสมสถานะโครงการยักษ์มูลค่าก่อสร้างกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท  มีผู้เกี่ยวข้องร่วมงาน อาทิ นายสราวุธ ทรงศิวิไล  อธิบดีกรมทางหลวง  ในฐานะประธานบอร์ดรฟม.   นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง และนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการรฟม.

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ แยกก่อสร้างเป็น  6 สัญญา  เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565  วันนี้มีผลงานโยธาในภาพรวมกว่า 31 %ใช้หัวเจาะอุโมงค์รวม 7 หัว เป็นหัวเจาะงานสัญญาที่ 1 และ 2 รวม 3 หัว สัญญาที่ 3 (ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ) 2 หัว และสัญญาที่ 4 (ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง)  2 หัว 

กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล  เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะตัวแรกในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก  ลอดผ่านพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ฯ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สิ้นสุดบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย   ระยะทาง 5.89 กม. จะใช้เวลาประมาณ 20 เดือน (เสร็จเดือนธ.ค.2569)  ตามแผนจะเริ่มหัวเจาะตัวที่ 2 เดือนพ.ค. ขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จาก Cut & Cover ไปยังสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กม.ใช้เวลา12 เดือน  และในเดือนต.ค. หัวเจาะตัวที่ 3 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 2.40 กม. ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน

เทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์เป็นแบบสมดุลแรงดันดินมีประสิทธิภาพขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวและทรายมีแรงดันน้ำใต้ดินในชั้นทรายสูง พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก   อุปกรณ์ควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิกส์ลำเลียงวัสดุก่อสร้างรวมทั้งอุปกรณ์ระบายอากาศ   

หัวเจาะมีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 – 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร

สำหรับจุดที่ลึกที่สุดในการขุดอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้คือช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในสัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิ้ลยูอาร์ เอ็มอาร์ที เป็นผู้รับจ้าง  (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด(ITD) และบมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567  เพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์จะเดินเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 2.2 กม. ต้นปี 2568 ใช้เวลาประมาณ 18 เดือนเสร็จปลายปี 2569            

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ไม่ได้ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาสายแรก  แต่อุโมงค์รถไฟฟ้าสีม่วงใต้จะลอดแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความลึกมากที่สุดในประเทศไทย  เชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครที่สถานีสามยอด และสถานีสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี  

อุโมงค์มีความลึกจากผิวดิน(พื้นถนน) ประมาณ 40 เมตร จุดลึกสุดประมาณ 41 เมตร  ลึกกว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาสายแรกสีน้ำเงินส่วนต่อขยายระหว่างสถานีสนามไชยและสถานีอิสรภาพ โดยบมจ.ช.การช่าง ฯที่ขุดลึกจากผิวดินประมาณ 30 เมตร จุดลึกสุด 38 เมตร

หัวเจาะที่อิตาเลียนไทยฯ และเนาวรัตน์ฯ  ใช้เรียกว่า Tunnel Boring Machine: TBM   ชนิดสมดุลแรงดันดินเช่นกัน  สามารถควบคุมแรงดันภายในหัวเจาะให้เท่ากับแรงดันดินด้านหน้าหัวเจาะ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนตัวของดิน และไม่ให้เกิดการทรุดตัว หรือการปูดของดินที่ระดับผิวดิน  วิธีขุดเริ่มจากหัวเจาะ TMB หมุนเข้าไปขุดเจาะดินเข้าห้องกักดิน(Mixing Chamber) ด้านหน้าเครื่อง พร้อมเดินเครื่องไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ดินที่ขุดเจาะแล้วจะถูกลำเลียงผ่านสกรูลำเลียง(Screw Feeder) และสายพานลำเลียงดิน(Conveyer) นำดินไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกอบผนังอุโมงค์ โดยใช้เครื่อง Segment Erector ยกชิ้นส่วนของผนังอุโมงค์ (Segment Lining) ขึ้นประกอบทีละชิ้นจนครบทั้งวง และเครื่อง TBM จะทำซํ้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกใหม่ เพื่อขุดเจาะดิน และประกอบผนังอุโมงค์วงถัดไป พร้อมๆ กับอัดฉีดนํ้าปูนชนิดพิเศษที่แข็งตัวเร็วบริเวณด้านหลังหัวเจาะ (Tail Void Grout) เพื่อลดการเคลื่อนตัวของดินที่อาจเกิดขึ้นได้   การขุดอุโมงค์รถไฟฟ้าที่ลึกที่สุดขุดได้ประมาณวันละ 15 เมตร 

อุโมงค์รถไฟฟ้าสายใหม่มีระบบป้องกันน้ำเข้าด้วยคอนกรีตคุณภาพดีมีค่าทึบน้ำสูง รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนผนังอุโมงค์มียางกันน้ำรั่วซึม กันแรงดันน้ำได้มากกว่า 5 บาร์(50 เมตร) ขณะที่ตัวน็อตรอยชิ้นส่วนอุโมงค์ติดกันมียางกันน้ำ ป้องกันน้ำรั่วบริเวณน็อตร้อยชิ้นส่วน ส่วนผนังรอบนอกอุโมงค์ถูกคลุมด้วยความหนาของชั้นวัสดุทึบน้ำแข็งตัวเร็วประมาณ 10 ซม.รอบอุโมงค์ เพื่อป้องกันน้ำใต้ดิน

พร้อมมาตรการต่างๆด้านความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร  ถูกออกแบบให้มีอายุใช้งาน 120 ปี  รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเทียบเท่าแรงจากความเร่งในแนวราบที่มีความเร่ง 0.06 g ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เคยได้รับแรงสั่นสะเทือนสูงสุด 0.01-0.02 g (g คือค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงโลก)  กรุงเทพฯ ยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหว และตั้งอยู่ห่างรอยเลื่อนที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหว(บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี) กว่า 150 กม.มีปล่องอพยพหนีภัยระหว่างสถานีไม่เกิน 730 เมตรเป็นทางออกฉุกเฉิน  มีระบบระบายควัน พร้อมไฟแสงสว่างฉุกเฉินนำทางให้ออกจากจุดอพยพได้อย่างปลอดภัย

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้มีระยะทาง 23.63  กม. เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีม่วงเหนือที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางจากจ.นนทบุรีเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่จ.สมุทรปราการ เป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กม.(10สถานีใต้ดิน) ยกระดับ 9.34 กม. (7สถานียกระดับ) มีแผนเปิดบริการอีก4 ปีข้างหน้า( 2571)

นอกจากการเดินทางที่รวดเร็วและสะดวกสบายแล้ว  จะสร้างตำนานบทใหม่รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ลึกที่สุดในประเทศไทย

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต